คองโกและอนามัยโลกประกาศชัยชนะเหนือการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งที่ 11


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังคองโกเกิดอีโบลาระบาดครั้งใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด ทางการประกาศชัยชนะเหนือโรคร้ายแล้ว

ย้อนรอย “อีโบลา” ระบาด ซ้ำเติมโควิด-19 และโรคหัดในคองโก

อีโบลาระบาดครั้งใหม่ ในคองโก แอฟริกา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ประกาศชัยชนะเหนือการระบาดของโรคอีโบลาครั้งที่ 11 อย่างเป็นทางการ นับเป็นเวลากว่า 6 เดือน หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ช่วงเดียวกับที่โควิด-19 กำลังระบาด

ดร.แมตชิดิโซ โมเอติ (Matshidiso Moeti) ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ เอเตนี ลองกอนโด (Eteni Longondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคองโก ประกาศว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราทำสำเร็จแล้ว!”

เป็นเวลา 42 วันแล้วที่ผู้ป่วยอีโบลารายสุดท้ายมีผลทดสอบเป็นลบ และไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา

การระบาดครั้งที่ 11 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนในเมือง Equateur ทางตะวันตกของประเทศ ขณะที่ในช่วงเวลานั้น ทางตะวันออกของประเทศกำลังประสบวิกฤตการแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งที่ 10 อยู่ โดยการระบาดครั้งที่ 10 สิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิถุนายน

เมื่อการระบาดของอีโบลาครั้งที่ 11 สิ้นสุดลง พบว่า มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับการยืนยันแล้ว 130 ราย รักษาหาย 75 ราย และเสียชีวิต 55 ราย

การระบาดครั้งที่ 10 และ 11 มีระยะห่างกันทางภูมิศาสตร์ และการวิเคราะห์ลำดับทางพันธุกรรมยืนยันว่าการระบาดในสองพื้นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

WHO เปิดเผยว่า การระบาดของโรคอีโบลาในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ก่อให้เกิดความท้าทายด้านสาธารณสุขและการขนส่งโลจิสติกส์ ทรัพยากรที่มีจำกัดและทำเลการระบาดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกลลึกเข้าไปในป่าดงดิบ ก็ยิ่งทำให้การทำงานยากขึ้นเป็นเท่าตัว

สถานที่บางแห่งที่มีการติดเชื้อในระดับสูงสามารถเข้าถึงได้โดยเรือหรือเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น ซึ่งทำให้การขนส่งและการทดสอบตัวอย่างในห้องปฏิบัติการเป็นไปได้ยาก และการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปยังพื้นที่ก็ล่าช้า

การเดินทางขนส่งที่ยากลำบาก ทำให้ WHO ใช้ตู้แช่เย็นระบบลูฆโซ่ความเย็น (Cold Chain System) แบบใหม่ เพื่อเก็บรักษาวัคซีนอีโบลาไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากเป็นเวลานานถึง 1 สัปดาห์ ทำให้สามารถฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลได้

โมเอติกล่าวว่า “การเอาชนะเชื้อโรคที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่งของโลกในชุมชนที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้เมื่อวิทยาศาสตร์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมารวมกัน ... การจัดการกับอีโบลาควบคู่ไปกับโรคโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความเชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่เราได้ประสบการณ์จากอีกโรคหนึ่งนั้นสามารถนำมาปรับใช้ได้”

อีโบลาปรากฏตัวครั้งแรกในปี 1976 ในซูดานและคองโก ตั้งชื่อตามแม่น้ำสายหนึ่งของคองโก เป็นหนึ่งในโรคที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เกิดการระบาดมาแล้วทั้งสิ้น 11 ครั้ง

อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยทั่วไปจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งจะมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่หากอาการจะรุนแรงขึ้นจะมีเลือดออก ตาเหลืองตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 50%

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ