ส่องวัคซีนโควิด-19 รอบบ้านอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




14 ก.พ. วันวาเลนไทน์ คือวันที่วัคซีนโควิด-19 เข็มแรกจะสามารถฉีดให้กับคนไทยได้ ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข แจงไทมไลน์การนำเข้าวัคซีนและกลุ่มที่จะได้รับกลุ่มแรกไปเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่สำหรับเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย โดยเฉพาะในอาเซียน การฉีดและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มที่ เมียนมา สถานการณ์ในเมียนมาที่ผ่านมานับว่าวิกฤต ผู้ติดเชื้อสะสม 1.38 แสนคน เสียชีวิต 3,082 ราย แต่วานนี้ (27 ม.ค.) เมียนมาฉีดวัคซีนเข็มแรกให้บุคลากรทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว โดยเมียนมารับวัคซีน โควิชิลด์ (Covishield) มาจากอินเดีย ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 22 ม.ค.64 จำนวน 1.5 ล้านโดส

ไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก 14 ก.พ.นี้ ลงทะเบียนแอปฯ “หมอพร้อม” ติดตามผล

'อนุทิน' อัปเดต สธ.จัดสรรลงตัว "วัคซีนโควิด" ช่วงแรกฉีด 19,014,154 คน แบ่ง 4 กลุ่มได้ฉีดก่อน

จัดพิธีต้อนรับโดยเอกอัครราชทูตอินเดียประจำเมียนมาเป็นตัวแทนรัฐบาลอินเดียเป็นผู้มอบและมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา รับมอบ

“ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะการระบาดของโควิด ขณะที่เราฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของเรา เราก็ต้องแบ่งปันให้กับประเทศพันธมิตรที่สำคัญของเราด้วย”  เอกอัครราชทูตอินเดียประจำเมียนมา กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ แถลงว่า วัคซีนโควิด-19 ชุดแรกจากอินเดีย 1.5 ล้านโดส นั้นสำหรับ 7.5 แสนคน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่รัฐบาล รองลงมาเป็นสมาชิกสภาสหภาพฯ รวมถึงตัวเธอด้วย

สำหรับวัคซีนจากอินเดียที่เมียนมาสั่งซื้อทั้งหมด 30 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะคลอบคลุม 40% ของประชากรทั้งประเทศที่จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนั้น เมียนมายังสั่งซื้อจาก จีนและอังกฤษเพิ่มเติมด้วย

ต่อมาคือประเทศ สปป.ลาว  

ได้รับวัคซีนจาก SINOPHARM  ของจีน จำนวน 2,000 โดส ซึ่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำด่านสากล และพนักงานที่ต้องดูแลคนป่วยประจำศูนย์กักตัว ตั้งแต่ปลายปี 2563  จำนวน 298 คน ในนี้ มีคนฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 173 คน ใช้วัคซีน 423 โดส ซึ่งได้รับผลดี และยังไม่มีผลข้างเคียงใดๆ 

ล่าสุดวานนี้ (27 ม.ค.) ฉีดกลุ่มเสี่ยงมีภูมิคุ้มกัน ที่โรงหมอมิดตะพาบ 150 เตียง และโรงหมอมะโหสด นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 600 กว่าคน จากโรงหมอใกล้เคียงเข้าร่วมรับการฉีดวัคซีนด้วย ตลอดจน นักการเมืองกลุ่มแรกที่ได้ฉีดคือ ท่านสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะเฉพาะกิจเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการระบาดของโควิด-19 และ รศ.ดร.บุนกอง สีหาวง รัฐมนตรีสาธารณสุข

โดยแผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของ สปป.ลาว จะประกอบด้วย 3 แหล่ง คือ 1.SINOPHARM จากจีน 2.SPUTNIK V จากรัสเซีย และ 3.วัคซีนที่ได้จาก COVAX FACILITY GAVI

ขณะที่วัคซีน SPUTNIK V รัฐบาลรัสเซียให้การช่วยเหลือลาว ส่งวัคซีนป้องกันโควิด SPUTNIK V จำนวน 1,000 โดส จะเดินทางมาถึงลาว วันที่ 21 ม.ค.2564 โดยมีเป้าหมาย 2 ล้านโดส

ส่วนวัคซีนช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากทาง COVAX ได้แจ้งว่า รัฐบาลลาวเป็น 1 ใน 92 ประเทศ และจะได้รับวัคซีน ภายในเดือน เม.ย.2564 โดย COVAX จะมอบให้ 15-20% ของประชากรทั้งหมด หรือ 1.4 ล้านคน

ต่อมาเป็น เวียดนาม กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ออกมาระบุว่า  เวียดนามสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 30 ล้านโดส เพื่อประชากร 15 ล้านคน (ฉีดคนละ 2 เข็ม) และยังเจรจากับรายอื่นๆ ทั้ง จีน รัสเซีย สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะจัดซื้อผ่านโครงการโคแวกซ์ ฟาซิลิตี (Covax Facility) ซึ่งเป็นโครงการขององค์การอนามัยโลกร่วมกับพันธมิตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

นอกจากนั้น เวียดนามยังทดลองฉีดวัคซีนที่ผลิตขึ้นเอง “นาโน โคแวกซ์”  โดยบริษัท นาโนเจน ฟาร์มาซูติคอล ไบโอเทคโนโลยี เจเอสซี (Nanogen Pharmaceutical Biotechnology JSC) ซึ่งทดลองกับอาสาสมัครไปเมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2563 และคาดว่าจะฉีดให้กับสาธารณชนช่วงเดือน พ.ค.2564 หากได้ผลลัพธ์ที่ดี

ส่วน ฟิลิปปินส์ ล่าสุด (28 ม.ค.)  สำนักงานอาหารและยาของฟิลิปปินส์ เห็นชอบการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากพบว่า วัคซีนดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดได้ ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ผ่านความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์  บรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทโนวาแวกซ์ หนึ่งในผู้ผลิตด้านชีวเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐ ในการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของโนวาแวกซ์ จำนวน 30 ล้านโดส  โดยคาดว่าจะได้รับสินค้าทั้งหมดภายในไตรมาสที่สามของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ฟิลิปินส์มีแผนการนำเข้าวัคซีนจากบริษัทหลายแห่ง รวม  148 ล้านโดสภายในปีนี้  ให้เพียงพอสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรราว 70% จากทั้งหมดประมาณ 110 ล้านคน

มาเลเซีย นายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่า สำนักงานควบคุมกฎระเบียบยาแห่งชาติ (NPRA) ได้อนุมัติการจดทะเบียนวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงระบุว่า ไฟเซอร์จะส่งมอบวัคซีนให้ล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส ในไตรมาสแรกของปี 2564 จากนั้นในไตรมาสที่สองอีก 1.7 ล้านโดส ไตรมาสที่สามอีก 5.8 ล้านโดส และไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 อีก 4.3 ล้านโดส

ขณะเดียวกันก็สั่งซื้อจากจีน คือ ซิโนแวค จำนวน 14 ล้านโดส โดยบริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีนจับมือกับฟาร์มาเนียกา (Pharmaniaga) ของมาเลเซีย โดยจะเพียงพอสำหรับประชากร 7 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมาเลเซียมีแผนจัดหาวัคซีนให้กับประชากรมากกว่า 80% ของทั้งประเทศ

ส่วน สิงคโปร์ ประเดิมเข็มแรกด้วย ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ของไฟเซอร์ – ไบโอเอ็นเทค ก่อนเริ่มฉีดให้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ตั้งแต่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา และสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่สิงคโปร์อนุมัติให้ใช้ มีเพียงวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคเท่านั้น ยังได้จัดซื้อวัคซีนที่เพียงพอสำหรับชาวสิงคโปร์ทั้ง 5.7 ล้านคนแล้ว โดยมีวัคซีนของโมเดอร์นาและซิโนแวก ไบโอเทคด้วย

และเมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายกัง คิม ยอง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ที่ ระบุว่า ประชาชนในสิงคโปร์มากกว่า 60,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกแล้วเช่นกัน

ลี เซียน ลุง ประเดิมวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเรียกความเชื่อมั่น

และอีกหนึ่งประเทศของอาเซียนที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย เมื่อตัวเลขล่าสุด 26 ม.ค. ว่า กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียรายงานสถิติเกี่ยว ยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ 13,094 คน ส่งผลให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยสะสมเป็นอย่างน้อย 1,012,350 คน ลำดับที่ 19 ของโลก ซึ่งมีผู้ป่วยสะสมจากโรคโควิด-19 มากกว่า 1 ล้านคน และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียต่างจากประเทศอื่นคือ กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 นอกจากบุคลากรแนวหน้าแล้วอีกหนึ่งกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อนใครคือ กลุ่มวัยทำงาน เพราะผู้คนวัยทำงานโดยทั่วไปมีพฤติกรรมความถี่ในการเดินทาง เข้าสังคม และพบปะผู้อื่นมากกว่าผู้สูงอายุ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จึงน่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ

ซึ่งอินโดนีเซียงจองวัคซีนจากหลายเจ้าไว้กว่า 329 ล้านโดส โดยวัคซีนโควิด-19 ของอินโดนีเซียจำนวน 125.5 ล้านโดส คือวัคซีน “โคโรนาแวค (CoronaVac)” จากบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ล็อตแรก 3 ล้านโดสเดินทางมาถึงอินโดนีเซียแล้ว 

แลเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเข็มที่ 2  เข็มสุดท้าย หลังเว้นระยะเวลาห่างจากการรับวัคซีนเข็มแรกเป็นเวลา 2 สัปดาห์พอดี คือเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนอย่างน้อย 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67% ของชาวอินโดนีเซียทั้งประเทศ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบทั้งสองเข็ม ภายในต้นปีหน้า เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ทำไมอินโดนีเซียเล็งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนวัยทำงานก่อนผู้สูงอายุ?

ข้อมูลบางส่วนจาก : เพจเป็นเรื่อง เป็นลาว / ซินหัว / รอยเตอร์

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ