เล่านาทีระทึกโจมตีฉนวนกาซ่า ชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แรงงานไทยในอิสลาเอลเล่านาทีระทึกโจมตีฉนวนกาซ่า หลังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาทเจ็บอีก 8 คน

จากการโจมตีด้วยจรวดโดยกลุ่มฮามัสที่โมชาฟ โอฮัด (Ohad) ในเมือง เอชโคล (Eshkol) ซึ่งอยู่ห่างจากฉนวนกาซ่า ประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 14.35 น. แรงระเบิดทำให้คนงานไทย เสียชีวิตจำนวน 2 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย

ด่วน! แรงงานไทย ในอิสราเอล โดนระเบิดเสียชีวิต 2 ราย เจ็บอีก 8 คน

เปิดชื่อ 10 แรงงานไทย เสียชีวิต-บาดเจ็บ หลังโดนระเบิดในอิสราเอล นายกฯสั่งเร่งช่วยเหลือ

จุดที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากแคมป์ที่พักอาศัยของแรงงานไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมี นาย ภูมิริน เจริญยิ่ง อยู่ด้วย เปิดเผยในรายการเข้มข่าวค่ำ กับคุณสุทธิชัย หยุ่น เล่านาทีระทึกว่า 

 

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นช่วงบ่ายเป็นช่วงที่แรงงานบางส่วนกำลังอยู่ในช่วงพักเบรกจากงาน หลังจากได้ยินเสียงสกัดระเบิดบนฟ้าเพียงเสี้ยววินาที แคมป์แรงงานที่อยู่ห่างจากเขาประมาณ 50-60 เมตรเกิดไฟลุกขึ้น จากนั้นแรงงานไทยที่อาศัยในแคมป์ดังกล่าวต่างพากันวิ่งหนีออกมา พร้อมคนบาดเจ็บ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

"มันลงมา 3 ลูก ลูกหนึ่งคาดว่าลงจุดที่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บ อีกลูกลงหลังแคมป์ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง แต่ก็มีสะเก็ดกระเด็นมาโดนหลังห้องพัก เครื่องใช้เสียหาย ส่วนอีกลูกลงที่แคมป์ข้างๆ ช่วงที่คนไทยกำลังพักผ่อนทำให้มีผู้เสียชีวิต"

หลังเกิดเหตุการณ์ราวครึ่งชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ทหาร แพทย์ เข้ามาเคลียร์พื้นที่ และช่วยเหลือคนเจ็บ เพื่อส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดซึ่งห่างจากแคมป์ 5-6 กิโลเมตร ด้านกรมแรงงานไทยได้เข้ามาช่วยเหลือแล้วเช่นกัน

 

แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ทำงานในสวนมะเขือเทศ ใกล้ฉนวนกาซา หมู่บ้านที่อยู่ชื่อโกฮาร์ด ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

ตั้งแต่ ภูมิริน มาอยู่ที่นี่ได้ 2 ปีกว่าก็มีการปะทะกันทุกสัปดาห์ และยิ่งแคมป์ของเขาอยู่ใกล้ฐานทัพมีกองกำลังทหารอยู่หลายนายทำให้ได้ยินเสียงระเบิดบ่อยจนชินเพราะปกติจะสามารถสกัดระเบิดได้ตั้งแต่อยู่บนฟ้า หรือ ไปตกในพื้นที่โล่ง แต่ครั้งนี้ถือว่าใกล้ตัวมากที่สุด

“ในตอนแรกที่มาก็กลัว ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือคิดถูกที่มา แต่ทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว “

สำหรับจำนวนแรงงานงานไทยในบริเวณดังกล่าวคาดว่าจะมีอยู่ราวๆ 200-300 คน เพราะนายจ้าง 1 นายจ้างจะมีแรงงานไทยประมาณ 20 คน ซึ่งหมู่บ้านที่เขาอยู่มีประมาณ  7-8 นายจ้าง แต่ละแคมป์จะมีบังเกอร์เป็นของตัวเอง และจะมีสัญญาณเตือนให้วิ่งไปที่บังเกอร์ แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยทัน แรงงานก็จะหมอบตรงจุดนั้นเลย อยู่ตรงไหนก็หมอบตรงนั้น

" บังเกอร์อยู่ติดกับห้องก็จริงแต่ถ้าเราอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของแคมป์ ถ้ามันลงจริงๆ ไม่มีโอกาสได้วิ่งหรอกครับ ก็หมอบเลย ถ้าเข้ามาในน่านฟ้า เขตหมู่บ้านจะมีไซเรนประกาศตลอด แต่บางทีก็ไม่ทันประกาศได้คำสองคำก็ระเบิดซะแล้ว "

หลังเหตุการณ์ล่าสุด พวกเขาตัดสินใจหยุดงานเพื่อดูสถานการณ์ โดยนายจ้างแนะนำให้พวกเขานอห่างกัน ไม่อยากให้รวมตัวกัน ให้กระจายกันอยู่ในที่ที่ปลอดภัย 

ขณะในอีกด้านหนึ่งที่ภูมิรินสะท้อนถึงปัญหาของพี่น้องแรงงานไทยคือ จุดที่แรงงานไทยกลุ่มนี้อยู่ห่างไกลจากเขตเมืองหรือเขตที่อยู่อาศัย ทำให้เจ้าหน้าที่แรงงานดูแลไม่ทั่วถึง ถึงแม้เขาจะทราบดีถึงสิทธิแรงงานไทยหากได้รับความเสี่ยงก่อนที่จะเดินทางมาทำงานที่นี่ แต่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของค่าตอบแทนซึ่งมักไม่ได้ตามกฎหมายกำหนดกำหนด

" ส่วนใหญ่อยู่นายจ้างทำตามกฎหมายหรือไม่ครับ ไม่ใช่ทุกราย แต่มีน้อยมากที่จะได้ตามกฎหมายในสัญญาจ้าง ก็อยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาถึงเขตที่ห่างไกล เพราะถ้าเขตไหนกฎหมายเข้าถึงค่าแรงได้ตามกฎหมายถือว่าคุ้มค่า แต่ถ้าเขตไหนกฎหมายเข้าไม่ถึง ค่าแรงก็จะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด " ภูมิรินกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ