นวัตกรรมอินเดียเจ๋ง เปลี่ยนมลพิษอากาศให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัทแห่งหนึ่งนำผงคาร์บอนซึ่งสกัดจากอากาศเสียของอินเดีย มาทำเป็นกระเบื้องสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคาร

พูดคุยกับนักวิจัยไทยผู้ “เปลี่ยนขนไก่เป็นอาหาร” อนาคตอาหารโลก

“ถนนจากขยะพลาสติก” หนึ่งในหนทางช่วยโลก?

สตาร์ทอัปสิงคโปร์เจ๋ง สร้างถนนจากขยะพลาสติก

อินเดียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก จาก 30 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก มีถึง 21 เมืองที่ตั้งอยู่ในอินเดีย ในแต่ละปี อากาศที่เป็นพิษในอินเดียคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคน

ส่วนหนึ่งเกิดจากอินเดียเป็นผู้ผลิตอิฐรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เตาเผาอิฐ ซึ่งคิดเป็น 20% ของการปล่อยคาร์บอนสีดำทั่วโลก มีส่วนสำคัญอย่างมากต่ออากาศที่เลวร้าย.oxitgmL

เตจัส ซิดนาล (Tejas Sidnal) สถาปนิกอินเดีย พบว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างมีบทบาทในวิกฤตมลพิษ “ในฐานะสถาปนิกเราต้องรับผิดชอบต่อมลพิษทางอากาศ เราทำได้ดีกว่านี้”

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้การก่อสร้างมีความยั่งยืนมากขึ้นและจัดการกับมลพิษทางอากาศของอินเดีย ซิดนาลได้เปิดตัว “Carbon Craft Design” ในปี 2019 โดยใช้ “แบล็กคาร์บอน (Black Carbon)” ที่สกัดจากอากาศเสีย และนำมารีไซเคิลเพื่อทำเป็นกระเบื้องสร้างอาคาร

แบล็กคาร์บอน หรือ ผงฝุ่นเขม่าดำ คือ อนุภาคหรือผงเขม่าที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ต่าง ๆ มีคุณสมบัติสามารถดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 ล้านเท่าเมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศ

ดังนั้น การลดแบล็กคาร์บอนจึงสามารถช่วยชะลอภาวะโลกร้อนและปรับปรุงคุณภาพอากาศได้ ซิลนาลกล่าวว่า “เราพบวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับแบล็กคาร์บอนได้ โดยนำมาทำเป็นเม็ดสีในกระเบื้องคาร์บอน”

ในการสร้างกระเบื้องคาร์บอน Carbon Craft Design ได้ร่วมมือกับ Graviky Labs ซึ่งเป็นบริษัทในอินเดียซึ่งก่อนหน้านี้ได้สร้าง “Air Ink” เทคโนโลยีดักจับเขม่าคาร์บอนจากรถยนต์และโรงงานและแปลงเป็นหมึกและสีวาดเขียน

โดย Graviky Labs ใช้อุปกรณ์กรองเพื่อดักจับเขม่าคาร์บอนจากท่อไอเสียรถยนต์และเครื่องกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิลต่าง ๆ เพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก และฝุ่น ออกจากเขม่า จนได้คาร์บอนบริสุทธิ์ และส่งมอบให้กับ Carbon Craft Design ในรูปแบบผง

อนิรุธ ชาร์มา (Anirudh Sharma) ผู้ก่อตั้ง Graviky Labs กล่าวว่า “เรามองว่ามลพิษเป็นทรัพยากร ... เราเป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ดักจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหล่านี้และเปลี่ยนพวกมันเป็นวัสดุใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้”

Carbon Craft Design ผสมผงคาร์บอนที่สกัดได้เข้ากับปูนซีเมนต์และเศษหินอ่อนเพื่อผลิตกระเบื้อง โดยบริษัทมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ากระเบื้องแต่ละแผ่นมีคาร์บอนสกัดเป็นส่วนผสมอย่างน้อย 70%

ปัจจุบันกระเบื้องจากนวัตกรรมนี้มีราคาสูงถึง 29 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 875 บาท) ต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับกระเบื้องเซรามิกทั่วไป ซิดนาลบอกว่า จะพยายามคิดค้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้กระเบื้องคาร์บอนมีราคาถูกลง “เราต้องการให้คนเข้าถึงกระเบื้องลดมลพิษนี้ได้ในราคาที่ไม่แพง ... ความยั่งยืนไม่ได้มีไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น”

นับตั้งแต่เปิดตัวกระเบื้องคาร์บอนชิ้นแรกเมื่อปีที่แล้ว ลูกค้าของ Carbon Craft Design ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ดังระดับโลกที่มีต้นทุนสูงพอจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ล่าสุดเดือนพฤศจิกายนปี 2020 บริษัทได้ปูผนังและพื้นด้วยกระเบื้องคาร์บอนให้กับร้าน Adidas ในเมืองมุมไบ

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP / Carbon Craft Design

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ