สหรัฐฯกังวล เมียนมาเพิ่มข้อหา “ซูจี” อาเซียนมีท่าทีไม่ตรงกัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากเมื่อวานนี้มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับนางออง ซาน ซู จี และยังคงจับกุมผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง สหรัฐอเมริกาได้ออกมาแสดงความกังวล ขณะที่ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนมีท่าทีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างหลากหลาย

ชาวเมียนมา แห่ถอนเงินจากธนาคารของกองทัพ-บอยคอตต์ธุรกิจ

เตือนเร่งสกัดโควิดสายพันธุ์จากเมียนมาก่อนกลายพันธุ์

เน็ด ไพรส์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงการณ์ว่า การตั้งข้อหานางออง ซาน ซู จีเพิ่มนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ กังวลใจ ซึ่งเมื่อวานนี้นาง ซู จีถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาเพิ่ม โทษฐานละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 โดยข้อหานี้มีโทษสูงสุดคือจำคุก 3 ปี โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวเธอ และนักการเมืองคนอื่นๆ

จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ น่าจะเป็นชาติที่มีมาตรการออกมามากที่สุด นอกเหนือจากสั่งระงับความช่วยเหลือทั้งหมดทันทีที่กองทัพก่อรัฐประหาร และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศมาตรการเตรียมคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา 1. คว่ำบาตรผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำรัฐประหาร รวมถึงสมาชิกครอบครัว  2. จำกัดมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังเมียนมา และ 3 ระงับการเข้าถึงทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลเมียนมา แต่ยังคงไว้ซึ่งความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ซึ่งข้อสุดท้ายไบเดนหมายถึงกองทุนช่วยเหลือเมียนมามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาทที่อยู่ในสหรัฐฯ

 

โดยเมื่อครั้งที่เมียนมาเคยตกอยู่ภายใต้รัฐบาลของทหารกว่า 50 ปีครั้งก่อน สหรัฐก็เคยคว่ำบาตรแต่ แต่คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน กองทัพก็ยังคงมีอิทธิพล  คราวนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเสนอว่า ถ้าจะให้ได้ผล ต้องมุ่งกดดันให้ตรงจุด เช่นคว่ำบาตรบริษัทของกองทัพ อย่างเบียร์และบุหรี่

ขณะที่ประชาคมอาเซียน ที่ยังคงดำรงไว้ซึ่งหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก วันนี้มีท่าทีมาจากประเทศสมาชิกอย่างอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าทีที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันนัก

 

เร็ทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียได้เดินทางไปหาประธานกลุ่มอาเซียนอย่างบรูไน เพื่อหาเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ เธอระบุว่าประชาคมอาเซียนควรจะเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้ดีกว่านี้

นอกจากนี้เมื่อวาน เธอยังได้หารือกับแอนโธนี บลิงเคนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ และยังได้ติดต่อกับบรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหราขอาณาจักร จนถึงทูตขององค์การสหประชาชาติ

 

อีกชาติอาเซียนที่ออกมาคือ สิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ระบุว่า กังวลต่อการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง การจับกุมนักการเมือง และการตัดอินเทอร์เน็ต โดยหวังว่ากองทัพเมียนมาจะปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และประธานาธิบดีวิน มินต์ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน ที่น่าสังเกตุคือ สิงคโปร์ไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรเมียนมา เพราะมองว่าจะกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่เผชิญกับความยากจนอยู่แล้ว

สิงคโปร์นับเป็นอีกประเทศที่ลงทุนในเมียนมาสูงที่สุดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าบริษัทร่วมลงทุนของสิงคโปร์ถูกนักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้าน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ

 

ท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนนับว่าค่อนข้างหลากหลาย ฟิลิปปินส์เองออกมาพูดในตอนแรกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้นถือว่าเป็นกิจการภายใน ก่อนจะค่อยเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสถานะทางการเมืองของเมียนมาให้กลับมาดังเดิม

ด้านเวียดนามออกมาเรียกร้องให้เมียนมากลับมาฟื้นฟูให้สถานการณ์กลับมามั่นคงตามปกติ ขณะที่ไทยและกัมพูชาออกมาระบุว่า การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมานับเป็นกิจการภายในประเทศ โดยที่ผ่านมาประชาคมอาเซียนเองมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถเป็นกลไกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรฮิงญา หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ