รมว.ตปท.สิงคโปร์ เยือนบรูไน คาดหารือวิกฤตเมียนมา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในส่วนของประชาคมอาเซียน วันนี้มีความเคลื่อนไหวคือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสุลต่านของบรูไน และจะเดินทางไปพบกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซียและสิงคโปร์ต่อในสัปดาห์นี้ แม้ไม่ได้ระบุว่า เป็นการเดินทางไปเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า จะมีการหารือในประเด็นนี้ด้วย เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์เดินสายไปพบ 3 ประเทศนี้ หลังประธานาธิบดีของอินโดนีเซียออกมาเรียกร้องให้อาเซียนประชุมเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างเร่งด่วน

สหรัฐฯกังวล เมียนมาเพิ่มข้อหา “ซูจี” อาเซียนมีท่าทีไม่ตรงกัน

อาเซียนเรียกร้องเมียนมาหยุดใช้ความรุนแรง

วันนี้ 22 มี.ค.นายวิเวียน บาลากริสนัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านของประเทศบรูไน ประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานประชาคมอาเซียนประจำปีนี้

นายวิเวียน ไม่ได้ระบุว่า จะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าเป็นการเดินทางเพื่อไปกระชับความสัมพันธ์กับบรูไน

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ทั้งคู่จะมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาด้วย

ซึ่งการเดินทางไปบรูไนของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ เกิดขึ้นหลังนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ออกมาเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนประชุมหารือเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมาโดยเร็วที่สุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

โดยมีนายกรัฐมนตรีมุห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซียออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของนายโจโก วิโดโด

ซึ่งในวันพรุ่งนี้ นายวิเวียน บาลากริสนัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ มีกำหนดเดินทางไปเยือน มาเลเซียและอินโดนีเซียต่อ เพื่อพบกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศ

โดยในแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียระบุว่า เป็นการพบกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ

ซึ่งเชื่อว่า การที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์เดินทางไปบรูไนก่อน แล้วค่อยเดินทางไปมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นการหารือกับ 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อนำไปสู่การประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเร่งด่วน ตามที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เรียกร้องไว้ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในเมียนมา

ประชาคมอาเซียนยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการแสดงจุดยืน หรือการออกมาตรการต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน หรือจุดยืนของประเทศสมาชิกที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกันเท่าไหร่นัก

แถลงการณ์ฉบับแรกและฉบับเดียวของประชาคมอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา คือแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาหลังรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกได้ประชุมกันผ่านวีดีโอคอล ซึ่งมีนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาเข้าร่วมด้วย

แถลงการณ์ระบุว่า ประชาคมอาเซียนมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และขอให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง และหันมาประนีประนอมกัน

โดยครั้งนั้นมีเพียง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ที่แสดงจุดยืนออกไปไกลกว่าประเทศอื่น ด้วยการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี

ซึ่ง 4 ประเทศนี้นับเป็น 4 ประเทศที่ตื่นตัวต่อสถานการณ์ในเมียนมามากที่สุด นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยประเทศแรกที่ออกมาแสดงความตื่นตัวคือ อินโดนีเซีย

นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย เป็นผู้ที่เดินสายไปเยือนบรูไนและสิงคโปร์ เพื่อล็อบบี้ให้อาเซียนหันมาทำอะไรสักอย่างต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา

โดยเธอยังมีโอกาสได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาและไทยที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเธอเชื่อว่า การเจรจาพูดคุยยังคงเป็นหนทางที่ดีในการช่วยให้เมียนมาก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้

ซึ่งตอนนั้นเธอยังเคยได้เสนอทางออก อย่างการเลือกตั้งใหม่ โดยให้อาเซียนเข้าไปมอนิเตอร์การเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกชาวเมียนมาต่อต้านอย่างรุนแรง เพราะพวกเขามองว่าการเลือกตั้งใหม่ เป็นการให้ความชอบธรรมกับการยึดอำนาจของทหาร ที่อ้างว่ายึดอำนาจ เพราะพบการโกงการเลือกตั้ง ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซู จี สามารถคว้าชัยชนะไปได้อย่างถล่มทลาย

จึงต้องจับตาดูว่า การเดินทางไปเยือนบรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ของรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ครั้งนี้จะนำไปสู่การประชุมอีกรอบของอาเซียนหรือไม่ และจะนำไปสู่จุดยืน หรือมาตรการใหม่ๆ ต่อสถานการณ์ในเมียนมาได้หรือไม่

สถานการณ์ในเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับไทย คือประเด็นที่มีการพบข้าวสาร 700 กระสอบริมแม่น้ำสาละวิน บริเวณตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีการระบุว่าเพื่อส่งไปให้ทหารพม่าที่ประจำการอยู่ในพื่นที่รัฐกะเหรี่ยง

ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 3 และโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงว่า ไม่ใช่การส่งเสบียงให้กับทหารพม่าตามที่เป็นข่าว วันนี้นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงเรื่องนี้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ