“ประชาธิปไตยถอยหลัง” ทั่วโลกร่วมประณาม ทหารยึดอำนาจในเมียนมา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายประเทศทั่วโลกออกมาประณามเหตุกองทัพเมียนมากระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ธนาคารโลกเผย รัฐประหารเมียนมากระทบประชาธิปไตย-การพัฒนาประเทศ

จังหวะเป๊ะ! คลิปสาวเมียนมากำลังแอโรบิคตอนเช้า ขณะเจ้าหน้าที่ก่อการรัฐประหาร

นายแบบเมียนมา "ไป่ ทาคน" โพสต์ถึงรัฐประหาร วอนโลก ช่วยเมียนมา ช่วย "อองซาน ชูจี"

เหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมาเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งโลก เพราะเป็นสัญญาณการถดถอยของประชาธิปไตยในแผ่นดินลุ่มน้ำอิระวดีแห่งนี้ซึ่งต่อสู้เพื่อผระชาธิปไตยมานานนับสิบปี แต่สุดท้ายกลับกำลังถอยกลับไปที่เดิม

ด้านผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลก ได้ออกมาประณามการกระทำครั้งนี้ของกองทัพเมียนมา โดยส่วนมากระบุว่า ต้องการให้เมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และดำเนินขั้นตอนกระบวนการตามหลักประชาธิปไตย

สหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การเข้ายึดอำนาจและควบคุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนเป็น “การคุกคามโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม”

ไบเดนกล่าวว่า “เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราทั้งในภูมิภาคและจากทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ตลอดจนนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการล้มล้างการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมามารับผิดชอบ”

แอนโทนี เจ บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างยิ่ง “เราขอเรียกร้องให้ผู้นำทหารปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้นำฝ่ายพลเรือนทั้งหมด และเคารพเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สหรัฐฯ จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในเมียนมาซึ่งปรารถนาที่จะมีประชาธิปไตยและเสรีภาพ สันติภาพและการพัฒนา”

“ไบเดน” ขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา

จีน

หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า “หวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถจัดการความแตกต่างของพวกเขาได้ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการรักษาเสถียรภาพ”

ออสเตรเลีย

มารีส เพน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “มีรายงานว่า กองทัพเมียนมาพยายามที่จะยึดอำนาจอีกครั้ง และได้ควบคุมตัวนางอองซานซูจีที่ปรึกษาแห่งรัฐและประธานาธิบดีอูวินมินต์ ... เราขอเรียกร้องให้ทหารเคารพหลักนิติธรรมเพื่อยุติข้อพิพาทผ่านกลไกที่ชอบด้วยกฎหมายและปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบในทันที”

 

 

อินเดีย

กระทรวงต่างประเทศของอินเดียกล่าวว่า “กำลังเฝ้ามองพัฒนาการในเมียนมาด้วยความกังวลอย่างยิ่ง ... อินเดียมีความแน่วแน่ในการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในเมียนมามาโดยตลอด เราเชื่อว่าประเทศต้องต้องยึดถือหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตย เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

สหราชอาณาจักร

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประณามการรัฐประหาร “การลงคะแนนเสียงของประชาชนต้องได้รับความเคารพ และผู้นำฝ่ายพลเรือนจะต้องได้รับการปล่อยตัว”

 

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกล่าวว่า สนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างมาก และเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจีและคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัว

“ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างมาก และคัดค้านการย้อนกลับกระบวนการดังกล่าว”

แคนาดา

นายกฯ จัสติน ทรูโด ทวีตข้อความว่า "การกระทำล่าสุดของทหารเมียนมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และแคนาดาขอประณามพวกเขาอย่างรุนแรง เราเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้ทันที กระบวนการประชาธิปไตยต้องได้รับการเคารพ"

 

 

ตุรกี

ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติการยึดอำนาจทางทหาร และรัฐบาลเพิ่งรอดพ้นจากการพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาอย่างรุนแรงและแสดงความกังวลอย่างสุดซึ้ง

“ตุรกีไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการแทรกแซงทางทหารทุกรูปแบบ” พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง บุคคลสำคัญทางการเมือง และพลเรือนทั้งหมดในทันที และให้รัฐสภาของประเทศประชุมโดยเร็วที่สุด

สหภาพยุโรป

ชาร์ลส มิเชล ประธานสภายุโรปประณามการยึดอำนาจของทหารในเมียนมาและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด

“ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งต้องได้รับการเคารพและกระบวนการประชาธิปไตยจะต้องได้รับการฟื้นฟู” มิเชลเขียนในทวิตเตอร์ของตนเอง

 

 

สหประชาชาติ

สเตฟาน ดูจาริค โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงต่อการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในเมียนมา”

แถลงการณ์ของ UN ระบุว่า “ผลการเลือกตั้งทั่วไปสะท้อนถึงความปรารถนาที่ชัดเจนของประชาชนเมียนมาในการธำรงไว้ซึ่งเส้นทางสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอันยากเข็ญ”

สหประชาชาติ ประณามรัฐประหารในเมียนมา

อาเซียน

ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งในปีนี้คือบรูไน เรียกร้องให้เมียนมา “กลับคืนสู่สภาวะปกติ” โดยเร็วที่สุด

“เราระลึกถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งรวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”

“เราขอย้ำว่าเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุประชาคมอาเซียนที่สงบสุขมั่นคงและมั่งคั่ง เราสนับสนุนให้ดำเนินการเจรจาการปรองดองและการกลับคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนงและผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา”

ด้านเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย ตัดสินใจไม่ออกความเห็น โดยระบุว่าเป็นเรื่องของกิจการภายในประเทศที่ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง และวางจุดยืนเช่นเดียวกับที่ประธานอาเซียนประกาศ

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก เมื่อวานนี้ (1 ม.ค.) ได้รวมตัวกันประท้วงที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ และปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาแสดงท่าทีประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา

จากเหตุดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน จากผู้ชุมนุมอย่างน้อย 200 คนทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา และจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 3 คน ฐานร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9  ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19), กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6)

ตร.จับ 3 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา แจ้งข้อหาฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

"ประยุทธ์"แจงจุดยืนไทยปมรัฐประหารเมียนมา

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เตือนอย่าตื่นตระหนก

เรียบเรียงจาก Aljazeera

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ