โควิด-19 ทำอดีตคนเลือก "บอลโซนาโร" ตาสว่าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โควิด-19 เปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่าง ตั้งแต่วิถีชีวิตคน จนถึงการเมือง ในหลายประเทศ โควิดทำให้นักการเมืองแพ้เลือกตั้ง ยกตัวอย่างในสหรัฐ หากไม่มีการระบาดของโควิด 19 โอกาสที่ทรัมป์จะชนะเลือกตั้งมีสูงมาก คนจำนวนมากเปลี่ยนใจไม่เลือกเขาเพราะวิธีการการรับมือ อีกประเทศหนึ่งที่เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรืออย่างน้อยก็เกิดขึ้นแล้ว คือ ที่ประเทศบราซิล ประธานาธิบดีบอนซานาโร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับความนิยมโดยเฉพาะจากบรรดากลุ่มชาตินิยม แต่ความล้มเหลวในการรับมือกับโรคระบาดจนทำให้ตอนนี้ยอดติดเชื้อเป็นอัน

หลุมศพบนผืนทราย ชีวิตของผู้คนที่ปธน.บราซิลไม่แยแสในช่วงโควิด-19

เม็กซิโกแซงอังกฤษ ยอดเสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก

เสียงแตร และไฟกระพริบที่บรรดารถราตามท้องถนนระดมกดกันอยู่นี้ มีขึ้นเพื่อส่งสัญญาณไปยังจาร์อีย์ บอนซานาโร ผู้นำบราซิล นี่คือการประท้วงในนครเซาเปาโล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ที่สิบแล้วสำหรับการประท้วงใหญ่ ผู้คนนัดหมายออกมารวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ขับไล่ผู้นำ ในการประท้วงเต็มไปด้วยป้าย “บอลโซนาโรออกไป” หรือ “ถอดถอนได้แล้ว”

จาอีร์ บอลโซนาโร เพิ่งจะดำรงตำแหน่งได้ครึ่งสมัย แต่เป็นครึ่งสมัยที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธที่จะอนุรักษ์ป่าแอมะซอน ก่อนจะตามมาด้วยความละเลยต่อการระบาดของโควิด-19 โดยคล้ายคลึงกับโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ผู้นำคนนี้ไม่เชื่อในโควิด-19 และยังคงรณรงค์ให้ผู้คนออกมารวมตัวข้างนอก ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย จนส่งผลให้บราซิลกลายมาเป็นประเทศอันดับ 3 ของโลกที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงในบราซิลเข้มข้นยิ่งกว่าเคย และเกิดถี่ขึ้นแทบทุกวัน เหตุผลมาจากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน ความล่าช้าในการช่วยเหลือพื้นที่การระบาดที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนออกซิเจน

ผลสำรวจจาก DataFolha ชี้ว่า คะแนนความนิยมของบอลโซนาโร ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าลดลงไปมากในรอบ 1 เดือน และความนิยมที่หายไปยังหมายถึงการเสียศรัทธาในกลุ่มผู้สนับสนุนตัวเขาเองด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์ลงพื้นที่พูดคุยกับบรรดาผู้ประท้วง ในจำนวนนี้บางคนคืออดีตผู้สนับสนุนบอลโซนาโร และบางคนระบุว่า รู้สึกเสียดายคะแนนที่เคยโหวตให้ เมื่อเห็นวิธีที่ผู้นำรับมือกับโควิด-19

ในขณะที่หลายคนก็ไม่พอใจที่ชาวบราซิลต้องดูแลกันเอง จัดหาถังออกซิเจน ตลอดจนทำความสะอาดพื้นที่กันเอง เพราะหากรอรัฐบาลจะล่าช้าเกินไป

ปัจจุบันบราซิลมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 8 ล้าน 8 แสนราย เสียชีวิตแล้วมากกว่า 2 แสนราย ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ

อีกประเทศที่ขณะนี้กำลังเผชิญการประท้วงดุเดือดเช่นกันคือ เนเธอร์แลนด์ ไม่ได้ไล่ผู้นำแต่ผู้คนไม่อยากตกอยู่ใต้มาตรการควบคุมอีกต่อไป โดยเฉพาะมาตรการเคอร์ฟิวส์

การระบาดที่เนเธอร์แลนด์ทำให้มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวส์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพความวุ่นวายนี้เกิดขึ้นในเมืองไอนด์โฮเวน ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ ผู้ประท้วงพากันมารวมตัว และจุดไฟเผาข้าวของในที่สาธารณะ เมื่อตำรวจเข้ามาระงับการชุมนุม พวกเขาก็ระดมขว้างก้อนหินและอิฐเข้าใส่ตำรวจ

คนเหล่านี้ไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศใช้เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลาสามทุ่มถึงตีสี่ครึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อหลายธุรกิจ แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ยังถือว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ เมื่อเทียบกับในกรุงอัมสเตอร์ดัม

ในกรุงอัมสเตอร์ดัมมีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนมารวมตัวกัน โดยส่วนใหญ่ระบุว่า พวกเขาเป็นเจ้าของกิจการอย่างร้านอาหาร ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์ หรือเคอร์ฟิวอีกต่อไป

ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมจำนวนเกือบ 100 คนที่ขว้างปาก้อนฟินและอิฐใส่เจ้าหน้าที่ และได้ฉีดน้ำเข้าสลายการชุมนุม

โดยคำประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้ เป็นเคอร์ฟิวแรกที่ใช้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินราว 3,400 บาท

นั่นหมายความว่า ชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับนี้มาก่อน พวกเขารู้สึกว่าเป็นคำสั่งที่ริดลอนเสรีภาพอย่างมาก ในขณะที่อีกจำนวนมากก็ระบุว่าพวกเขาต้องทำงานในช่วงกลางคืนจึงพากันออกมาประท้วง

อีกประเทศหนึ่งที่กำลังหนักหนาสาหัสจากโควิด-19 และอาจมีปัญหาทางการเมืองต่อเนื่องตามมาคือ เม็กซิโก เนื่องจากขณะนี้ผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์  ติดเชื้อโควิด

ข่าวการติดเชื้อได้รับการยืนยันผ่านทางทวิตเตอร์ของตัวผู้นำเอง ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ระบุว่า ผลตรวจของเขาเป็นบวก แต่อาการไม่หนักมากนัก และขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการรักษา

เขาอายุ 67 ปีแล้ว แต่มีรายงานว่า สุขภาพแข็งแรงดี แม้จะเคยป่วยเนื่องจากโรคหัวใจมาก่อนจนทำให้เขาเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวรในปี 2013

ที่ผ่านมาประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ไม่ชอบสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ คาดกันว่าเขาได้รับเชื้อจาการลงพื้นที่ดูสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในทางตอนเหนือของประเทศ

หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่าการที่เขาติดเชื้อจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายรับมือโควิด-19 ที่ถูกวิจารณ์ว่าล่าช้าและไม่เด็ดขาด เนื่องจากหลายพื้นที่ยังคงไม่ล็อคดาวน์ แม้จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันเม็กซิโกมียอดผู้ป่วยสะสม 1 ล้าน 7 แสนราย เสียชีวิตแล้ว 150,000 ราย แต่ที่น่ากังวลคือผู้ป่วยใหม่รายวัน เพราะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์แล้วที่เม็กซิโกมีผู้ป่วยใหม่รายวันเกินหมื่นราย ล่าสุดเมื่อวานนี้พบเพิ่ม 10,872 ราย ในขณะที่วันเสาร์พบมากถึง 20,000 ราย

อย่างไรก็ตามรายงานระบุว่า แม้จะป่วยด้วยโควิดประธานาธิบดียังคงทำงานผ่านระบบออนไลน์ หนึ่งในนั้นคือการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งรายที่เข้าใกล้ความจริงที่สุดน่าจะเป็นของ Sputnik V จากรัสเซีย โดยเม็กซิโกตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ได้ 7.4 ล้านโดส ภายในเดือนมีนาคมนี้

ต่อกันที่ประเด็นวัคซีน ประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ อิสราเอล เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุด ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ตอนนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้สูงอายุ ยังมีการฉีดให้กลุ่มวัยแรงงานด้วย

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะจะเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากอิสราเอลการฉีดเยอะๆจะทำให้เราได้เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีน ใช้วัคซีนของไฟเซอร์ทั้งหมด มีประสิทธิภาพเกินร้อยละ 90 แต่ในทางปฏิบัติ ตัวเลขประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อใช้ในสนามจริง

ศูนย์ฉีดวัคซีนในนครเยรูซาเลม เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคลาคล่ำไปด้วยนักเรียน เพราะล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่วัยรุ่นอายุ 16 -18 ปี เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับเข้ามานั่งสอบในโรงเรียนได้ โดยมีเงื่อนไขเดียวคือเด็กๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง

ที่ผ่านมาอิสราเอลถือว่าเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนมากที่สุด โดยเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่การแพทย์และผู้สูงวัย ตามมาด้วยผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มล่าสุด

โดยรวมฉีดไปแล้วราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 จากประชากรทั้งหมดที่มี 9 ล้านคน ซึ่งด้วยอัตรานี้ทางรัฐบาลคาดว่าร้านรวงต่างๆ จะกลับมาเปิดได้ตามปกติอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์

นอกจากฉีดวัคซีนเร็วแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่อิสราเอลทำคือการปิดประเทศชั่วคราว สนามบินเบน กูเรียน ในกรุงเทล อาวีฟ เงียบเหงา ปราศจากผู้คน เนื่องจากล่าสุดรัฐบาลอิสราเอลประกาศจำกัดเที่ยวบินนอกประเทศเดินทางเข้าออกนาน 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ขณะนี้กำลังกระจายไปในประเทศ อีกเหตุผลก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจตลอดจนความคืบหน้าในแผนฉีดวัคซีนของรัฐบาล มาตรการปิดประเทศเริ่มขึ้นเมื่อเที่ยงคืนของวันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่น และจะใช้ไปจนถึงเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้

โดยมีข้อยกเว้นให้แค่เที่ยวบินขนส่งสินค้า เที่ยวบินที่เข้าประเทศมาเพื่อธุระทางการแพทย์หรืองานศพเท่านั้น

ปิดท้ายที่ความพยายามในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 นอกจากการปิดประเทศและฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่มนุษย์ทำได้? ที่สาธารณรัฐเช็ก มีโครงการน่าสนใจกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง นั่นคือการฝึกให้สุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19

ที่ผ่านมาเราเคยเห็นแค่สุนัขดมหายาเสพติด หรือตามกลิ่นคนร้าย แต่นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาขาใหม่ของอนาคต ในวันที่โลกเต็มไปด้วยโรคระบาดใหม่ๆ

ทีมวิจัยในสาธารณรัฐเช็กกำลังฝึกให้สุนัขจดจำกลิ่นของผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้เศษผ้าที่ผู้ป่วยเคยสวมใส่

โดยทีมวิจัยระบุว่า เมื่อคนๆ หนึ่งติดเชื้อไวรัส การเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์จะส่งผลให้กลิ่นของร่างกายเปลี่ยนไปด้วย และหากสุนัขถูกฝึกจนจดจำได้ ก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือที่ดีในการระบุตัวผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองป่วย

ขณะนี้โครงการกำลังอยู่ระหว่างการวิจัย แต่ทางทีมงานระบุว่าได้ผลแม่นยำแล้วร้อยละ 95 จึงเป็นที่คาดหวังกันว่าสุนัขเหล่านี้อาจลงสนามในเร็วๆ นี้ โดยอาจเป็นสนามบิน สถานที่เสี่ยงที่มีผู้คนจากต่างประเทศเดินทางเข้ามา

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ