ศักยภาพ “กองทัพเมียนมา” ติดอันดับ 38 จาก 139 ประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 27 มี.ค. 2564 จะเป็นวันครบรอบ 76 ปี กองทัพเมียนมา หนึ่งในกองทัพที่มีประวัติยาวนาน และยังคงมีอิทธิพลในฐานะสถาบันสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามปีนี้ไม่เหมือนปีก่อนๆ เมื่อกองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับเสียงต่อต้านรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด ย้อนชมเส้นทางของกองทัพเมียนมา ตลอดจนความแข็งแกร่งในฐานะกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของอาเซียน

ทหารเมียนมาบุกบ้านเด็ก 7 ขวบที่เสียชีวิต หวังยึดศพจากครอบครัว

สหรัฐฯคว่ำบาตร ผบ.ตร.-ผบ.หน่วยปฏิบัติการพิเศษเมียนมา

กองทัพเมียนมา มีชื่อว่า ทัตมะดอว์  ซึ่งทัตมะดอว์ ในภาษาเมียนมาแปลว่า กองทัพแห่งความยิ่งใหญ่ จุดก่อกำเนิดของทัตมะดอว์มีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับการเมืองสมัยใหม่ที่เริ่มนับตั้งแต่ช่วงพม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ในคราวนั้น กลุ่มคนหนุ่มที่มีแนว คือ ชาตินิยมที่นำโดยนายพลอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี เข้าฝึกอาวุธกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามเอเชียมหาบูรพา เพื่อหวังปลดปล่อยพม่าออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

กองกำลังนี้ก็เข้มแข็งขึ้น ก่อกำเนิดเป็น Burma Defense Army (BDA) เมื่อสงครามโลกใกล้จบและญี่ปุ่นกำลังเพลี่ยงพล้ำ นายพลอองซาน ก่อตั้งองค์กรลับใต้ดิน ต่อต้านญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ แปรเปลี่ยนให้กองกำลังนี้เป็นกองทัพกู้ชาติ ก่อนจะแสดงตัวเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร วันที่ 27 มีนาคม ปี 1945 ในนามขององค์กรใต้ดิน กองกำลัง BDA เข้าโจมตีกองกำลังญี่ปุ่น  หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาและนาซากิของญี่ปุ่น  ก่อนที่ในวันที่ 2 กันยายน ปี 1945 ญี่ปุ่นจะประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นจุดยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

พม่ากลายเป็นฝ่ายที่อยู่ข้างผู้ชนะ หลังจากสงครามโลกสิ้นสุด 3 ปี พม่าก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชื่อของ BDA ถูกเปลี่ยนเป็น Burma National Army หรือกองทัพแห่งชาติพม่า ส่วนวันที่ 27 มีนาคม วันที่กองกำลัง BDA โจมตีกองกำลังญี่ปุ่นกลายเป็นวันสำคัญของชาติที่เรียกว่า “วันกองทัพ”

 

ความเป็นไปและความสัมพันธ์ของการเมืองและกองทัพพม่าแยกกันไม่ออกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เพราะหลังได้รับเอกราช พม่ายังต่อเผชิญกับการสู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการอิสระในการปกครองตนเอง รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ กองทัพวางตัวเองไว้ในฐานะผู้พิทักษ์ความมั่นคง ที่ประเทศชาติจะขาดไม่ได้

จากกองกำลังเล็ก ๆ ที่ชื่อ BDA กองทัพพม่าขยายกำลังพลและอาวุธอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายพลมินอ่องหล่าย กองทัพระดมซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ประเทศที่ขายให้คือ จีน รัสเซีย และอินเดีย ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ มีทั้งปืน รถถัง ไปจนถึงอากาศยานไร้คนขับรุ่นใหม่ล่าสุด และเรือดำน้ำ

 

โดยช่วงปี 2018 - 2019 กองทัพเมียนมาใช้งบประมาณของประเทศร้อยละ 13-14 ไปกับกองทัพ งบประมาณดังกล่าวสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 61,000 ล้านบาท Global Fire Power ระบุว่า ในปี 2021 กองทัพเมียนมามีศักยภาพอยู่ที่อันดับ 38 จากทั้งหมด 139 ประเทศ

10 อันดับแรกคือ  1.สหรัฐอเมริกา 2.รัสเซีย 3.จีน 4.อินเดีย 5.ญี่ปุ่น 6.เกาหลีใต้ 7.ฝรั่งเศส  8.สหราชอาณาจักร 9.บราซิล และ 10.ปากีสถาน โดยเวียดนามอยู่ที่อันดับ 24 ไทยอยู่ที่อันดับ 26 เกาหลีเหนืออยู่ที่อันดับ 28 และเมียนมาอยู่ที่อันดับ 38

การจัดอันดับศักยภาพของกองทัพแต่ละประเทศ พิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นเทคโนโลยี จุดยุทธศาสตร์ งบประมาณ และกำลังพล ถ้าวัดจากจำนวนกำลังพลเพียงอย่างเดียว ข้อมูลจากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติระบุว่า เมียนมาถูกจัดอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก มีทหารทั้ง 3 เหล่ารวม 549,000 นาย ส่วนศักยภาพโดยรวม กองทัพเมียนมาถูกจัดให้อยู่อันดับ 38 จากทั้งหมด 139 ประเทศถือว่าสูงสำหรับประเทศที่รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่  150 บาทต่อวัน

 

ในฐานะผู้พิทักษ์ประเทศ กองทัพเมียนมายึดกุมอำนาจทางการเมืองด้วย ถึงแม้ว่าในทางเทคนิคเมียนมาจะเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยแล้วหลังเปิดประเทศจนนำมาสู่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015  ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 1 ใน 4 ของสมาชิกรัฐสภาเป็นของกองทัพโดยอัตโนมัติ กระทรวงสำคัญได้แก่ มหาดไทย กลาโหม และกิจการชายแดน เป็นของทหาร ในทางเศรษฐกิจ กองทัพก็อยู่ในทุกอณู กลุ่มบริษัท 2 กลุ่มคือ Myanmar Economic Holding Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corporation (MEC ) ที่มีกิจการนับร้อยในมือ นับตั้งแต่เบียร์ ธนาคาร พลังงาน ท่าเรือจนถึงเหมืองแร่ เป็นกิจการของกองทัพ

 

โดยปกติวันที่ 27 มีนาคม จะเป็นวันแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเมียนมา ในช่วงหลังๆมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกาศหยุดยิงเข้าร่วมเพื่อรำลึกถึงวันที่พม่าลุกขึ้นรบกับญี่ปุ่น แต่ปีนี้จะเปลี่ยนไป การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ตามมาด้วยการปราบปรามประชาชนอย่างหนักทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำถึงขีดสุด ไม่เหลือคราบของผู้พิทักษ์ชาติอีกต่อไป ประชาชนออกมาประท้วง ประณาม กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งที่เคยร่วมและไม่ร่วมเจรจาข้อตกลงหยุดยิงมีท่าทีแข็งขืนมากขึ้นเรื่อยๆ เกือบทั้งหมดไม่รับคำเชิญของกองทัพเมียนมาเพื่อเข้าร่วมพิธีในวันกองทัพเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เป็นไปได้สูงว่า ทัตมะดอว์ กองทัพแห่งความยิ่งใหญ่ของเมียนมา อาจจะอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวมากที่สุดในรอบ 70 ปี

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ