ชีวิตใน "กาซา" ชีวิตที่ถูกปิดล้อม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กาซาเสมือนเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากหลายปีของการปิดล้อมโดยกองกำลังอิสราเอล ผู้อยู่อาศัยที่เป็นชาวปาเลสไตน์จำนวน 2 ล้านคน ไม่มีอิสรภาพ ทั้งยังเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต เมื่อสาธารณูปโภคขาดแคลนเป็นระยะ

ในขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นไปอย่างจำกัด จุดประสงค์คือบีบคั้นให้ทนไม่ไหว นี่คือบทหนึ่งของการลงโทษแบบเหมารวมโดยมีเป้าหมายกำจัดพรรคฮามาสที่ปกครองกาซา วันนี้ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตพลเรือนไปร่วม 200 คน การลงโทษแบบเหมารวมบทใหม่กำลังเกิดขึ้นซ้ำเติมชีวิตคนกาซา

ทันทีที่รถยนต์ตรงเข้ามา เสียงจอแจก็ดังขึ้น ผู้ลี้ภัยหน้าใหม่กระเตงลูกหลาน หอบข้าวของเท่าที่ขนมาได้ลงจากรถ ไม่นานรถอีกคันก็เข้ามาสมทบ ส่วนใหญ่ของผู้โดยสารคือผู้หญิงและเด็ก

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ถล่มกันยับ โลกหวั่นเกิดสงคราม

อิสราเอล ถล่มตึกสำนักข่าวต่างชาติชื่อดัง ในฉนวนกาซา

 

นับตั้งแต่การโจมตีทางอากาศระหว่างกลุ่มฮามาสและกองทัพอิสราเอลเริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะนี้จำนวนผู้ลี้ภัยในฉนวนกาซามีมากกว่า 18,000 คนแล้ว พวกเขาทิ้งบ้านเรือนเก็บของเท่าที่จำเป็นขึ้นรถ ในรายที่ยากจนต้องเดินเท้า เป้าหมายคือโรงเรียน เพราะเชื่อว่าในเวลาวิกฤตเช่นนี้ นี่คือสถานที่ปลอดภัย

ไม่ไกลจากโรงเรียน บางจุดของฉนวนกาซามีควันดำลอยคลุ้ง ประจักษ์พยานของการโจมตีล่าสุด ส่วนตรงจุดนี้เคยมีอาคาร ก่อนที่ทุกอย่างจะพังราบลงมา คนที่นี่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในชั่วข้ามคืน

ด้วยสถานะพื้นที่ขัดแย้งเรื้อรังยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นอีกครั้งที่ฉนวนกาซาต้องกลายเป็นสนามรบ 8 วันแล้วที่ทั้งอิสราเอลและฮามาสยังคงแลกจรวดใส่กัน และผู้ที่รับกรรมคือประชาชน ชีวิตในรัฐปาเลสไตน์คือชีวิตที่ยากลำบาก แต่ความลำบากนี้ยังต่างระดับกันไปตามพื้นที่

ในเยรูซาเลมตะวันออก คนปาเลสไตน์ยังพอมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคนยิวที่ต้องการยึดคืนดินแดน ส่วนในเวสต์แบงก์ คนปาเลสไตน์ถูกจำกัดพื้นที่ และการเดินทางเข้าออกต้องผ่านจุดตรวจของอิสราเอล ที่ตั้งกระจัดกระจายเคียงคู่ไปกับกำแพงสูงใหญ่กั้นขวางที่อยู่อาศัยระหว่างสองชนชาติ

แต่ชีวิตของคนปาเลสไตน์ในสองพื้นที่ข้างต้นก็ยังดีกว่าชีวิตของคนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เพราะนี่คือพื้นที่ที่ยากจนข้นแค้นและถูกจำกัดอิสรภาพที่สุด

แอมเนสตี้เรียกร้องประชาคมโลกร่วมยุติความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่เล็กๆ เพียง 360 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับกับจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรนียนในประเทศอิสราเอล ที่นี่คือหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด ด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยมากถึง 2 ล้านคน

เดิมฉนวนกาซาคือดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ในความดูแลของอียิปต์ แต่ชัยชนะของอิสราเอลในสงครามหกวันเมื่อปี 1967 ส่งผลให้ที่นี่ถูกยึดครองเช่นเดียวกับเวสต์แบงก์ และนครเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก

อิสราเอลเคยตั้งถิ่นฐานในกาซา แต่ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นบ่อยครั้งทำให้ชาติยิวตัดสินใจถอนประชาชนทั้งหมดออกจากกาซาในปี 2005 หลังจากวันนั้นกาซากลายเป็นดินแดนของปาเลสไตน์โดยสมบูรณ์ แต่สถานะใหม่นำมาซึ่งความยากลำบาก

เสียงตะโกน “ไฟฟ้ามาแล้ว” ถูกส่งต่อจากบ้านสู่บ้าน ผู้คนลุกขึ้นเร่งรีบทำกิจกรรมที่คั่งค้าง ลมเย็นๆ จากพัดลมหวนกลับคืน แสงจอโทรทัศน์สว่างขึ้นอีกครั้ง โทรศัพท์มือถือได้รับการต่อชีวิตหลังดับไปนานหลายชั่วโมง

ที่นี่คือพื้นที่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา สถานที่ที่ไฟฟ้าเป็นช่วงเวลานาทีทอง และทุกคนทราบดีว่าต้องรีบเร่ง กอบโกย ก่อนที่ไฟจะดับลงอีกครั้ง เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้อยู่อาศัยที่นี่มีไฟฟ้าใช้เพียง 3 - 4 ชั่วโมงต่อวัน

“ไบเดน” ต่อสายคุย ผู้นำอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หลังสู้รบยืดเยื้อนาน 7 วัน

 

มาห์หมุดเจ้าของร้านซักรีดในฉนวนกาซามีเวลาทำงานไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าไฟมาเมื่อไหร่ ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังใช้เวลาพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ทันทีที่เพื่อนบ้านวิ่งมาบอกว่าไฟมาแล้ว เขารีบวิ่งกลับไปที่ร้านเพื่อรีดผ้ากองโตให้เสร็จ บางครั้งไฟฟ้าก็กลับมาในตอนกลางดึก และมาห์หมุดยอมอดหลับอดนอนชีวิตที่ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าของผู้คนที่นี่คือความไม่ปกติที่กลายมาเป็นเรื่องปกติ นี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ของอิสราเอล เพื่อบีบคั้นชาวปาเลสไตน์

หลังอิสราเอลถอนตัวออกจากกาซาในปี 2005 ปีต่อมาการเลือกตั้งครั้งแรกของปาเลสไตน์เกิดขึ้น แต่แทนที่ มาห์หมุด อับบาส ผู้นำคนใหม่ของ PLO กลุ่มการเมืองที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์มานานจะเป็นฝ่ายชนะ ผู้ชนะกลับเป็นพรรคฮามาส

สำหรับชาวกาซา พรรคฮามาสคือความหวังในการต่อสู้กับอิสราเอล หลังที่ผ่านมา PLO  ดำเนินท่าทีแบบประนีประนอมมากเกินไป หนึ่งในความไม่พอใจคือข้อตกลงออสโลเมื่อปี 1993 ที่ส่งผลให้ปาเลสไตน์ถูกแบ่งพื้นที่ไปให้ชาติยิว

แต่สำหรับอิสราเอลและชาติตะวันตก ท่าทีแข็งกร้าวและสุดโต่งของฮามาสคือกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง

ปี 2007 ความขัดแย้งระเบิดเป็นการปะทะกันระหว่างกองกำลังฮามาสและทหารอิสราเอลที่ฉนวนกาซา ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตายมากมาย กองกำลังฮามาสยึดกาซาเป็นฐานที่มั่น ในขณะที่อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อม จำกัดการนำเข้าไฟฟ้า น้ำ อาหาร ยา เพื่อกดดันให้ชาวกาซาลุกขึ้นมาต่อต้านพรรคฮามาส

กาซาจึงเสมือนเรือนจำเปิด ประชาชนติดอยู่ที่นี่ร่วมกับพรรคฮามาส โดยมีอิสราเอลเป็นพัศดี วันดีคืนดีอาจมีน้ำไฟให้ใช้ แต่พรุ่งนี้อาจไม่มี ที่กาซา ไฟดับลงอีกครั้ง ทั้งฉนวนถูกคลุมด้วยราตรีอันมืดมิด

มาห์หมุดหยุดทำงาน เหลือเพียงร้านรวงไม่กี่แห่งที่ยังคงเปิดกิจการได้เพราะเครื่องปั่นไฟ มันต่อเวลาให้ใครหลายคนสามารถหาเงินเลี้ยงปากท้อง และสำหรับอับดุลลาห์ ซาคูต มันต่อลมหายใจให้พ่อของเขา

ด้วยวัยเกือบ 70 ปี โรคหืดหอบที่เป็นโรคประจำตัวส่งผลให้พ่อของอับดุลลาห์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทุกสองชั่วโมง ในฉนวนกาซา ผู้คนส่วนใหญ่เกิดที่นี่ มีบ้างที่อพยพเข้ามาหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948

ผลจากการปิดล้อมโดยอิสราเอลตลอดทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนที่นี่ไม่มีงานทำ พวกเขายากจน และรอความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติเป็นครั้งคราว

รายงานจาก Worldbank กาซาทุกวันนี้ยากจนยิ่งกว่าเมื่อทศวรรษ 1990 อัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวพุ่งเป็นร้อยละ 60ขาดแคลนปัจจัย 4 ทั้งยังไม่อาจหนีออกไปได้ นี่คือบทลงโทษที่ผู้คนในกาซาต้องเผชิญ เพียงเพราะอิสราเอลต้องการให้พรรคฮามาสหมดอำนาจ

7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความมืดมิด ท้องฟ้าของกาซาสว่างวาบด้วยแสงระเบิดจากจรวดของอิสราเอล ฮามาสและกองทัพอิสราเอลเปิดฉากการต่อสู้ครั้งใหม่ แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องรับกรรม

ชีวิตในกาซาที่เดิมถูกปิดล้อมโดยทุกทาง ยากลำบากยิ่งกว่าเดิมเมื่อต้องหลบหนีการโจมตีทางอากาศด้วย ไม่มีใครทราบได้ว่าเมื่อไหร่การลงโทษแบบเหมารวมนี้จะสิ้นสุดลง

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ