สรุปเหตุการณ์ 11 วัน ความขัดแข้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรียบเรียงเรื่องราวการปะทะกันของอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งล่าสุดในปี 2021 นี้ กับความขัดแย้งที่ยังไม่มีทางแก้ไข

หลังจากปะทะกันมาอย่างต่อเนื่องนานถึง 11 วัน ในที่สุดอิสราเอลและกลุ่มฮามาสก็ตัดสินใจหยุดการโจมตีกันและกัน

ความขัดแย้งช็อกโลกระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา (Gaza Strip) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นความขัดแย้งที่ดำรงมาอย่างยาวนาน

นิวมีเดีย พีพีทีวี พาย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้ง 11 วันนี้อีกครั้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตสูงถึง 232 ราย ในนี้ 65 รายเป็นเด็ก และมีชาวอิสราเอลเสียชีวิต 12 ราย เป็นเด็ก 2 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน

อิสราเอลหยุดยิงกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์

เล่านาทีระทึกโจมตีฉนวนกาซ่า ชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอล

ไทม์ไลน์เหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”

ก่อนการปะทะกันด้วยขีปนาวุธ

ก่อนจะมาถึงวันนี้ ความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลพอกพูนมาอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย

แต่ความขัดแย้งโดยเบื้องต้นนั้นเกิดจากว่า เดิมทีชาวอิสราเอลหรือชาวยิว และชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวอาหรับ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างเรื่องความเป็นเจ้าของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของ 3 ศาสนา คือ คริสต์ ยิว และอิสลาม

และในช่วงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอิสราเอลช่วงปี 1947-1948 ชาวยิวซึ่งต้องการสร้างรัฐชาติยิวขึ้นมาได้ทำสงครามยึดดินแดนกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับอื่น ๆ

จนในที่สุด ฝ่ายชาวยิวก็ชนะสงคราม ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไปและก่อตั้งอิสราเอลขึ้นมา ส่วนพื้นที่ส่วนน้อยที่เหลือก็เป็นของฝั่งอาหรับ ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่า “ฉนวนกาซา (Gaza Strips)”

ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มนั้นอยู่ในเขตซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้บอกว่า เป็นเขตกลางที่ห้ามใครเป็นเจ้าของ ห้ามขับไล่ใคร ห้ามยึดดินแดนแห่งนี้ แต่มักเกิดเหตุการณ์ชาวอิสราเอลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่

ปัญหาดังกล่าวยังคงลากยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีครอบครัวชาวปาเลสไตน์ถูกขับออกจากพื้นที่ใกล้เคียงของ ชีคจาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ในเยรูซาเล็มตะวันออก โดยมีการอ้างกฎหมายว่า ชาวยิวที่มีหลักฐานว่าเคยอยู่ในอิสราเอลก่อนการสร้างชาติปี 1947 สามารถทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แม้มีครอบครัวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ก็ตาม

เหตุการณ์ยิ่งบานปลาย เมื่อในวันที่ 7 พ.ค. ผู้นับถือชาวปาเลสไตน์ผู้นับถือศาสนาอิสลามหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่มัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของศาสนาอิสลาม เพื่อทำการละหมาดในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวดของตำรวจอิสราเอลที่บอกว่า การรวมกลุ่มกันของชาวปาเลสไตน์นอกเขตเมืองเก่า (Old City) ถือเป็นความผิด

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการประท้วงจากฝั่งชาวปาเลสไตน์ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ฝ่ายผู้ประท้วงขว้างปาเก้าอี้ รองเท้า ก้อนหิน ขณะที่ตำรวจยิงกระสุนยางและระเบิดเสียง

10 พ.ค.

การประท้วงและการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องจนวันที่ 10 พ.ค. ก็ยังคงเกิดขึ้น ทำให้ ฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์ตามระบอบประชาธิปไตยให้ปกครองอยู่ในฉนวนกาซา ได้ประกาศในเวลาต่อมาว่า ได้ยื่นคำขาดให้อิสราเอลปลดกองกำลังรักษาความปลอดภัยออกจากบริเวณอัลอักซอและย่านชีคจาร์ราห์ภายในเวลา 18.00 น. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลใช้กำลังปะทะกับผู้ชุมนุม

แต่ทางอิสราเอลนิ่งเงียบและไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีใด ทำให้กลุ่มฮามาสยิงจรวดไปยังอิสราเอลและกรุงเยรูซาเล็มรวมกว่า 200 ลูก

11 พ.ค.

การประท้วงและการจลาจลในวงกว้างรุนแรงขึ้นทั่วอิสราเอลโดยเฉพาะในเมืองที่มีประชากรอาหรับจำนวนมาก

ต่อมาอิสราเอลปฏิบัติการทางอากาศจู่โจมฉนวนกาซา จนอาคารที่อยู่อาศัยความสูง 13 ชั้นพังถล่มลงมา

อาคารดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและสำนักงานพาณิชย์หลายแห่ง ด้านกองกำลังป้องกันของอิสราเอล (IDF) กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่ตั้งสำนักงานของกลุ่มฮามาส และบอกว่า ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าแก่พลเรือนในอาคารและให้เวลาเพียงพอสำหรับการอพยพออกจากพื้นที่แล้ว

หลังจากนั้น 5 นาที ฮามาสตอบโต้ด้วยการยิงจรวดกว่าร้อยลูกใส่กรุงเทลอาวีฟ เมืองสำคัญของอิสราเอล

12 พ.ค.

มีจรวดกว่า 850 ลูกข้ามเข้ามาในเขตของอิสราเอลจากฉนวนกาซา และมีจรวดจากอิสราเอลกว่า 200 ลูกตกลงไปในฝั่งของกลุ่มฮามาส

จรวดหลายลูกของฮามาสพุ่งตรงใส่อาคารและรถยนต์ในอิสราเอล ทำให้มีชาวอิสราเอลได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

IDF ประกาศว่า ให้ปิดโรงเรียนทั้งหมดในภาคกลางและตอนใต้ของอิสราเอลตลอดทั้งสัปดาห์

13 พ.ค.

อิสราเอลระดมกองกำลังราว 9,000 คน และทำการโจมตีกลุ่มฮามาสหลายครั้งในฉนวนกาซา ด้านฮามาสยิงจรวดไปยังสนามบินนานาชาติรามอนของอิสราเอล และใช้โดรนติดอาวุธจำนวนหนึ่งรุกเข้ามา

ฮามาสยื่นข้อเสนอหยุดยิง โดยระบุว่าพร้อมที่จะหยุดการโจมตีหากอิสราเอลหยุดด้วยเช่นเดียวกัน แต่ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลปฏิเสธ ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติก็ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงทันที

14 พ.ค.

กองทัพภาคพื้นดินและทางอากาศของอิสราเอลอ้างว่า กำลังโจมตีฉนวนกาซาทั้งจากภาคพื้นดินและทางอากาศ

มีการตั้งข้อสงสัยว่า รายงานการบุกโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอลเป็นอุบายโดยเจตนาที่จะหลอกล่อกลุ่มฮามาสให้เข้ามาในอุโมงค์ และล่อให้มาเผชิญหน้ากับกองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอล เพื่อที่จะถูกการโจมตีทางอากาศจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลระบุว่า การโจมตีดังกล่าวได้สังหารบุคลากรของกลุ่มฮามาสหลายร้อยคน และนอกจากนี้ผู้บัญชาการของกลุ่มฮามาส 20 คนยังถูกลอบสังหาร และความสามารถในการผลิตจรวดส่วนใหญ่ถูกทำลาย

15 พ.ค.

IDF โจมตีอาคาร Al-Jalaa ในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าว Al Jazeera และ AP รวมถึงเป็นสำนักงานและอะพาร์ตเมนต์ อาคารดังกล่าวถูกยิงด้วยขีปนาวุธอย่างน้อย 4 ลูกประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่กองกำลังอิสราเอลประกาศเตือนแผนการโจมตีและแนะนำให้ผู้อยู่ในอาคารทั้งหมดอพยพ

โฆษกทหารของอิสราเอลยืนยันว่า อาคารของสำนักข่าวดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่ซ่อนของหน่วยข่าวกรองทางทหารของฮามาส แต่สำนักข่าว AP ซึ่งใช้อาคารนี้มาเป็นเวลา 15 ปีกล่าวว่า พวกเขาไม่เคยเห็นสมาชิกกลุ่มฮามาสในอาคารเลย

16 พ.ค.

ในช่วงกลางคืนมีการยิงจรวด 40 ลูกจากฉนวนกาซาไปยังอิสราเอล ด้าน IDF กล่าวว่า พวกเขาเริ่มปฏิบัติการระยะที่ 2 ที่จะทำลายอุโมงค์ใต้ดินในฉนวนกาซา โดยทิ้งระเบิด 100 ลูกจากเครื่องบินขับไล่หลายสิบลำ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และประธานาธิบดี มาห์มูด อับบาส

17 พ.ค.

การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลกระทบห้องปฏิบัติการทดสอบโควิด-19 แห่งเดียวในฉนวนกาซา ผู้อำนวยการแผนกเวชศาสตร์ป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 วันเพื่อให้ห้องปฏิบัติการกลับมาทำงานได้อีกครั้ง

18 พ.ค.

อียิปต์ประกาศว่าจะทุ่มเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15.7 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างฉนวนกาซาขึ้นใหม่หลังจากอิสราเอลโจมตีด้วยขีปนาวุธ

การโจมตีด้วยขีปนาวุธของกลุ่มฮามาสทำให้แรงงานจากไทยเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 ราย

19 พ.ค.

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู อีกครั้ง โดยกล่าวกับอิสราเอลว่า “เขาคาดหวังว่าจะมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญที่จะนำไปสู่การหยุดยิง”

20 พ.ค.

ทางการอิสราเอลประกาศเมื่อช่วงดึกว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการหยุดยิงร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีอียิปต์เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งฮามาสก็ออกมายืนยันยอมรับข้อตกลง

21 พ.ค.

ทั้งสองฝ่ายเริ่มยุติการโจมตีตั้งแต่เวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (06.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) แต่ก่อนหน้าเวลาที่ตกลงกันไว้ 10 นาทียังคงมีการยิงจรวดอยู่

ไบเดนออกมาแสดงความยินดีกับข่าวข้อตกลงดังกล่าว เขาอธิบายว่านี่เป็น “โอกาสที่แท้จริงในการก้าวไปสู่สันติภาพของตะวันออกกลาง” และขอบคุณประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล ฟาตาห์ อัล-ซีซี สำหรับบทบาทในฐานะคนไกล่เกลี่ย

“ผมเชื่อว่าชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลสมควรที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและมั่นคงเท่าเทียมกัน และได้รับเสรีภาพความเจริญรุ่งเรืองและประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน” ไบเดนกล่าว

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในครั้งนี้นับเป็นความรุนแรงครั้งล่าสุดถัดจากสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 โดยล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนว่า หลังจากทั้งสองฝ่ายหยุดปะทะกันแล้วนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม นานาชาติได้รับโจทย์เดิมกลับมาในมืออีกครั้งว่า “ทำอย่างไร จึงจะเกิดสันติภาพที่ยั่งยืนได้ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้”

โดมินิก แรบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า “ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเพื่อยุติวงจรความรุนแรงและการสูญเสีย” และเสริมว่า อังกฤษพร้อมสนับสนุน “ความพยายามในการทำให้เกิดสันติภาพ”

เรียบเรียงจาก Aljazeera / BBC / The Guardian / The Washington Post

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ