แอมเนสตี้เรียกร้องประชาคมโลกร่วมยุติความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่า กองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา ต้องไม่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซ้ำอีก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า นับแต่วันที่ 10 พ.ค. กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ได้ยิงจรวดกว่า 1,500 ลูกเข้าไปยังเขตพลเรือนตอนกลางของอิสราเอล และตามเมืองต่าง ๆ ใกล้กับพรมแดนฉนวนกาซา ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

ด้านกองกำลังอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศเพื่อสังหาร และทำให้พลเรือนในฉนวนกาซาได้รับบาดเจ็บ ทั้งยังสร้างความเสียหายและทำลายอาคารที่พักอาศัยอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของครอบครัวชาวปาเลสไตน์หลายครอบครัว และเป็นตึกสำนักงานอีกตึกหนึ่งในฉนวนกาซา โดยเป็นการโจมตีอย่างมีเป้าหมาย

อิสราเอล ส่งรถถัง-ทหาร ประชิดชายแดนฉนวนกาซา ชาวปาเลสไตน์ ดับแล้ว 103 ศพ

อิสราเอล ปูพรมถล่มฉนวนกาซ่า ดับนับร้อยคน สหรัฐฯ จี้ปาเลสไตน์ หยุดยิงจรวด

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ถล่มกันยับ โลกหวั่นเกิดสงคราม

ความรุนแรงครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 53 คน รวมทั้งเด็ก 14 คนในฉนวนกาซา และ 7 คนในอิสราเอล

ซาเลห์ ฮีกาซี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่รุนแรงขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ทำให้กังวลว่าจะมีการนองเลือดของพลเรือนที่เพิ่มขึ้นอีกมาก รวมทั้งการทำลายบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้ ต่างมีพันธกรณีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะต้องคุ้มครองพลเรือน พวกเขาต้องรำลึกว่า ในปัจจุบันศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูลอย่างเต็มที่ และพวกเขาต้องไม่คิดเอาเองว่า จะสามารถลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดแบบที่ผ่าน ๆ มาได้

“ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายกับการปะทะกันอย่างน่ากลัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2551, 2555 และ 2557 อันเป็นเหตุให้พลเรือนต้องเป็นฝ่ายรับเคราะห์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและการทำลายทรัพย์สินเกิดขึ้นในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกปิดกั้นอย่างผิดกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการลงโทษแบบเหมารวมตั้งแต่ปี 2550 

“ทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้ ต่างมีพันธกรณีอย่างเบ็ดเสร็จที่จะต้องคุ้มคอรงพลเรือน” ซาเลห์ ฮีกาซี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“ทั้งกองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม และการละเมิดอย่างอื่นโดยไม่ต้องรับผิดมาก่อน อิสราเอลมีสถิติที่น่าเศร้าใจจากการโจมตีอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายในฉนวนกาซา ทั้งการสังหารและทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ก็ได้ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยไม่ต้องรับผิดเช่นกัน”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประณามกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง จากการยิงจรวดโดยไม่เลือกเป้าหมาย

“การยิงจรวดที่ขาดเป้าหมายอันแม่นยำไปยังเขตที่ประชาชนอาศัยอยู่ อาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม และทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตพลเรือนทั้งสองฝ่าย ทั้งในอิสราเอล/ พรมแดนฉนวนกาซา” ซาเลห์ ฮีกาซีกล่าว

ในอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์วัย 50 ปี ซึ่งเป็นพลเมืองของอิสราเอล กับลูกสาววัย 15 ปี ถูกจรวดยิงใส่จนเสียชีวิตในหมู่บ้านโดห์มอชซึ่งไม่มีสถานะตามกฎหมาย โดยตั้งอยู่ด้านนอกของเมืองลิดดา ทางตอนกลางของอิสราเอล ชุมชนแห่งนี้ไม่มีทางเชื่อมต่อไปยังอาคารหลบภัย และไม่มีการติดตั้งสัญญาณเตือนผ่านระบบไซเรน กรณีที่มีการยิงจรวดมาจากฉนวนกาซา

การลงโทษแบบเหมารวมหรือ Collective Punishment

ในฉนวนกาซา กองกำลังอิสราเอลได้โจมตีอาคารที่พักอาศัยหลายแห่ง ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 พฤษภาคม โดยอาคารฮานาดี เรสซิเดนเชียล ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่พักอาศัย 13 ชั้น ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง โดยมีการเตือนให้พลเรือนย้ายออกก่อนจะมีการยิงระเบิดใส่ ตึกอัล-จอฮารา ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน ก็ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ในขณะที่ตึกอัล-ชูรุค ก็ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองเช่นกันในวันที่ 12 พฤษภาคม อาคารอื่น ๆ ได้รับความเสียหายบางส่วน เนื่องจากมีการเล็งเป้าหมายที่อาคารบางแห่ง 

“การพุ่งเป้าโจมตีวัตถุของพลเรือน และการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวางและปราศจากความชอบธรรม ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม การทำลายตึกหลายชั้นซึ่งเป็นที่พักอาศัยทั้งหลัง ส่งผลให้หลายสิบครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย ย่อมถือเป็นการลงโทษแบบกลุ่มต่อประชากรชาวปาเลสไตน์ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” 

“แม้ว่าบางส่วนของอาคารจะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร แต่ทางการอิสราเอลมีพันธกรณีต้องเลือกแนวทางและวิธีการโจมตี ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยสุดต่อพลเรือนและทรัพย์สินของพวกเขา”  

“การทำลายตึกหลายชั้นซึ่งเป็นที่พักอาศัยทั้งหลัง ส่งผลให้หลายสิบครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย ย่อมถือเป็นการลงโทษแบบกลุ่มต่อประชากรชาวปาเลสไตน์ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ซาเลห์ ฮีกาซี กล่าว

การโจมตีที่มีเป้าหมายเป็นห้องพักอาศัยที่อยู่ชั้นบนสุดของตึกเจ็ดชั้นชื่อ “ทีบา อพาร์ตเมนต์” ส่งผลให้ผู้หญิงคนหนึ่งและลูกชายวัย 19 ปีที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเสียชีวิต โดยทั้งสองคนอาศัยอยู่ในชั้นล่างถัดลงมา 

การโจมตีอาคารที่พักอาศัย 14 ชั้นที่ชื่อ “อัล-จันดี อัล-มาจฮูล” ส่งผลให้สมาชิกชาวปาเลสไตน์สามคนของกลุ่มอิสลามิกญีฮัดเสียชีวิต พลเรือนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว และตื่นขึ้นจากเสียงระเบิดบอกว่า 

“อาคารสั่นไหวทั้งหลังอย่างน่ากลัว....เมื่อพวกเราไปดูที่หน้าต่าง....พวกเราต่างมองหน้ากันเลิกลัก และพากันตะโกนร้อง ‘ออกไปจากอาคารทันที’ เพราะกำลังถูกโจมตี....อีกไม่กี่นาทีต่อมา ดิฉันออกไปข้างนอก และมีคนมาดึงดิฉันไปพ้นจากอันตราย....ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลกที่พูดเช่นนี้ เพราะความจริงแถวนั้นไม่มีพื้นที่ใดที่ปลอดภัยและเหมาะแก่การหลบภัยได้เลย 

“จนถึงตอนนี้ [อาคาร] ยังไม่ [ถล่มลงมา] แต่ความหวาดกลัวในใจก็ทำให้เราแย่มากพอแล้ว เราไม่สามารถหลับได้เลย เสียงระเบิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดิฉันมีลูกสาวอายุสองขวบครึ่ง และครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกสำหรับเธอ ดิฉันกลัวมาก และไม่รู้จะปลอบเธอได้อย่างไร” เธอกล่าว และเสริมว่า “ที่มันน่าตกใจเพราะพวกเขาสามารถเล็งเป้าหมายบุคคลที่ต้องการสังหารได้อย่างแม่นยำแบบที่เขาทำกับตึกของเรา แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขากลับเลือกที่จะทำลายตึกทั้งหลังจนราบเป็นหน้ากลอง มันหมายความว่าอย่างไร? ดิฉันเชื่อว่าอาคารทั้งหลังไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างแน่นอน”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ ให้ประณามอย่างเปิดเผยต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกดดันคู่กรณีของความขัดแย้งทุกฝ่ายให้คุ้มครองพลเรือน สหรัฐฯ ต้องหยุดเตะถ่วง และยอมให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงทันที  

“ประชาคมระหว่างประเทศยังต้องกดดันอิสราเอลให้แก้ไขสาเหตุที่รากเหง้า โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบนี้ เป็นผลมาจากการลอยนวลพ้นผิดอย่างยาวนานจากอาชญากรรมสงคราม และการละเมิดอย่างร้ายแรงอื่น ๆ ต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” 

“สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ต้องแสดงจุดยืนที่หนักแน่นและเปิดเผย และประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธที่รอบด้านต่ออิสราเอล กลุ่มฮามาส และกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ โดยทันที โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคู่กรณีในความขัดแย้งนี้อีก” 

“ประชาคมระหว่างประเทศยังต้องกดดันอิสราเอลให้แก้ไขสาเหตุที่รากเหง้า โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบนี้ เป็นผลมาจากการลอยนวลพ้นผิดอย่างยาวนานจากอาชญากรรมสงคราม และการละเมิดอย่างร้ายแรงอื่น ๆ ต่อกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายการพัฒนาพื้นที่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย การปิดกั้นการเข้าออกของฉนวนกาซา และการบังคับขับไล่และยึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ อย่างที่เกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตชีค จาร์ราห์ (Sheikh Jarrah)” ซาเลห์ ฮีกาซีกล่าว

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ