ส่อง "แคมเปญฉีดวัคซีนโควิดต่างประเทศ" บางประเทศกระจายล่าช้า คนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล และขาดแคลนวัคซีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้ (7 มิ.ย.64) วันดีเดย์การฉีดวัคซีนโควิดของประเทศไทยปูพรมทั่วประเทศ ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลก ณ ขณะนี้อยู่ที่ 2.12 พันล้านโดสใน 176 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันไป

แคมเปญฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก หลายประเทศมีแนวทางบริหารวัคซีนโควิด-19 ที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะมาดูตัวอย่างประเทศที่มีปัญหาการจัดการวัคซีนโควิด-19 ล่าช้า ทั้งที่มีวัคซีนโควิด-19 ล้นมือ และประเทศที่ล่าช้าเพราะขาดแคลนวัคซีนโควิด-19

เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 206 รายใน กทม.

วัคซีนโควิดเข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน พบภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าเกณฑ์

ประเทศญี่ปุ่น  

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนล่าช้ามากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเริ่มฉีดช่วงกลางเดือน ก.พ.2564  ซึ่งปัญหาหลักคือ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์  ทำให้กระจายวัคซีนล่าช้า

 

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ กฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดให้การฉีดวัคซีนต้องทำโดยแพทย์และพยาบาลเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะแพทย์และพยาบาลต้องรับมือกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย รวมถึงการอนุมัติต่อวัคซีนโควิด-19 ที่นำเข้าด้วยกระบวนการขั้นตอนที่เข้มงวดมาก คือต้องทดลองฉีดให้อาสาสมัครในระดับท้องถิ่นก่อน ซึ่งจุดนี้นับว่าแตกต่างจากประเทศอื่นๆ  

ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1 ล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดส  ของประชากร ล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ 

สวนทางกับจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในมืออย่างไฟเซอร์ ส่วนโมเดอร์นาและแอสตร้าเซเนก้า เพิ่งผ่านอนุมัติฉุกเฉินเมื่อเดือน พ.ค. รวมๆ แล้วมีจำนวนวัคซีนโควิด-19 เพียงพอที่จะสามารถฉีดได้เกือบ 500,000 โดสต่อวัน และสามารถแบ่งปันให้ประเทศอื่นๆได้ เช่น เวียดนามและมาเลเซีย

เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มดังขึ้น เพียงช่วงเวลา 2 สัปดาห์ ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มอัตราเร่งในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 4 เท่า ทั้งการขยายและเพิ่มผู้ที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์เหมาะสมที่สามารถเข้ามาช่วยการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่น ทันตแพทย์ อดีตพยาบาลที่เกษียณอายุ หรือออกจากงาน  มาเป็นอาสาสมัครในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ ขยายกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปที่คนกลุ่มคนวัยทำงานและย่านสถานบันเทิง มากขึ้นเดียวจากเดิมเน้นไปที่ผู้สูงอายุ

ฟิลิปปินส์ 

ช่วงกลางเดือน พ.ค.เริ่มมีการออกมาเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่มีอยู่จะหมดอายุลงเสียก่อน ซึ่งผ่านมาเกือบครึ่งปี มีชาวฟิลิปปินส์เพียง 2.03 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 58 ล้านถึง 70 ล้านคนเพื่อให้ประเทศได้รับภูมิคุ้มกันหมู่

ฟิลิปปินส์ได้รับมอบวัคซีนโควิด-19 จากหลากหลายผู้ผลิต รวมทั้งได้รับบริจาควัคซีนซิโนแวคจากจีน และรอการส่องมอบวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า จากโครงการโคแว็กซ์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะสั่งจากสปุตนิก วี และ ไฟเซอร์ อีก ซึ่งในช่วงแรกแม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีแผนจัดซื้อที่หลากหลายและได้รับบริจาค แต่การฉีดก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า 

เคยมีกรณีที่ประชาชนเกือบ 3,000 คน มารอฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ แต่ปรากฏว่ามีเพียง 900 โดส เท่านั้น กระแสสังคมเริ่มตั้งคำถามไปที่ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต หลังเคยเกิดความผิดพลาดกรณีนำเข้าซิโนฟาร์ม ทั้งที่ยังไม่ผ่าน อย.ในประเทศ จนต้องส่งคืน ส่งผลทำให้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ออกมาแก้เกมด้วยการสั่งซื้อไฟเซอร์อีกราวๆ 40 ล้านโดส เพื่อมาเร่งฉีดในกับประชาชน

ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ค.ฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราวๆ 5 ล้านโดส

 

รัสเซีย 

เป็นที่ทราบดีว่ารัสเซียเดินหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เอง ภายใต้ชื่อที่รู้จักกันคือสปุตนิก วี แต่มีเพียง 7% ของประชากรรัสเซียเท่านั้นที่ได้รับวัคซีน 

สปุตนิก วี   ได้รับการอนุมัติในรัสเซียเมื่อเดือนสิงหาคมปี 63 พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีเดียวกับแอสตร้าเซเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่ใช้พาหะของไวรัสต่างกัน ต่อมาได้รับอนุมัติใน 58 ประเทศทั่วโลก แต่ปรากฏว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพียงไม่กี่รายที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ

จากข้อมูลของ Our World in Data  ชาวรัสเซีย 10.34 ล้านคน หรือร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดสแรกเป็นอย่างน้อย ส่วนโดสที่สองอยู่ที่ 6.23 ล้านคนหรือ 4.3% ของประชากร

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการผลิต คนรัสเซียส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการฉีดวัคซีนเพราะพวกเขาเชื่อว่าทางการรัสเซียดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยได้ไม่ดี

มีรายงานว่าคนรัสเซียไม่เต็มใจที่จะได้รับวัคซีนสปุตนิกวีเพราะพวกเขากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน และมีข่าวลือเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อน

ขณะที่ผลการทดลองทางคลินิกเผยแพร่ใน The Lancet เมื่อ ก.พ. 64 วัคซีนมีประสิทธิภาพ 91.6% ในการป้องกันโควิด-19 ต่อมา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย  (RDIF) กล่าวว่า สปุตนิกวี มีประสิทธิภาพ 97.6% ในเข็มที่ 2

ฮ่องกง 

ชาวฮ่องกงจำนวนมากลังเลในการฉีดวัคซีน แม้ว่าจะมีวัคซีนให้เลือกถึงสองตัวคือ ไฟเซอร์ -ไบโอเอ็นเทค และวัคซีนซิโนแวค ซึ่งวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ถือเป็นวัคซีนที่หลายคนเชื่อกันว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุด

พีพีทีวี ช่อง 36 เคย สัมภาษณ์ คุณเชาว์ ชิวลัม ชาวฮ่องกง ระบุว่า ที่ชาวฮ่องกงไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันน้อย เพราะไม่มั่นใจรัฐบาลของตัวเอง และการบริหารงานของรัฐที่ผ่านมาไม่มีความโปร่งใส ซึ่งทำให้ชาวฮ่องกงยิ่งกลัวการฉีดวัคซีนมากไปอีก แม้ว่าส่วนใหญ่ยังคงมั่นใจวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมากกว่าซิโนแวคของจีน

ส่วนวิธีที่รัฐบาลฮ่องกงใช้ในการกระตุ้นให้คนมารับวัคซีน มีทั้ง บอกว่า ถ้าไม่ฉีดต่อไปทำอะไรก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ทำตาม และวิธีที่สองที่ได้ผลคือบอกประชาชนว่า เดี๋ยวจะไม่มีวัคซีนให้ฉีดแล้ว

เปิดสาเหตุ ชาวฮ่องกงฉีดวัคซีนน้อย เหตุไม่มั่นใจรัฐบาล

แอฟริกา

ช่วงเดือน มี.ค.การส่งออกฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปยังทวีปแอฟริกาผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกยังไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการแพร่ระบาด หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหภาพแอฟริกาออกมาเตือนองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าจนถึงขณะนี้ มีน้อยกว่า 2% ในทวีปนี้เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

ปัจจัยต่างๆ ล้วนมาจากทั้งเรื่องของ การแบ่งปันวัคซีนจากประเทศรายได้สูง ปัญหาด้านโลจิสติกส์ และการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความล้มเหลวในการจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสมกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

ดร. Catherine Kyobutungi หัวหน้าศูนย์วิจัยประชากรและสุขภาพแอฟริกัน (APHRC)  กล่าวว่า "และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมีข้อมูลในโลกออนไลน์ที่บิดเบือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19"

ซึ่งนอกจากแอฟริกาใต้แล้วใน 2% ประเทศที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย เซเนกัล รวันดา กานา เคนยา ยูกันดาและ ไนจีเรียที่มีประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่า 0.5% 

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นแล้ว มากกว่า 2.12 พันล้านโดสใน 176 ประเทศ หรือคิดเป็นอัตราล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 38.9 ล้านโดสต่อวัน โดยเฉพาะในในสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 302 ล้านโดส เฉลี่ย 996,357 โดสต่อวัน

หากมองในภาพรวมการฉีดวัคซีนทั่วโลก 3.8% ของประชากรโลก ก็ถือว่าเริ่มอยู่ในจุดที่เพียงพอแล้ว แต่...

นั่นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างกระจุกตัว จากปัญหาการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่สมดุลและไม่เท่าเทียม ซึ่งประเทศที่มีรายได้สูงมีอัตราการได้รับวัคซีนโควิด-19 เร็วกว่าประเทศที่ยากจนถึง 30 เท่า

เรียบเรียงจาก bloomberg / timeout / bloomberg / dw / rthk / koreabiomed  / inquirer.net ฯลฯ

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ