ต่างชาติ ขู่ กลับมาคว่ำบาตรเมียนมา อีกครั้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การก่อรัฐประหารและจับกุมนางออง ซาน ซูจี และนักการเมืองคนอื่นๆ ส่งผลให้ประชาคมโลกประณามการกระทำของกองทัพ และขู่ว่าจะกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เคยใช้ก่อนหน้านี้

ธนาคารโลกเผย รัฐประหารเมียนมากระทบประชาธิปไตย-การพัฒนาประเทศ

เมียนมาที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมาเกือบ 5 ทศวรรษ ประชาชนเผชิญกับความยากจน เพราะมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกปิดตายจากโลกภายนอกและเมื่อครั้งประตูประเทศเริ่มเปิด เมียนมากลายเป็นอีกประเทศที่เนื้อหอมมากที่สุดในหมู่นักลงทุนต่างชาติ แต่ประตูที่เพิ่งจะเปิด อาจถูกปิดลงอีกครั้ง เมื่อทหารก่อรัฐประหารอีกรอบ

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เตรียมนำมาตรการคว่ำบาตรมาใช้กับเมียนมาอีกครั้ง หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารและจับกุมนางออง ซาน ซูจี และนักการเมืองคนอื่นๆ

ข้อความในแถลงการณ์ระบุว่า กองทัพไม่ควรอยู่เหนือความต้องการของประชาชน หรือพยายามที่จะลบล้างผลการเลือกตั้งที่ชอบธรรม

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมียนมากำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ ดังนั้นไม่ควรมีอะไรมาขัดขวางกระบวนการนี้

นอกจากนี้ไบเดนยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันกดดันให้กองทัพสละออกจากอำนาจ ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวและนักการเมือง กลับมาให้บริการสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เนต รวมไปถึงหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยสหรัฐฯ จะร่วมทำงานกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อนำประชาธิปไตยกลับมายังเมียนมา

เช่นเดียวกับบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่ออกมาประณามการจับกุมนางซูจี ไปจนถึงบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารเช่นเดียวกัน

ด้านอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ออกมาประณามว่าการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมานั้นทำลายกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตย โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมนัดหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเร่งด่วนในวันนี้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมียนมาอาจเจอกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ การคว่ำบาตรมาเป็นทศวรรษในช่วงการปกครองของทหาร กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมหาศาล

ประตูประเทศเพิ่งเริ่มจะเปิด ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่งเริ่มจะดีขึ้น จากมาตรการคว่ำบาตรที่เพิ่งจะถูกยกเลิกเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้

แต่เมียนมาอาจกำลังจะต้องวกถอยหลังกลับไปเจอกับมาตรการคว่ำบาตรอีกครั้ง ในอดีต การคว่ำบาตรมีผลต่อเมียนมาอย่างไรบ้าง?

ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2016 (ช่วงการปกครองของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย ต่อเนื่องมาจนถึงการเริ่มเปิดประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง) เมียนมาเจอกับการถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และประเทศกลุ่ม OECD หรือประเทศในยุโรป จนถึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

การคว่ำบาตรทำให้เมียนมาร์ถูกตัดความช่วยเหลือทางการเงิน การกีดกันการส่งออกสินค้า จนถึงการระงับการลงทุนและการทำธุรกิจ

ยกตัวอย่าง เมียนมาไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้อย่างสิ้นเชิง เมียนมาสูญเสียรายได้จากการส่งออก 356 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหมื่นล้านต่อปี ( เฉพาะที่ส่งไปสหรัฐ ) และที่ได้รับผลกระทบหนักคือ ประชาชน

หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญคือ สิ่งทอ เมื่อส่งออกไม่ได้ โรงงานต้องปิดตัว คนตกงาน จำนวนมากจึงหลั่งไหลมาทำงานที่ประเทศไทย ภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบหนัก

การคว่ำบาตรทำให้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างข้าวไม่ได้ บางปีเจอภัยแล้ง ประชาชนในบางพื้นที่เผชิญกับภาวะขาดสารอาหารในระดับเดียวกับประชาชนในโซมาเลียและซูดาน เกิดภาวะเงินเฟ้อ กระทบชนชั้นกลางด้วยและเมื่อเมียนมาเริ่มเปิดประเทศ จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 มาตรการคว่ำบาตรเริ่มถูกผ่อนคลายหรือยกเลิก

หลังพรรค NLD ของนางออง ซาน ซูจีเข้ามาบริหารประเทศ เมียนมาก็กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่ต่างชาติต่างพากันมาลงทุน ด้วยทั้งทำเลที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวเมียนมาเริ่มมีความหวังกับประเทศตัวเองทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ความหวังนี้อาจกำลังถูกดับลงอีกครั้ง

เมียนมาเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2010 พลเอกอาวุโสตายฉ่วยถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่นำโดนนายพลเต็งเส่ง

ต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ามา ในปี 2019-2020 การลงทุนจากต่างชาติสูงถึง 5 ล้าน 7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะมีโควิด แต่เมียนมาร์ก็ยังหอมหวล ถ้าอยากรู้ว่าหอมหวนขนาดไหนก็ต้องเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียยังคาดการณ์ไว้ว่า GDP ของเมียนมาในปี 2021 อยู่ที่ร้อยละ 6 กัมพูชาร้อยละ 5.9 และราวร้อยละ 4.5 ขณะที่ไทยอยู่ที่ 3.5 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า ก่อนจะเกิดรัฐประหาร เมียนมายังคงเนื้อหอมกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันเองในวิกฤตโรคระบาด ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงที่สุดคือ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกงตามลำดับ

ขณะที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น โดยเป็นการลงทุนตั้งแต่น้ำมัน พลังงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอ ภาคการท่องเที่ยว

น่าจับตามองว่า ถ้ามีการคว่ำบาตรจริง เศรษฐกิจของเมียนมาร์จะกระเทือนขนาดไหน ทั้งภาพรวมและระดับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ

ก่อนหน้าที่จะมีรัฐประหาร เมียนมาก็เจอกับคำขู่การคว่ำบาตรรอบใหม่อยู่แล้วจากกรณีวิกฤตผู้อพยพโรฮิงญา

สหภาพยุโรปประกาศเมื่อปี 2019 ว่า จะเริ่มกลับมาใช้มาตรการทบทวนการคว่ำบาตรทุกๆ 6 เดือนและยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีกับเมียนมา

สหภาพยุโรปถือว่า เป็นตลาดส่งออกเครื่องทอที่สำคัญของเมียนมา หมายความว่า แรงงานชาวเมียนมาจะกลับมาตกงานอีกครั้ง มีการคาดการณ์ว่า แรงงานเมียนมาในอุตสาหกรรมสิ่งทอเกือบครึ่งล้านจะตกงานภายใน 4 ปีนี้

“ไบเดน” ขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา

 

 

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ