มีวัคซีนโควิด-19 ไม่เท่ากับ "รอด" บทเรียนพึงศึกษาจาก "ชิลี"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชิลีฉีดวัคซีนโควิด-19 เกินครึ่งประเทศ แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง บทเรียนสำคัญที่ไทยควรศึกษา

นักร้องหนุ่ม แชร์ประสบการณ์ติดโควิด ตรวจ 3 ครั้งไม่พบ ฉีดวัคซีนแล้ว เจอเชื้อครั้งที่ 4

“ซีอีโอไฟเซอร์” ชี้ อาจต้องฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็มทุกปี หลังพบภูมิคุ้มกันลดลง

เดนมาร์กระงับใช้วัคซีนโควิด-19 “แอสตราเซเนกา” เป็นการถาวร

เอนริเก ปารีส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชิลีกำลังถูกโจมตีไม่น้อยจากประชาชน หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. โดยทะลุ 9,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด และตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 7,000 รายต่อวัน

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ชิลีเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจากประชากรราว 19 ล้านคน มีถึง 12 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 65 ของประชากรทั้งประเทศ

ด้วยเหตุนี้ระบบสาธารณสุขและบุคลากรการแพทย์ชิลีจึงกลับมาวุ่นวายอีกครั้ง พร้อมคำสั่งล็อกดาวน์ประเทศปิดพรมแดนเป็นครั้งที่สอง

โซเฟีย ปินโต ชาวเมืองซานติอาโกบอกว่า “รู้สึกเหมือนเรากำลังถอยหลัง เราจำเป็นต้องดาวน์โหลดใบอนุญาตพิเศษทางออนไลน์เพื่อให้ได้รับอนุญาตออกจากบ้านเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่ออกมาทำธุระที่จำเป็น เช่น การซื้ออาหารหรือการไปพบแพทย์”

ความไม่พอใจและความสับสนชาวชิลีส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปีเญรา ได้โอ้อวดว่า ชิลีมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เร็วติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะนำมาสู่วถีชีวิตปกติของประชากร แต่สถานการณ์กลับดูจะไม่เป็นไปตามนั้น

ข้อวิจารณ์หนึ่งคือ รัฐบาลชิลีลุ่มหลงอยู่ในชัยชนะตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ผ่อนคลายข้อจำกัดและมาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 เร็วจนเกินไป

พรมแดนของชิลีถูกปิดโดยมีข้อยกเว้นบางประการเมื่อเดือน มี.ค.-พ.ย. 2020 ทำให้อัตราพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยลดลงเหลือ 1,300 ราย จึงมีการตัดสินใจเปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

ชาวชิลียังได้รับอนุญาตให้มีวันหยุดพิเศษให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างอิสระในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ร้านอาหาร ร้านค้า และรีสอร์ต กลับมาเปิดบริการอีกครั้งในช่วงวันหยุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

ประชากรกลุ่มแรกในชิลีเริ่มได้รับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพในแนวหน้า ผู้ที่อายุมากกว่า 90 ปี และครู เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ารับวัคซีน ดังนั้น เมื่อวันหยุดฤดูร้อนมาถึง รัฐบาลเปิดประเทศ การณ์กลับกลายเป็นว่า “ชาวชิลีส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน” ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ขึ้น

นอกจากนี้ ชิลียังประสบกับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากบราซิล “P.1” ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกว่า

ดร.ซูซาน บูเอโน ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจาก Pontifical Catholic University กล่าวว่า การระบาดระลอกล่าสุดเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัยแต่โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่มี “ผลกระทบอย่างมาก”

เธอกล่าวว่า มาตรการและวิธีป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ ล้วนถูกละเลยในช่วงฤดูร้อนในชิลี

อีกปัญหาหนึ่งที่เธอตั้งข้อสงสัยคือ วัคซีนโควิด-19 ที่ชิลีใช้ ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค จากการศึกษาที่ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยชิลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (เป็นภาษาสเปน) ได้พิจารณาถึงระดับการป้องกันของวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค

ผลการศึกษาในชิลีพบว่า วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคมีประสิทธิภาพร้อยละ 56.5 ในการปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19 สองสัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนครบสองโดส และ “แทบไม่ส่งผลใด ๆ” หากได้รับวัคซีนดังกล่าวไปเพียงโดสเดียว

สิ่งนี้อาจให้เบาะแสสำคัญว่าเหตุใดจึงยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจำนวนที่ไม่น้อยลงเลยในชิลี โดยเพิ่งมีประชากรราว 7.4 ล้านคนได้รับวัคซีนโดสแรก และมีเพียง 4.3 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส

กระนั้น ดร.บูเอโนยืนยันว่า วัคซีนที่มีอัตราประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 50 กถือว่ามีประโยชน์แล้ว เพราะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อหลายคนมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย เธอเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือไม่มีใครในการทดลองที่จำเป็นต้องเข้าไอซียู

เธอยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคป้องกันการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยที่รุนแรงจากโควิด-19 ได้ และยังพิสูจน์ได้ว่า มีผลกับสายพันธุ์บราซิล

ปัจจุบัน ชิลีมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 1.1 ล้านราย เสียชีวิตมากกว่า 24,000 ราย

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราจะพบว่าสถานการณ์คล้ายคลึงกันในบางด้าน หนึ่งคือเราต้องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สองคือวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เรามีความมั่นใจว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ สามคือเราใช้วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคเช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราอาจพอเทียบได้ว่า หากประเทศเรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบสองโดสได้เพียงพอแล้วตัดสินใจเปิดประเทศ สิ่งที่รอเราอยู่ก็คงเป็นสถานการณ์แบบชิลีที่สุดท้ายจบลงด้วยการล็อกดาวน์

 

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ