วัคซีนโควิด-19 กว่า 1 ล้านโดสจากจีนเดินทางถึงอินโดนีเซีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวของการพัฒนาวัคซีนที่สำคัญมาจากทางฝั่งจีนด้วย ซึ่งตอนนี้ก็สำเร็จแล้วเช่นเดียวกัน ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Sinovac จากประเทศจีน ได้ขนส่งวัคซีนมากกว่า 1 ล้านโดสไปถึงประเทศอินโดนีเซียแล้ว

6 วัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศที่ใช้งานจริงแม้ยังวิจัยไม่สมบูรณ์

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

วัคซีนของ Sinovac บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศจีน มาถึงอินโดนีเซียแล้วเมื่อวานนี้ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอินโดนีเซียตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้าง

วัคซีนล็อตแรกมีจำนวน 1,200,000 โดส  ส่วนล็อตที่ 2 มี 1 ล้าน 8 แสนโดส จะมาถึงในเดือนมกราคมปีหน้า วัคซีนล็อตแรกที่อินโดนีเซียได้รับมากกว่าสหราชอาณาจักร ประเทศที่เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อินโดนีเซียทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจาก Sinovac เป็นกรณีพิเศษเอาไว้ ในข้อตกลง จีนจะใช้อินโดนีเซียเป็นฐานผลิตด้วย วัคซีนตัวนี้มีการทดสอบขั้นสุดท้ายในอาสาสมัครที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย  ในขณะที่ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และอ๊อกฟอร์ด ผู้พัฒนาวัคซีนรายใหญ่ออกมาประกาศว่าวัคซีนของตัวเองมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

Sinovac ของจีนที่ยังไม่ประกาศประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างเป็นทางการ แต่ได้ทดสอบในมนุษย์ขั้นสุดท้าย และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้ใช้กับคนบางกลุ่มในประเทศจีนแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว Sinovac ยังได้ทำการทดสอบขั้นสุดท้ายกับอาสาสมัครในประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง อย่าง บราซิล และอาร์เจนตินา โดยก่อนหน้านี้บราซิลได้สั่งระงับการทดสอบไปก่อน หลังพบว่าอาสาสมัครหนึ่งรายเสียชีวิต แม้ว่าการตรวจสอบจะชี้ว่า อาสาสมัครรายนี้ไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีนก็ตาม

เทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนที่บริษัท Sinovac ใช้คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ใช้ไวรัสที่ตายแล้วในการปลูกถ่ายหน่วยความจำของเซลส์ภูมิคุ้มกัน เพื่อทำให้เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนจะเกิดปฏิกริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่วัคซีนป้องกันโปลิโอและโรคหัดใช้ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยขั้นสูงสุด

Sinovac เป็นบริษัทแรกที่มีการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคซาร์สกับมนุษย์ในปี 2004 ซึ่งโรคซาร์สเป็นโรคกลุ่มเดียวกับโควิด-19 ดังนั้น Sinovac เป็นผู้พัฒนาวัคซีนที่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับไวรัสสายพันธุ์นี้

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รุนแรงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 570,000 ราย เสียชีวิตแล้วมากกว่า 17,000 ราย อินโดนีเซียจึงคาดหวังว่าวัคซีนของจีนจะมาช่วยบรรเทาวิกฤตโรคระบาดภายในประเทศได้  นอกจากอินโดนีเซียแล้ว Sinovac เตรียมส่งวัคซีนให้ตุรกี และฟิลิปปินส์

วัคซีนจะกลายเป็นสิ่งที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน แข่งขันกันพัฒนาและส่งให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะในห้วงวิกฤตแบบนี้ ความช่วยเหลือถือเป็น Soft Power ของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งจีนเองเน้นส่งวัคซีนของตัวเองไปยังประเทศต่างๆ โดยตรง มากกว่าผ่านโครงการขององค์การอนามัยโลกอย่าง COVAX

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ