ที่แรกในโลก สิงคโปร์ประกาศเตรียมวางขาย “เนื้อไก่จากแล็บ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัท Eat Just เปิดประตูบานใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ พัฒนา “เนื้อไก่จริง ๆ ที่ไม่ต้องฆ่าไก่สักตัว” สำเร็จ

สิงคโปร์ทำเนื้อกุ้งจากห้องทดลองสำเร็จ

"หมูจำแลง" ทางเลือกใหม่ของเนื้อหมู

“ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์” ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงปศุสัตว์ และความกังวลเรื่องอาหารหมดโลก จากการที่ทั่วโลกผลิตอาหารได้น้อยลงสวนทางกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดวันนี้ (2 ธ.ค.) มีข่าวดีสำหรับผู้บริโภคในสิงคโปร์ ที่จะได้ลิ้มรส “เนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ” หรือ “Cultured Meat” ในเร็ววันนี้ หลังจากที่บริษัทสตาร์ทอัปเทคโนโลยีอาหาร Eat Just” จาสหรัฐฯ ประกาศว่า เนื้อไก่เพาะเลี้ยงของตนได้รับการอนุมัติและตรวจสอบความปลอดภัยโดยสำนักงานอาหารของสิงคโปร์ (SFA) โดยจะใช้เป็นส่วนผสมในเมนูนักเก็ต “Chicken Bites”

การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องแล็บหรือ Cultured Meat เริ่มจากการนำสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบ (หมู วัว ไก่ ปลาบางชนิด) มาเพาะเลี้ยงในถังหมักหรือถังปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และให้น้ำเลี้ยง (Culture Medium) ที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสเต็มเซลล์

ข้อดีของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง

เนื้อไก่เพาะเลี้ยงนี้ ถือว่าเป็นประตูบานใหม่ในวงการอาหาร อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และปศุสัตว์ เพราะเป็น “เนื้อสัตว์จริง ๆ ที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์สักตัว”

ทั้งนี้ สเต็มเซลล์ที่ใช้ในการเริ่มต้นกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์มาจากธนาคารเซลล์ที่รวบรวมสเต็มเซลล์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไว้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการฆ่าสัตว์ ทำให้เป็นเนื้อที่ปราศจากความโหดร้าย เพราะทุกวันนี้ในแต่ละวันมีปศุสัตว์นับล้านตัวถูกเชือดเพื่อเป็นอาหารให้มนุษย์

นอกจากนี้ Eat Just กล่าวว่า เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในถังปฏิกรณ์ชีวภาพสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากของเสียในสัตว์ ปราศจากยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเร่ง

ปัจจุบัน บริษัทหลายสิบแห่งทั่วโลกกำลังพัฒนา เนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ รวมถึงสร้างมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ จัดหาเนื้อสัตว์ที่สะอาดปราศจากยาและสารเร่ง

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เคยพบว่า การทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่งผลต่อวิกฤตสภาพอากาศ โดยมีการปล่อยคาร์บอนในระดับสูง ใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะช่วยลดปัญหาตรงจุดนี้ได้

จอช เททริก (Josh Tetrick) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Eat Just กล่าวว่า “ผมคิดว่านี่เป็นเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ... ผมหวังว่าความสำเร็จนี้จะนำไปสู่โลกที่เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์หรือทำลายธรรมชาติ”

ความท้าทายของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม เททริกมองว่า ยังมีความท้าทายรออยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นผู้บริโภค ราคา ต้นทุน และกำลังการผลิต

บริษัทกล่าวว่า กำลังการผลิตเนื้อไก่เพาะเลี้ยงที่ยังไม่สูงมาก ทำให้เบื้องต้นจะวางจำหน่ายเนื้อไก่เพาะเลี้ยงในจำนวนที่จำกัด โดยจะมีขายในร้านอาหารเพียงแห่งเดียวในสิงคโปร์ และมีราคาแพงกว่าไก่ทั่วไป แต่หากกำลังการผลิตและฐานผู้บริโภคขยายขนาดขึ้น ในท้ายที่สุดก็จะมีราคาถูกกว่าไก่จากเนื้อปศุสัตว์ดั้งเดิมอย่างแน่นอน

เททริกกล่าวว่า อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญคือปฏิกิริยาและความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง

“ผู้บริโภคอาจสงสัยว่ามันแตกต่างกันไหม? แน่นอนว่ามีทั้งส่วนที่ต่างและไม่ต่าง ความหวังของเราคือการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างโปร่งใสว่านี่คืออะไรและเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป ... เนื้อไก่เพาะเลี้ยงนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกับเนื้อสัตว์ทั่วไป แต่มีความเสี่ยงต่อยาหรือสารเร่งน้อยกว่า” ซีอีโอบอก

เคเอฟซี ประกาศเลิกใช้ยาปฏิชีวนะกับไก่

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังสารเร่งโต ตกค้างในเนื้อสัตว์

เรียบเรียงจาก Channel News Asia / The Guardian

ภาพจาก Getty Image / Just Eat

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ