ครั้งแรก! “ไบเดน” สั่งโจมตีทางอากาศ ตอบโต้กลุ่มติดอาวุธอิหร่าน ยิงจรวดใส่ฐานทัพสหรัฐฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากโจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เพียงเดือนเดียว ล่าสุดได้สั่งปฏิบัติการทางทหารครั้งแรก โดยสั่งโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ในประเทศซีเรีย เพื่อตอบโต้ที่กลุ่มนี้โจมตีฐานทัพของสหรัฐในประเทศอิรัก ปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะนำไปสู่อะไร

“ไบเดน” สั่งประเมินภัยคุกคามกลุ่มสุดโต่งในสหรัฐฯ

ย้อนไทม์ไลน์จุดแตกหัก ‘อิหร่าน-สหรัฐ’

หลังปฏิบัติการโจมตีกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ในซีเรีย ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติภารกิจว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมาย

คำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้โจมตีครั้งนี้เพื่อตอบโต้หลังกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ยิงจรวดใส่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในเมืองเออร์บิล ซึ่งฐานทัพดังกล่าวถูกใช้เป็นที่ปฏิบัติการร่วมของสหรัฐและพันธมิตรในการรบการกลุ่มไอซิส

 

กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ หรือ เอาลียา อัล-ดาม ที่แปลว่าผู้พิทักษ์แห่งเลือดได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ เป็นกลุ่มที่ความสัมพันธ์และสนับสนุนอิหร่าน ศัตรูสำคัญของสหรัฐฯ และการตอบโต้กลับของสหรัฐฯ ครั้งนี้ก็ทำให้กลุ่มติดอาวุธชิอะห์เสียชีวิตหลายราย แต่ไบเดนบอกว่านี่เป็นทางเลือกที่เบาที่สุดแล้ว

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า สหรัฐฯ ได้ยิงระเบิดแม่นยำขนาด 500 ปอนด์จำนวน 7 ลูก เพื่อยิงเป้าหมายสำคัญ เช่น เส้นทางในซีเรียที่กองทัพอิหร่านใช้เคลื่อนย้านอาวุธข้ามพรมแดน องค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรียระบุว่า การยิงโจมตีของสหรัฐฯ ได้คร่าชีวิตนักรบของกลุ่มติดอาวุธสองกลุ่มนี้ไปอย่างน้อย 17 ราย

สหรัฐฯ ชี้แจงว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และทำตามกรอบการทูต เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ ต้องการตอบโต้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ แต่ไม่ได้ต้องการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย

สหรัฐฯ ยิงโจมตีกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่ในอิหร่าน ในช่วงที่สหรัฐฯ กับอิหร่านกำลังหาทางกลับมาลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ไหนแต่ไร อิหร่าน คือ ศัตรูสำคัญของสหรัฐฯ และอิหร่านเป็นประเทศที่ครอบครองและมีโครางการพัฒนาแร่ยูเรเนียม จนหลายฝ่ายเกรงว่าอิหร่านจะใช้ในการทำอาวุธนิวเคลียร์

 

ในปี 2015 ภายใต้รัฐบาลของบารัก โอบามา ที่มีโจ ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี สหรัฐฯ พร้อมกับประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สหราชอาณาจักร รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส พร้อมกับเยอรมนี และสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันลงนามกับอิหร่านให้ลดการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน

ข้อตกลงนี้นับว่าเป็นความสำเร็จของมหาอำนาจในตอนนั้น ที่ต้องการลดความเสี่ยงของการที่อิหร่านจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ที่หลายฝ่ายใช้เวลาหลายปีในการพยายามเจรจากับอิหร่าน เพราะทุกฝ่ายมองว่า วิธีเจรจาทางการทูตจะดีกว่าการเผชิญหน้า หรือการปะทะ

แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เขาไม่ต้องการประนีประนอม แต่ต้องการกดดันอิหร่านไปสุดทาง สุดท้ายเขาจึงล้มโต๊ะ ด้วยการถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ตอนนั้นทรัมป์ถูกชาติมหาอำนาจประณามอย่างรุนแรง เพราะการถอนตัวเท่ากับเป็นการเปิดทางให้อิหร่านกลับไปสะสมแร่ยูเรเนียมในปริมาณที่เกือบจะเพียงพอในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

ครั้งนี้ นโยบายต่างประเทศแรก ๆ ที่ไบเดนต้องการจะทำ คือการดึงข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านกลับมา จึงต้องจับตาดูว่า การยิงโจมตีกลุ่มนักรบที่ฝักใฝ่อิหร่านของไบเดนครั้งนี้ จะกระทบต่อความพยายามดึงข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านกลับมาหรือไม่

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ