รู้จัก “มินอ่องหล่าย” ผู้นำรัฐประหารเมียนมา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดประวัติ “มินอ่องหล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ผู้นำการปฏิวัติครั้งใหม่

ผู้นำรัฐประหารเมียนมา "พล.อ.มิน อ่อง หล่าย" สหายทหารไทย ลูกบุญธรรม "พล.อ.เปรม" ย้อนความผูกพัน "ป๋า"

เส้นทาง “อองซานซูจี” จากลูกสาววีรบุรุษ สู่ไอคอนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย

บรรยากาศพร้อมไทม์ไลน์ "การประกาศยึดอำนาจรัฐบาลเมียนมา"

อัปเดต รัฐประหาร เมียนมา ด่วน! ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี ยึดอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการทั้งหมด

มินอ่องหล่าย เป็นนายพลกองทัพเมียนมา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา เขาเข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาคครั้งล่าสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

มินอ่องหล่าย เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า (ปัจจุบันคือเมืองทวายประเทศเมียนมา) พ่อของเขาชื่อ ต่องหล่าย เป็นวิศวกรโยธาซึ่งทำงานอยู่ที่กระทรวงการก่อสร้าง

มินอ่องหล่ายสอบผ่านการคัดเลือกทหารในปี พ.ศ. 2515 ที่โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมัธยมปลาย 1 ลาธาแห่งย่างกุ้ง (BEHS 1 Latha of Rangoon) ต่อมาเขาเข้าศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์ย่างกุ้ง (Rangoon Arts and Science University) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2516 ก่อนจะเข้าร่วมสถาบันป้องกันรุ่นที่ 19 ในปี พ.ศ. 2517 หลังความพยายาม 3 ครั้ง และได้ติดยศจ่า

ในปี พ.ศ. 2520 มินอ่องหล่ายได้ติดยศร้อยตรีในกองทัพ และหลังจากสำเร็จการศึกษา เขาได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการในรัฐมอญ และในปี พ.ศ. 2545 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการในรัฐฉานตะวันออก และเป็นตัวตั้งตัวตีในการเจรจากับกลุ่มกบฏ 2 กลุ่มคือกองทัพรัฐว้า (UWSA) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDAA)

เขาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี พ.ศ. 2552 หลังจากเป็นผู้นำในการต่อต้านกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาที่ก่อความไม่สงบในโกก้าง

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 มินอองหล่ายได้เข้ามาแทนที่นายพลฉ่วยมานในตำแหน่งเสนาธิการร่วมกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

มินอ่องหล่ายขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด บังคับบัญชาสำนักงานทหารสูงสุดที่เรียกว่า “ทัตมาดอว์” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 แทนที่ประมุขแห่งรัฐและหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารเดิมคือนายพลอาวุโสตานฉ่วย

เขายังเป็นสมาชิกของสภาป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ซึ่งมีประธานาธิบดีแห่งเมียนมาเป็นประธาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลเมียนมาประกาศว่า มินอ่องหล่ายได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายพลอาวุโส ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับ 2 ของกองทัพเมียนมา และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นนายพลอาวุโสในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ทัตมาดอว์ได้ประกาศตำแหน่งพลเอกอาวุโสให้นายพลมินอองหล่าย ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับรองประธานาธิบดีเมียนมา

ล่าสุด พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศยึดอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการทั้งหมด พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมตัดสัญญาณโทรคมนาคมจากส่วนกลางทั้งหมด พร้อมตั้ง อูมินต์ ส่วย อดีตมุขมนตรีย่างกุ้ง รองประธานาธิบดีสายทหาร เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว

ที่ผ่านมา มินอ่องหล่ายถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริตคอร์รัปชัน

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) รายงานว่า ทหารของมินอ่องหล่าย จงใจพุ่งเป้า เลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

สื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กเอง ก็ออกคำสั่งห้ามมินอองหล่ายใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่และองค์กรระดับสูงของพม่าอีก 19 รายชื่อ เพื่อป้องกันความตึงเครียดทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมา ต่อมา ทวิตเตอร์แบนเขาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561 ส.ส.ชาวอาระกันได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงมินอ่องหล่าย เกี่ยวกับพฤติการณ์ละเมิดิทธิมนุษยชนหลายครั้งของทัตมาดอว์ในรัฐยะไข่ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน รวมถึงอาคารมรดกทางวัฒนธรรมบางส่วนด้วย

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามไม่ให้มินอ่องหล่ายเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา และในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทหลายแห่งของมินอ่องหล่ายถูกแช่แข็งทรัพย์สินที่อยู่ในอเมริกา รวมถึงห้ามการทำธุรกรรมทางการเงินใดระหว่างเขากับใครก็ตามในสหรัฐอเมริกา

มินอ่องหล่ายยังมีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัว และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) ที่เป็นเจ้าของเป็นทหาร ในช่วงปีงบประมาณ 2553–54 เขามีหุ้น 5,000 หุ้น และได้รับเงินปันผลประจำปีถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.5 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ลูกชายของมินอ่องหล่ายยังเป็นเจ้าของบริษัทเอกชนหลายแห่ง รวมถึง Sky One Construction Company และ Aung Myint Mo Min Insurance Company และยังถือหุ้นใหญ่ใน Mytel ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับชาติ ในปี พ.ศ. 2556 ลูกชายของเขาได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการประมูล ให้สามารถเช่าที่ดินเพื่อทพการประกอบการได้เป็นเวลา 30 ปีที่ Yangon People's Park ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านอาหารและหอศิลป์ระดับไฮเอนด์

ยังมีลูกสาวและลูกสะใภ้ของเขา ที่ก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ใหญ่ 7th Sense Film Production  และบริษัทบันเทิงอีกแห่ง Stellar Seven Entertainment ในปี พ.ศ. 2560 โดยหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงฐานะที่ร่ำรวยผิดปกติของมินอ่องหล่าย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ