ไทม์ไลน์เหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรียบเรียงเหตุการณ์ความขัดแย้งซึ่งนำมาสู่การปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มชาวปาเลสไตน์

จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มชาวปาเลสไตน์ นิวมีเดีย พีพีทีวี เรียบเรียงเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อความคิดความเชื่อที่แตกต่างนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่

ดินแดนอิสราเอลเดิมนั้น เชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของชาวยิว แต่ด้วยเหตุพลิกผันทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่น เช่น อียิปต์ ยุโรป ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นชาวอาหรับกลุ่มหนึ่ง และชาวอาหรับอื่น ๆ เข้ามาปกครองพื้นที่แทน

ยูเอ็น จี้ อิสราเอล - ปาเลสไตน์ หยุดยิงถล่ม ด้านสหรัฐฯ ประณาม “กลุ่มฮามาส”

กลุ่มฮามาส ยิงจรวดกว่า 100 ลูก ถล่มเมืองเยรูซาเลม ตอบโต้อิสราเอล

ต่อมา ชาวยิวต้องการหวนคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง จนเกิดความไม่ลงรอยกันกับชาวอาหรับซึ่งก็มองว่า พวกเขาปกครองพื้นที่แถบนี้มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว

ทำให้ในช่วงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอิสราเอลช่วงปี 1948 ชาวยิวซึ่งต้องการสร้างรัฐชาติยิวขึ้นมาได้ทำสงครามยึดดินแดนกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับอื่น ๆ จนในที่สุด ฝ่ายอิสราเอลก็ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไป และพื้นที่ส่วนน้อยที่เหลือก็เป็นของฝั่งอาหรับ ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่า “ฉนวนกาซา (Gaza Strips)”

ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มนั้นอยู่ในเขตซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้บอกว่า เป็นเขตกลางที่ห้ามใครเป็นเจ้าของ ห้ามขับไล่ใคร ห้ามยึดดินแดนแห่งนี้ แต่การณ์กลับปรากฏว่า มักเกิดเหตุการณ์ชาวอิสราเอลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่

ความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จากการบังคับให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ถูกขับออกจากพื้นที่ใกล้เคียงของ ชีคจาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ในเยรูซาเล็มตะวันออก โดยมีการอ้างกฎหมายว่า ชาวยิวที่มีหลักฐานว่าเคยอยู่ในอิสราเอลก่อนการสร้างชาติปี 1948 สามารถทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แม้มีครอบครัวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ก็ตาม

นั่นทำให้ชาวปาเลสไตน์มองว่า นี่เป็นความพยายามของอิสราเอลที่จะขับไล่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากออกจากเยรูซาเล็ม เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชาวยิวส่วนใหญ่ไว้ ทำให้เหตุการณ์ในเยรูซาเล็มคุกรุ่นตลอดมา และใกล้ถึงจุดแตกหักในช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เปิดการปะทะกันตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ยิ่งบานปลาย เมื่อในวันศุกร์ที่ 7 พ.ค. ผู้นับถือศาสนาอิสลามหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่มัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของศาสนาอิสลาม เพื่อทำการละหมาดในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวดของตำรวจอิสราเอลที่บอกว่า การรวมกลุ่มกันของชาวปาเลสไตน์นอกเขตเมืองเก่า (Old City) ถือเป็นความผิด

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการประท้วงจากฝั่งชาวปาเลสไตน์ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ฝ่ายผู้ประท้วงขว้างปาเก้าอี้ รองเท้า ก้อนหิน ขณะที่ตำรวจยิงกระสุนยางและระเบิดเสียง จนสุดท้ายมีชาวปาเลสไตน์ 205 คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอล 17 คนได้รับบาดเจ็บ

และตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลได้ทำการจู่โจมอย่างฉับพลันในบริเวณอัลอักซอ มีการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และระเบิดเสียงใส่ผู้ที่มาชุมนุมกันอีกครั้ง ทำให้เกิดการปะทะจนชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บมากกว่า 300 คน และเจ้าหน้าที่อิสราเอลราว 20 คนก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน

ฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์ตามระบอบประชาธิปไตยให้ปกครองอยู่ในฉนวนกาซา ได้ประกาศในเวลาต่อมาว่า ได้ยื่นคำขาดให้อิสราเอลปลดกองกำลังรักษาความปลอดภัยออกจากบริเวณอัลอักซอและย่านชีคจาร์ราห์ภายในเวลา 18.00 น.

วันอังคารที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ความขัดแย้งยกระดับขึ้น กลุ่มฮามาสยิงจรวดไปยังอิสราเอลจำนวน 200 ลูก 130 ลูก โจมตีเมืองเทลอาวีฟ และมีหลายลูกมีเป้าหมายที่เยรูซาเล็ม โดยระบบป้องกันโดมเหล็กของอิสราเอลสกัดกั้นระเบิดไว้ได้หลายจุด มีชาวอิสราเอลอย่างน้อย 2 คนถูกสังหารในวันดังกล่าว

อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้อาคาร อะพาร์ตเมนต์ ในฉนวนกาซา คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 26 คน รวมถึงเด็กด้วย และสังหารผู้บัญชาการอาวุโสของกลุ่มฮามาสไปได้ 4 คนและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของฮามาสอีกหลายสิบคน

แม้จะมีการเรียกร้องให้มีการลดระดับความรุนแรงของความขัดแย้งลง แต่เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศว่า “ความรุนและความถี่ของการโจมตีจะเพิ่มขึ้นในฉนวนกาซา”

อิสมาอิล ฮานิยา ผู้นำฮามาสบอกกับผู้ไกล่เกลี่ยว่า “หากพวกเขา (อิสราเอล) ต้องการที่จะขยายการโจมตี เราก็พร้อมแล้ว และหากพวกเขาต้องการหยุดโจมตี เราก็พร้อมแล้ว”

ล่าสุด อิสราเอลยังคงรุกขึ้นหน้าด้วยการโจมตีทางทหารอย่างดุเดือดในฉนวนกาซา โดยยังคงดำเนินการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้อาคารสูงบางแห่งถล่มลงมา

ขณะที่กลุ่มฮามาสก็ยังคงยิงจรวดไปยังอิสราเอลแม้ในช่วงคืนวันพุธ (12 พ.ค.) ที่ผ่านมาจนถึงช่วงเกือบเช้ามืด และชาวอิสราเอลหลายพันคนต้องหลบเข้าไปในศูนย์พักพิงอีกครั้งในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (13 พ.ค.) หลังจากมีเสียงไซเรนเตือนภัยในเมืองหลวงเทลอาวีฟ

ยังไม่มีอัปเดตตัวเลขการบาดเจ็บล้มตายที่แน่ชัด มีเพียงรายงานว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 67 คนในฉนวนกาซา หลายคนเป็นเด็ก ส่วนอิสราเอลมีผู้เสียชีวิต 7 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กเช่นกัน

การปะทะกันระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะยังคงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หรือหากพูดให้ถูกต้อง นับแต่มีการสร้างชาติอิสราเอลในปี 1948 นับแล้วตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีความปรองดองอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในอิสราเอล

เรียบเรียงจาก Aljazeera / The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ