ผู้ประท้วงเมียนมา ใช้ดอกไม้สู้กับปืน “Flower Strike”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้อินเตอร์เนตในเมียนมาถูกตัดเกือบโดยสิ้นเชิง แม้ทหารจะขู่ว่าจะปราบปรามถ้าออกมาประท้วง แต่ชาวเมียนมาก็ไม่หวั่น สิ่งที่ใช้ในการประท้วงคือ ดอกไม้

วันนี้ในหลายเมืองใหญ่ของเมียนมามีผู้ประท้วงพร้อมดอกไม้คนละช่อ นี่เรียกกันว่า “Flower Strike” จุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงบรรดาผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพ ที่ขณะนี้ตัวเลขมีอย่างน้อย 540 คนแล้ว

ครบ 2 เดือน รัฐประหารเมียนมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 521 คน

นอกจากเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนแล้ว ยังพร้อมใจกันนำช่อดอกไม้ไปวางไว้ที่ป้ายรถเมล์ตามถนนสายต่างๆ อีกด้วย
ป้ายรถเมล์คือสิ่งที่สะท้อนถึงความรุนแรง เพราะคนที่ออกมาประท้วง บางคนอาจไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน

ส่วนในจุดที่ไม่มีป้ายรถเมล์ ดอกไม้ถูกวางยังจุดอื่นๆ แทน อย่างเมืองตองยี ในรัฐฉาน ดอกไม้ถูกติดไว้ที่ริมรั้ว เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาเห็น หรือในเขตไลงก์ หนึ่งเขตของย่างกุ้งที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากเอาดอกไม้มาวางยังริมรั้ว ระบุว่า มอบให้แก่ผู้กล้าหาญที่ไม่มีวันได้กลับบ้านอีกแล้ว

ส่วนบนโลกออนไลน์ ผู้คนจำนวนมากโพสต์ภาพชูสามนิ้วคู่กับดอกไม้ สื่อถึง “Spring Revolution” ซึ่งหมายถึงการปฏิวัติเพื่อความเปลี่ยนแปลง นัยหนึ่งนอกจากจะไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตแล้ว ยังเป็นการให้กำลังใจผู้ประท้วงด้วยกัน เพื่อให้ยังคงมีแรงสู้ต่อ

กองทัพเมียนมา รัวกระสุนไม่หยุด หวั่นเป็นรัฐล้มเหลว

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 540 ราย ถูกจับกุมอีกอย่างน้อย 2,729 คนในจำนวนนี้มีข้อมูลน่าตกใจเมื่อผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพียงเยาวชน

สำนักข่าวอิรวดีรวบรวมภาพถ่ายของเด็กๆ ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของทหาร ภาพเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะรายงานจากองค์กร Save the children ระบุว่า ขณะนี้มีเด็กๆ อย่างน้อย 43 คนแล้วที่เสียชีวิต ในจำนวนนี้มีถึง 15 คนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี โดยเด็กที่สุดมีอายุเพียง 6 ขวบเท่านั้น

สิ่งที่น่าหดหู่ก็คือ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่นี้ มีจำนวนหนึ่งที่พวกเขาไม่ได้ออกไปประท้วงด้วยซ้ำ บางคนอยู่บ้านเฉยๆ บางคนใช้ชีวิตปกติ เดินทางไปทำงาน แต่กลับถูกกระสุนของกองทัพสังหารไปด้วย โดยรายล่าสุดคือ พนักงานหญิงของธนาคารสัญชาติเกาหลี ที่งานศพของเธอเกิดขึ้นในวันนี้ในย่างกุ้ง

ผู้เสียชีวิตคือ ซู ซู จี พนักงานธนาคารชินฮันวัย 33 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างกำลังนั่งรถตู้กลับบ้านหลังเลิกงาน ผ่านด่านทหารและถูกเรียกให้จอด แต่คนขับปฏิเสธ ทหารได้กราดยิงเข้าไปในรถ กระสุนถูกเข้าที่หัวของซู ซู จี เสียชีวิต ธนาคารชินฮันประกาศให้พนักงานทุกคนทำงานจากที่บ้าน เพื่อความปลอดภัย

ผู้เสียชีวิตเมียนมาทะลุ 500 ศพ บางรายถูกเผาไหม้เกรียม

นอกจากจะปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยมและไร้เหตุผลแล้ว อีกสิ่งที่กองทัพเมียนมาทำคือความพยายามปิดกั้นข่าวสาร ปิดอินเตอร์เน็ต ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ตัดไฟฟ้า ในหลายพื้นที่

และล่าสุดมีรายงานว่า ชาวเมียนมาที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวของ CNN ที่ขณะนี้กำลังลงพื้นที่ทำข่าวอยู่ ได้ถูกกองทัพจับกุมตัวไปเรียบร้อย ยังไม่มีรายละเอียดของผู้ที่ถูกจับกุมมากนัก แต่พยานเล่าว่า ทั้งคู่เป็นผู้หญิง โดยพวกเธอให้สัมภาษณ์กับคาริสา วาร์ด นักข่าวหญิงจาก CNN แต่แล้วเมื่อทีม CNN จากไป ก็มีทหารเข้าจับกุมตัวพวกเธอ
ซึ่งจากภาพถ่ายที่ปรากฏ จะเห็นว่าผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์นั้นได้ชูสามนิ้วขึ้นมาด้วย

ปิดท้ายสถานการณ์ประท้วงด้วยภาพถ่ายที่กำลังเป็นไวรัล เป็นภาพจากเมืองมัณฑะเลย์ ชายคนนี้ถูกทหารยิงจนได้รับบาดเจ็บ แต่ในขณะที่กำลังทำแผล เขายังคงยิ้มออกมาให้กับกล้อง ชาวเน็ตหลายคนระบุว่า ภาพนี้สะท้อนว่าคนเมียนมาไม่กลัวกองทัพ และยังคงมีกำลังใจดีในการต่อสู้
ผู้ประท้วงเมียนมา ใช้กลยุทธ์ใหม่ รับมือการถูกปราบปราม

 


 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ