จับตาท่าที "กองทัพอาระกัน"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่สำคัญอยู่ที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า กองทัพอาระกัน หรือ AA กองกำลังที่มีพื้นที่การเคลื่อนไหวแถบรัฐชิน และรัฐยะไข่ตอนเหนือ

จับตา! กองกำลังชาติพันธุ์เมียนมา หลัง CRPH ปลดล็อก ยิงสู้กองทัพได้

กองทัพเมียนมา เดินหน้าสังหารปชช. อายุน้อยสุด 14 ปี

รัฐยะไข่เคยเป็นราชอาณาจักรปกครองตนเอง ก่อนพม่าเข้ามายึดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากนั้นอังกฤษก็เข้ามาเอาพม่าทั้งหมดเป็นอาณานิคม หลังพม่าได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 รัฐยะไข่ไม่ได้สิทธิ์ในการปกครองตัวเองกลับคืนมา ในรัฐยะไข่มีประชากรทั้งชาวพุทธและมุสลิม

ในที่นี้เราจะเรียกว่า ชาวพุทธอาระกัน และชาวมุสลิมโรฮิงญา ความสัมพันธ์ของสองกลุ่มเป็นอย่างไร ไม่ได้ถูกกันมาก แต่มีศัตรูร่วมคือ พม่า

ชาวพุทธอาระกันมีกองกำลังของตัวเองคือ กองทัพอาระกัน ส่วนมุสลิมโรฮิงญาปรากฏมีกลุ่มกำลังที่ชื่อว่า กองกำลังปลดปล่อยมุสลิมโรฮิงญา

เป้าหมายหลักของกองทัพอารกันคล้ายกับของกองกำลังชาติพันธุ์อื่นนั่นคือ เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง และกันกองทัพพม่าออกไปจากพื้นที่ของตน

AA เป็นกองกำลังที่ก่อตั้งได้เพียง 12 ปี แต่เข้มแข็ง มีกำลังทหารมากที่สุดรองจากทัพว้าและคะฉิ่น

ผู้นำของกองทัพอารกันคือ ตวัน มยัต อายุ 42 ปีเป็นคนรุ่นใหม่ จบการศึกษาด้านวิศวกรรม เป็นคนที่สามารถดึงคนจำนวนมากในรัฐให้สนับสนุนได้

ชาวพุทธอาระกันมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองด้วย คือ พรรคแห่งชาติอาระกัน

เมื่อปี 2015 พรรคนี้ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย และได้ที่นั่งในสภามาถึง 10 ที่นั่ง เป็นพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ที่นั่งมากที่สุด

ชาวอาระกันคาดหวังว่า นางอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลคราวนั้นเพราะได้เสียงมากที่สุดจะเลือกคนจากพรรคแห่งชาติอาระกันเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะรัฐมนตรีประจำรัฐ แต่ปรากฏว่า นางซูจีเลือกคนของพรรคตัวเองเป็นแทน ทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเมื่อทหารและตำรวจเมียนมาออกปฏิบัติการณ์กวาดล้างโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2017 มีชาวพุทธออกมาประท้วง มีการใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมทำให้มีชาวพุทธเสียชีวิต

4 มกราคม 2019 ขณะที่มีการเฉลิมฉลองวันฉลองเอกราชจากอังกฤษของพม่า กองทัพอาระกันโจมตีป้อมตำรวจพม่าในรัฐยะไข่ ทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 13 นาย

กองทัพพม่าตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังนับหมื่นนายเข้าไปในรัฐยะไข่ กองทัพอารกันที่ส่วนหนึ่งในรับการฝึกจากกองกำลังชาติพันธุ์คะฉิ่นสู้ยิบตา มีการใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง ปฏิบัติการจิตวิทยา รวมถึงการวางระเบิดและลักพาตัวเจ้าหน้าที่และนักการเมืองพม่า ทำให้ทหารพม่าไม่สามารถปราบกองทัพอารกันได้

รัฐบาลของนางอองซานซูจีขึ้นป้าย ประกาศให้กองทัพอาระกันเป็นกลุ่มก่อการร้าย เป็นองค์กรนอกกฎหมาย เป็นกองกำลังที่เข้มแข็งมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในบรรดากองกำลังชาติพันธุ์ทั้งหมด และนั่นก็เป็นสิ่งที่อธิบายว่า หลังการยึดอำนาจของนายพลมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาร์ได้ประกาศถอนชื่อ AA จากกลุ่มการร้ายทันที

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเพื่อเป็นการตัดกำลังคนที่ต่อต้านกองทัพ นอกจากถอดรายชื่อ AA จากองค์กรก่อการร้ายแล้ว กองทัพเมียนมายังเสนอตำแหน่งทางการเมืองให้กับสมาชิกพรรคแห่งชาติอากันด้วย

ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่จับมือมือกับ CRPH องค์กรที่จัดตั้งโดย สส และคนของพรรคเอ็นแอลดีเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพจึงยังไม่มีชื่อของกองทัพอารกัน

ชาติพันธุ์ 3 กลุ่มหลักที่เป็นพันธมิตรกับ CRPH และจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพเมียนมาในขณะนี้คือ

1. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS)

2. กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง(KNLA)

3. และกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)

ตอนนี้กองทัพเมียนมาก็ต้องรับมือหนักกับ 3 กลุ่มนี้ แต่ล่าสุดอาจต้องหนักเพิ่ม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังอาระกันหรือ AA ซึ่งประกาศหยุดยิงชั่วคราวกับกองทัพเมียนมาหลังถูกถอดออกจากการเป็นกลุ่มก่อการร้าย ได้เปลี่ยนท่าทีแล้ว

รอยเตอร์อ้างอิงคำพูดของโฆษกกองทัพอาระกัน ไข่ ตู ข่า ที่ระบุว่า เศร้าสลดใจต่อการใช้กำลังปราบปรามประชาชนของทหารเมียนมาการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่โหดเหี้ยมและไม่สามารถยอมรับได้

มีข้อที่น่าสังเกตุว่า ท่าทีล่าสุดที่เปลี่ยนไปของกองทัพอาระกันเกิดขึ้นหลังจากสมาชิกคนสำคัญของ CRPH ซาไล หม่อง ไทน่ แซน หรือดอกเตอร์ชาซ่าซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก CRPH ให้เป็นทูตผู้แทนประจำสหประชาชาติ (UN) ออกมาแถลงยอมรับว่า ทหารเมียนมาได้กระทำการอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจริงด้วยการสังหารกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และเขาสัญญาว่าจะนำความยุติธรรมคืนให้ชาวโรฮิงญา

ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่เป็นไปได้ว่าหัวอกของกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกันคือปัจจัย การกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้อพยพเกือบล้านหนีตายไปยังบังกลาเทศ ประเทศแกมเบียนำเรื่องนี้ร้องต่อศาลโลก โดยรัฐบาลเมียนมาที่นำโดยนางอองซานซูจีปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด ตัวเธอถึงกับปกป้องการกระทำของทหารพม่าในศาลโลกด้วย

นอกจากจากท่าทีของกองทัพอาระกันที่เปลี่ยนไป ประชาสังคมในรัฐยะไข่ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีท่าทีใดๆ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อประณามการยึดอำนาจและการใช้ความรุนแรงของทหารเมียนมาด้วย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ