ผู้ประท้วงเมียนมา ใช้กลยุทธ์ใหม่ รับมือการถูกปราบปราม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การประท้วงที่ย่างกุ้งได้เห็นกลยุทธ์ใหม่ๆของผู้ประท้วงในการรับมือกับการถูกปราบปราม เช่น ขึงราวตากผ้ากันกลางถนน เพื่อบดบังทัศนวิสัยของเจ้าหน้าที่ มีการนำภาพสมาชิกครอบครัวของเจ้าหน้าที่มาแปะประจานไว้บนผ้าถุงที่แขวนอยู่ด้วย

กองทัพเมียนมาขอตร.-ทหารไม่ใช้กระสุนจริง

เรียกได้ว่าเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้วสำหรับชาวเมียนมาในขณะนี้ ที่ทุกวันพวกเขาจะต้องออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามด้วยกระสุนจริงก็ตาม

ในวันนี้ภาพการต่อสู้บนท้องถนนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีรายงานจากบรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาในต่างประเทศ ออกมาร่วมประกาศจุดยืนไม่ทำงานรับใช้ทหาร

การประท้วงที่ย่างกุ้งได้เห็นกลยุทธ์ใหม่ๆของผู้ประท้วงในการรับมือกับการถูกปราบปราม เช่น ขึงราวตากผ้ากันกลางถนน เพื่อบดบังทัศนวิสัยของเจ้าหน้าที่ มีการนำภาพสมาชิกครอบครัวของเจ้าหน้าที่มาแปะประจานไว้บนผ้าถุงที่แขวนอยู่ด้วย

ส่วนบนพื้นถนนมีการวางกับดักไว้ โดยใช้กะลามะพร้าวที่ด้านในตอกตะปูไว้

ก่อนหน้านี้เราเห็นกลยุทธ์แบบบ้านๆ ที่สรรหามารับมือกับอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถังดับเพลิงฉีดพ่นสร้างม่านหมอก การใช้จานดาวเทียมมาเป็นโล่ หรือการวางอิฐบนท้องถนน เพื่อไม่ให้รถของกองทัพเคลื่อนเข้ามาได้

มีความเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่แก๊สน้ำตาเข้าใส่ แต่ผู้ประท้วงเตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว ด้วยการเรียงถุงพลาสติกบรรจุน้ำไว้ที่พื้นถนน ทันทีที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตามา ผู้ชุมนุมจะขว้างถุงใส่น้ำไปยังจุดนั้นทันที เพื่อลดความรุนแรงของสารเคมี

เมียนมาปราบม็อบเดือด แม้หารือไทย-อินโดฯ

ด้านบนโลกออนไลน์ปรากฏภาพของการประท้วงบนเรือ ที่ติดธงสีแดงสัญลักษณ์ของพรรค NLD ในเมืองหม่องเมี๊ยะ สาเหตุที่ผู้ประท้วงในเมืองนี้ต้องลงมาประท้วงกันบนแม่น้ำอิรวดี ก็เพราะเจ้าหน้าที่ปิดกั้นถนนทำให้ไม่สามารถเดินทางไปประท้วงได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า หลังผู้ประท้วงใช้วิธีนี้ ทางตำรวจเองก็ล่องเรือตามมาควบคุมด้วยเช่นกัน

ด้าน ไป่ ทาคน นักแสดงและนายแบบชื่อดัง หลังจากหายไป 3 วันจนคนกลัวว่าถูกจับตัวไป ล่าสุดก็ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้สหประชาชาติและประชาคมโลกช่วยเหลือ

ส่วนหนึ่งของจดหมายระบุว่า เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่เด็กๆ และคนรุ่นใหม่ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องน่าใจหาย และไม่อาจยอมรับได้ เขาขอร้องให้ประชาคมโลกดำเนินมาตรการตอบโต้และยุติโศกนาฏกรรมที่กองทัพก่อขึ้น

ไม่ใช่แค่ไป่ ทาคนที่เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยังยูเอ็น ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตเมียนมาในต่างประเทศ ราว 10 รายแล้วออกมาประกาศจุดยืนว่า พวกเขาไม่ต้องการทำงานภายใต้รัฐบาลทหาร โดยในจำนวนนี้มี 5 รายที่ทำงานอยู่ในสถานทูตเมียนมาประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา การประกาศจุดยืนของเจ้าหน้าที่ทูตที่ทำงานในต่างประเทศเป็นความพยายามล่าสุดในการสร้างแรงกดดันจากต่างประเทศไปยังกองทัพ

นอกจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนแล้ว ตอนนี้แอพพลิเคชั่นอย่าง TikTok ได้กลายเป็นพื้นที่บนโลกออนไลน์ ที่ชาวเมียนมากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารการประท้วงตลอดจนเหตุปราบปรามผู้ชุมนุมไปยังโลกภายนอก

ในขณะเดียวกันฝั่งกองทัพเอง ก็ใช้ TikTok เป็นเครื่องมือในการส่งสารมายังประชาชนชาวเมียนมาเช่นกัน ทหารหลายคนมาพร้อมกับอาวุธปืน ข่มขู่ผู้คนด้วยวาจารุนแรง ส่งผลให้ทางแอปพลิเคชันต้องลบเนื้อหาดังกล่าวออก เนื่องจากขัดต่อนโยบายชุมชน

รายงานทหารเมียนมาใช้แอปพลิเคชัน TikTok มาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอ้างข้อมูลจากกลุ่ม เมียนมาไอซีทีเพื่อการพัฒนา หรือที่เรียกว่า MIDO

ทูตเมียนมาโดนกองทัพปลดจาก UN หลังชู 3 นิ้ว กลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ

MIDO ระบุว่า พวกเขาพบวิดีโอของทหาร หรือกลุ่มที่สนับสนุนทหารมากกว่า 800 วิดีโอ เผยแพร่บน TikTok บางวิดีโอมียอดเข้าชมมากถึงหลักหมื่น และในจำนวนนี้บางวิดีโอพบว่า ทหารที่ออกมาสื่อสาร ถืออาวุธปืนมาด้วย

หนึ่งในวิดีโอที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงคือภาพของนายทหารคนหนึ่งหันปากกระบอกปืนมายังกล้อง และข่มขู่ว่า จะยิงทุกคนที่ออกมาแบบไม่ไว้หน้าใคร

ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า วิดีโอดังกล่าวถูกลบไปแล้ว เนื่องจากขัดต่อนโยบายชุมชนของ TikTok ที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ภาพอาวุธ วิดีโออื่นๆ ของฝั่งสนับสนุนรัฐประหารเป็นอย่างไร?

ล่าสุดยังคงหลงเหลือบางวิดีโอใน TikTok และบางวิดีโอก็ถูกชาวเน็ตเมียนมานำมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มอื่นอย่างทวิตเตอร์

ตัวอย่างแรกเป็นภาพของทหารเมียนมาในเครื่องแบบจ่อปากกระบอกปืนมายังกล้องเช่นกัน พร้อมทำท่าทางเหมือนจะลั่นกระสุน ซึ่งเจ้าของทวิตเตอร์ที่นำมาเผยแพร่ระบุว่า ทหารสองคนนี้กำลังพูดจาคุกคามผู้ชุมนุม

การแพร่กระจายของวิดีโอเหล่านี้บนโลกออนไลน์กำลังสร้างความกังวล ล่าสุด วาเนสซา พัพพาส ซีอีโอผู้บริหารแอปพลิเคชัน TikTok ออกมาระบุว่า ทางบริษัทกำลังจับตาดูคอนเท้นทำนองนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งยังขอให้ผู้ใช้ที่พบเห็นวิดีโอลักษณะดังกล่าว หรือวิดีโอที่เข้าข่ายสนับสนุนความรุนแรง ขอให้ช่วยกันติดแฮชแทก #MyanmarMadness เพื่อช่วยให้ทีมงานทำงานได้เร็วขึ้น

ในส่วนของประชาชนชาวเมียนมา พวกเขาใช้ TikTok ในการเคลื่อนไหวเช่นกัน แฮชแทกใหญ่ยังคงเป็น #SaveMyanmar บันทึกเหตุการณ์ประท้วง บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพื่อช่วยให้คนต่างชาติเข้าใจ

มีอีกหนึ่งในแฮชแทกที่ถูกใช้รายงานความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ เช่น วิดีโอนี้บันทึกจากร้านขายของชำแห่งหนึ่งในเมืองตองยี รัฐฉาน จู่ๆ ทหารเมียนมาก็บุกเข้ามาในร้าน และตะโกนว่าจะยิงพวกเขาทิ้งให้หมด อีกสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชาวเมียนมากำลังทำคือการยั่วล้อกับความน่ากลัวของกองทัพ

อย่างวิดีโอนี้ที่นำภาพของมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารมาต่อยหน้าเล่น หรืออย่างบัญชีนี้ที่เปิดขึ้นโดยใช้ชื่อมิน อ่อง หล่าย  และนำรูปของผู้นำเผด็จการมาล้อเลียน โดยล่าสุดวิดีโอที่มิน อ่อง หล่าย ออกแถลงการณ์ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ประชาชิปไตย บัญชีนี้ก็นำภาพฟิลเตอร์กอริลลามาสวมทับกับหน้าของผู้นำ

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าทุกวันนี้ ผู้คนโดยเฉพาะคนุร่นใหม่ไม่เพียงขับเคลื่อนต่อสู้บนท้องถนน แต่ยังรวมถึงการใช้โลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ด้วย  ในส่วนของยอดผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ล่าสุดมีอย่างน้อย 50 รายแล้ว

กระสุนของกองทัพ กับการลุกฮือของชาวเมียนมา

 

 

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ