ผู้เสียชีวิตเมียนมาทะลุ 500 ศพ บางรายถูกเผาไหม้เกรียม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สองเดือนแล้วนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นสองเดือนที่มีชาวเมียนมาตายไปแล้วอย่างน้อย 500 ศพจากกระสุนของทหาร บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน

กระสุนของกองทัพ กับการลุกฮือของชาวเมียนมา

สถานทูตจีนจี้ “เมียนมา”ยุติม็อบรุนแรง

แต่ก่อนที่จะไปดูสถานการณ์วันนี้ ที่ผ่านมาเรามักเห็นภาพของผู้ประท้วงที่ถ่ายโดยผู้สื่อข่าวหรือประชาชนทั่วไป  วันนี้เราพบภาพจากกล้อง GoPro ที่ติดอยู่กับผู้ประท้วง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญมีอะไรบ้าง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ในเมืองโมนยวา เขตซะไกง์

จากภาพจะเห็นผู้ประท้วงค่อยๆ เคลื่อนไปยังแนวหน้า เพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่หลบอยู่หลังบังเกอร์ ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังระรัว ไม่ต่างจากในภาพยนตร์  รายงานจาก AAPP จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดมีอย่างน้อย 510 รายแล้ว ที่เพิ่มขึ้นเร็วมาจากการปราบปรามอย่างนองเลือดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  หญิงชาวเมียนมาวัย 26 ปีรายนี้คือหนึ่งในผู้เสียชีวิตเมื่อสุดสัปดาห์  รายงานระบุว่า เธอร่วมประท้วงในนครย่างกุ้ง และถูกยิงเข้าที่ศีรษะ

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการจัดงานศพให้กับเธอ บรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า และภายในงาน ผู้คนมากมายพร้อมใจกันชูสามนิ้วสัญลักษณ์ของการประท้วง

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการประท้วงในวันจันทร์ที่ผ่านมา หรือเมื่อวานนี้มีอย่างน้อย 14 ราย ในจำนวนนี้ 8 รายเสียชีวิตในนครย่างกุ้ง ไล่ดูการประท้วงในวันนี้ เริ่มที่เมืองทวาย คนจำนวนมากออกมาเดินขบวนชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี

ส่วนที่ย่างกุ้ง ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งนำขยะมาเทเกลื่อนท้องถนน โดยระบุว่าเป็นการทำ Garbage strike  การเชิญชวนให้ผู้คนเอาขยะออกมาทิ้ง เป็นวิธีหนึ่งของการทำอารยะขัดขืน

แต่พื้นที่วิกฤตสุดในย่างกุ้งขณะนี้คือ เขตเซาท์ดากอน เป็นหนึ่งในพื้นที่กฎอัยการศึก หรือที่หลายคนเรียกว่า ใบอนุญาตให้ฆ่าอย่างเสรี

โลกโซเชียลมีเดียของเมียนมาเผยภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่นั่นรายงานระบุว่า ทหารตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ จากนั้นก็ไล่ยิงผู้คนด้วยปืนไรเฟิลและปืน RPG บนโลกออนไลน์คนจำนวนมากติดแฮชแทก Save South Dagon เพื่อเรียกร้องให้ทหารยุติการปราบอย่างโหดเหี้ยม  แต่กองทัพไม่สนใจเสียงใดๆทั้งสิ้น

ชาวบ้านระบุว่า เมื่อคืนทั้งคืน ในเขตเซาท์ดากอนมีเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เข้าสู่ช่วงเช้า เวลาประมาณ 7 โมง ก็ปรากฏภาพสยอง เป็นร่างของมนุษย์คนนหึ่งที่ถูกเผาจนไหม้เกรียม รายงานระบุว่า เขาคือผู้ประท้วงที่เป็นเยาวชน  นับเป็นรายที่สองแล้วที่ถูกเผาทั้งเป็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ชายวัย 40 ปี ในมัณฑะเลย์ถูกทหารยิงและโยนร่างเข้ากองไฟ

นอกจากตามเมืองต่างๆ ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับความรุนแรงจากกองทัพแล้ว อีกพื้นที่ที่ต้องติตดามคือรัฐกะเหรี่ยง

วันเสาร์ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด ชาวบ้านจำนวนหลายพันคนต้องหนีตายมายังชายแดนไทย  การโจมตีทางอากาศต่อเนื่องจนถึงวันอาทิตย์ วันจันทร์และในวันนี้  กองทัพเมียนมายังคงระดมการโจมตีทางอากาศในรัฐกระเหรี่ยงต่อเนื่อง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน คนจำนวนมากได้รับบางเจ็บ ผู้บาดเจ็บบางรายที่สาหัสมีการหามข้ามชายแดนมารักษายังโรงพยาบาลในไทย  ส่วนที่เหลือก็ต้องหนีมาหลบในป่า หลบในถ้ำ เพราะกลัวว่ากองทัพเมียนมาจะทิ้งระเบิดลงมาอีก

จากภาพจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยสำนักข่าวอิรวดีรายงาน ล่าสุดคาดกัว่ามีชาวกะเหรี่ยงราว 10,000 คนแล้ว ที่อพยพทิ้งบ้านหนีตายออกมา ในจำนวนนี้ราว 3,000 คนเดินทางมายังชายแดนไทย ส่วนอีกราว 8,000 คนกระจายกันหนีเข้าป่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง เราให้ฟังจากปากของหนึ่งในผู้บาดเจ็บที่ข้ามแดนมารักษาอาการในประเทศไทย

สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่คำถามว่า นานาชาติจะทำอย่างไรต่อกับกองทัพเมียนมา รวมไปถึงบรรดาองค์กรสำคัญระดับโลกอย่าง สหประชาชาติก็ถูกจับตาท่าทีเช่นกัน เพราะตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา มีเพียงแค่ถ้อยประณาม และการคว่ำบาตรเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจหยุดยั้งการกระทำอันเหี้ยมโหดของกองทัพได้

ล่าสุดในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ Channel News Asia ของสิงคโปร์รายงานว่า คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาตินัดหารือด่วนในวันพรุ่งนี้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา

คณะมนตรีความมั่นคงคือองค์กรที่มีอำนาจที่สุดของยูเอ็น มีอำนาจในการออกมาตรการต่างๆเช่น การคว่ำบาตร จนไปถึงการส่งกำลังเข้าไปดูแลหรือแทรกแซงเพื่อยุติความขัดแย้งในประเทศต่างๆ เป็นหนึ่งในความหวังที่ชาวเมียนมายึดไว้ เพื่อยุติการปราบปรามของทหาร

การเรียกประชุมฉุกเฉินในวันพรุ่งนี้ ทาง Channel News Asia ระบุว่า เป็นการริเริ่มของอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมของพม่า เป็นการประชุมแบบปิด  โดยก่อนการประชุม ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติ คริสติน ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ จะเป็นผู้รายงานสถานการณ์ให้สมาชิกรับฟังก่อน

ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นคนนี้คือคนที่ติดต่อพูดคุยและได้รับสารจากผู้นำกองทัพเมียนมาว่า ไม่หวั่นต่อมาตรการลงโทษจากประชาคมโลก เพราะเคยชินและสามารถเอาตัวรอดจากมาตรการลงโทษมาแล้วในอดีต เธอคือหนึ่งในคนที่ออกมาเตือนว่า สงครามที่แท้จริงกำลังจะเกิดขึ้น และเธอได้ส่งสาส์นนี้ไปที่การประชุมคณะมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยูเอ็นใช้มาตรการที่เข้มขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในคราวนั้น คณะมนตรีความมั่นคงทำได้แค่การออกแถลงการณ์ให้ยุติการใช้ความรุนแรง เนื่องจากมาตรการที่เข้มกว่านี้ถูกคัดค้านโดยสมาชิกถาวร 2 ชาติคือ จีนและอินเดีย คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น มีสมาชิกถาวร 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน

นับตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจจากพลเรือนเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาจำนวนมากวิงวอนให้ยูเอ็นดำเนินมาตรการ R2P หรือใช้กำลังทหารแทรกแซง เพื่อเข้าช่วยเหลือปกป้องพลเรือนในพม่า แต่มาตรการนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า คงไม่มีทางผ่านการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคง

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ