ไขปริศนา ทำไมช้างป่าในจีนต้องเดินทางไกล 500 กิโลเมตร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย พฤติกรรมช้างจีนเดินทางไกล 500 กม. จากทางใต้ไปคุนหมิง สะท้อนความผิดปกติอะไรบ้าง?

นับเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ กับการที่ฝูงช้างเอเชียป่าในจีนจำนวน 15 ตัวเดินทางไกลออกจากถิ่นพำนักเดิมในเขตสิบสองปันนา ทางตอนใต้มณฑลยูนนาน ใกล้ชายแดนด้านที่ติดกับเมียนมาและลาว โดยพวกมันมุ่งหน้าขึ้นทางทิศเหนือเข้าใกล้เมืองคุนหมิง

พวกมันเริ่มออกเดินทางครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2020 จนถึงปัจจุบันเดินทางมาแล้วกว่า 15 เดือน และเดินทางมาไกลกว่า 500 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว

อินเดีย พบช้าง 28 เชือก ติดโควิด-19

สวนเสือศรีราชา เจอพิษโควิด ตัดใจขาย “ช้างแสนรู้” 11 เชือก

ทางการจีนระบุว่า แต่เดิมช้างฝูงนี้มีสมาชิก 16 ตัว แต่มี 2 ตัวเดินย้อนกลับมาทางเดิม เหลือ 14 ตัว และมีลูกช้างเกิดใหม่ 1 ตัว ทำให้ที่สุดแล้วมีช้าง 15 ตัวในฝูงนี้ เป็นตัวเต็มวัย 12 ตัว และเป็นลูกช้าง 3 ตัว

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบคนหรือช้างได้รับบาดเจ็บจากการเดินทางทางไกลครั้งนี้ แต่มีความความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผลผลิตทางการเกษตรมากกว่า 30 ล้านบาท

คำถามคือ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องปกติหรือไม่? และเหตุใดพวกมันจึงออกเดินทางไกลถึงขนาดนี้?

ดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC ให้สัมภาษณ์กับ นิวมีเดีย พีพีทีวี ว่า ปกติช้างจะเดินทางไกลหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางนิเวศ ยกตัวอย่างเช่น ช้างแอฟริกาแถบนามิเบียซึ่งอยู่ใกล้ทะเลทรายจะเดินทางไกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากสภาพอากาศแห้งแล้งที่ต้องหาแหล่งน้ำ

“มีบันทึกว่าช้างแอฟริกาตัวเมียมีการเดินทางไกลถึง 1876 กิโลเมตร ส่วนตัวผู้อยู่ที่ประมาณ 2,780 กม. แต่ในการเดินทางที่ไกลขนาดนั้น ตัวที่กำหนดการเดินทางมักเป็นปัจจัยทางกายภาพที่เกิดจากปริมาณน้ำฝน” ดร.พิเชฐบอก

ในขณะเดียวกัน ช้างเอเชียอาศัยอยู่ในเขตร้อน มีฝนตกชุกชุม ปัจจัยในเชิงกายภาพที่กำหนดการเดินทางไกลของช้างก็จะต่างออกไป ดังนั้นการเดินทางของช้างเอเชียจะแคบและใกล้กว่าเมื่อเทียบกับช้างแอฟริกา

“ในการศึกษาของอินเดียกับศรีลังกา พบว่า ขอบเขตการเดินของช้างเอเชียในอินเดียอยู่ที่ประมาณ 111-266 ตารางกิโลเมตร ส่วนช้างในศรีลังกามีการเดินทางอยู่ที่ 100-105 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแคบกว่าช้างแอฟริกามาก แต่ก็บ่งบอกให้เราเห็นว่าปกติช้างเป็นสัตว์ที่เดินทางไกลอยู่แล้ว” ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชียเสริม

อย่างไรก็ตาม ดร.พิเชฐ ให้ความเห็นว่า ระยะทางการเดินทางของช้างเอเชียในจีนที่กำลังเป็นกระแสความสนใจนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะระยะทางที่ช้างเดินถึง 500 กิโลเมตรนี้ “ไม่ใช่ระยะปกติ”

เขาชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมติฐานสาเหตุที่ช้างเอเชียฝูงนี้ในจีนต้องเดินทางไกลไว้ 2 ข้อ

ข้อแรก การลดลงของพื้นที่ป่าในบริเวณนั้น อาจจะมีคุณภาพลดลง ทำให้ช้างต้องเริ่มออกเดินทาง เพื่อหาอาหารเลี้ยงครอบครัว

ข้อที่สอง อาจมีการรบกวนอย่างหนักในพื้นที่อาศัย ต้องตรวจสอบว่า ในพื้นที่สิบสองปันนาซึ่งเป็นถิ่นอาศัยเดิมมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า มีคนเข้าไปเป็นจำนวนมากหรือมีการล่าช้างข้างในพื้นที่หรือเปล่า

แต่ ดร.พิเชฐ ให้น้ำหนักไปที่สมตติฐานแรกมากกว่า “เพราะถ้าดูจากรูปแบบเทียบกับในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ป่าตะวันออกมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อาศัยของช้างมากใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าลดลงอย่างมาก ทำให้พื้นที่เหมาะสมในป่าลดลงตาม กลับกลายเป็นว่าพื้นที่อาศัยของมนุษย์เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับช้าง”

ซึ่งมาเลเซียก็เคยมีงานศึกษาวิจัยช้างพบว่า ปัจจุบัน พื้นที่การเกษตรของมนุษย์มีความเหมาะกับการอยู่อาศัยของช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ชอบพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกใหม่ ๆ แล้วก็มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้ช้างสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ของมนุษย์ได้มากขึ้น

ดร.พิเชฐ บอกว่า ปัจจุบัน มนุษย์มักใช้พื้นที่ราบติดชายป่าในการทำเกษตร และมักปลูกพืชที่ให้พลังงานสูง เช่น ช้าวโพด อ้อย ซึ่งตรงกับความต้องการของช้าง ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ช้างจะออกมาหาอาหารในพื้นที่ของมนุษย์ ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict) เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย

ข้อมูลจาก โครงการ “การวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติบนฐานพลเมืองมีส่วนร่วมและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” พบว่าในช่วงปี 2020 มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด 20 เหตุการณ์

โดยมีช้างล้ม 8 ตัว บาดเจ็บ 1 ตัว ส่วนคนเสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย

สาเหตุที่ช้างล้มแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุ ได้แก่ 1. ช้างถูกยิง 4 ตัว 2. ไฟช็อตจากเสาไฟ 220V 2 ตัว 3. ไฟช็อตจากสายไฟเครื่องปั่นไฟ 1 ตัว และไฟช็อตจากหม้อแปลงไฟ 12V 1 ตัว ส่วนช้างบาดเจ็บอีก 1 ตัวเกิดจากรถยนต์ชน

ส่วนสาเหตุของคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในปี 2020 จำนวน 8 รายแบ่งออกเป็น ถูกช้างทำร้ายในระยะกระชั้นชิดในสวนยางพาราจำนวน 4 ราย ถูกช้างทำร้ายในระยะกระชั้นชิดหรือไม่ตั้งตัว 2 ราย ถูกช้างทำร้ายขณะหาของป่าอยู่ในป่าจำนวน 1 ราย และถูกช้างทำร้ายระหว่างทำการผลักดันช้างป่าอีก 1 ราย

จากคนบาดเจ็บทั้งหมด 8 รายนั้น 3 รายแรกเกิดจากช้างตกใจเสียงทารกร้องจึงพุ่งเข้าทำร้ายคน 2 รายถูกช้างทำร้ายในระยะกระชั้นชิด อีก 2 รายถูกช้างทำร้ายในระหว่างหาของป่า และ 1 รายเกิดจากการขับรถยนต์ชนช้างในตอนกลางคืน

ดร.พิเชฐ บอกว่า โดยทั่วไป พื้นที่ที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยของช้างมีประมาณ 4 เกณฑ์หลัก ๆ คือ

  1. ต้องมีน้ำเพียงพอ ไม่อยู่ห่างจากแหล่งน้ำ ส่วนมากอยู่ในระยะประมาณ 5-6 กม.
  2. มีแหล่งอาหาร มีพืชตระกูลหญ้า หรืออาหารของมนุษย์ คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว
  3. มีความปลอดภัย
  4. ชอบที่ราบซึ่งไม่ค่อยมีความสูงชัน แต่ปัจจุบันส่วนมากกลายเป็นพื้นที่ของมนุษย์ไปแล้ว จากป่าเขาเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร และพื้นที่ในเขตอนุรักษ์สำหรับช้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตสูงชัน ซึ่งมันไม่ชอบ

ปัจจัยจากข้อ 4 นี้เองที่อาจเป็นสาเหตุหลักของการเดินทางไกลของช้าง “ด้วยนิเวศวิทยาที่มันเปลี่ยนไป ที่คนเราเป็นผู้ทำให้มันเปลี่ยน พฤติกรรมช้างเองก็เปลี่ยน” ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชียกล่าว

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน หลายพื้นที่ทั่วเอเชียมีประชากรช้างเอเชียลดลง เช่น ช้างในเวียดนามจัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จำนวนลดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนลาวมีการสร้างเขื่อนน้ำทึม ซึ่งเป็นที่อาศัยเดิมของช้าง ทำให้ถิ่นที่อยู่โดนรบกวน ส่วนในเมียนมามีการประเมินประชากรช้าง จากแต่ก่อนมีประมาณ 5,000 ตัว ระยะหลังลดลงเหลือ 2,000-3,000 ตัว

การเปลี่ยนพื้นที่หากินของช้างไปเป็นอย่างอื่นทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างค่อนข้างสูง “การเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ของช้างเป็นพื้นที่เกษตรเป็นปัจจัยคุกคามหลักต่อช้างป่าเอเชีย”

ขณะนี้ทางการจีนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีทั้งการใช้เจ้าหน้าที่และโดรนในการติดตามความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างคนกับช้าง รวมถึงพยายามบังคับเส้นทางการเดินของช้างไม่ให้เข้าใกล้ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ช้างเอเชียฝูงนี้จะเดินไปจนถึงที่ไหนหรือเมื่อไหร่ แต่เหตุการณ์นี้ควรนำไปสู่การป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง เพราะความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเป็นเรื่องใหญ่ที่นำความสูญเสียมาสู่ทั้งสองฝ่าย

ดร.พิเชฐ ได้เสนอแนวทางการลดปัญหาคนกับช้างไว้ 5 ข้อ ดังนี้

  1.  อาจต้องคิดในเรื่องของการจัดการพื้นที่ใช้สอยรอบป่า ต้องมีการจัดโซนให้ช้างอยู่ได้
  2. ลดการรบกวนถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของช้าง
  3. การมีทางเลือกให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้ถิ่นอาศัยของช้าง อาจส่งเสริมอาชีพที่ลดการดึงดูดช้าง เช่น งดปลูกอ้อยปลูกข้าวโพดชิดติดป่า
  4. พื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ใกล้แหล่งอาศัยช้างต้องมีการศึกษาวิธีรับมือที่ถูกต้องและไม่รุนแรง
  5. มีการศึกษาเชิงนิเวศ ต้องวิจัยอย่างต่อเนื่องว่าช้างมีพฤติกรรมอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดร.พิเชฐเน้นย้ำว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม เพราะเมื่องมองย้อนกลับไปแล้ว ต้นตอปัญหาช้างป่าออกเดินทางเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ ที่สุดแล้วต้นตอของมันก็คือมนุษย์เองไม่ใช่ใครอื่น

ตัวกำหนดพฤติกรรมช้างอยู่ที่คนเป็นหลัก คนนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้เกิดปัจจัย คล้ายกับปัญหาสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน นั่นคือข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดชี้กลับมาที่เรา ว่ามนุษย์เราเองเป็นคนทำให้พฤติกรรมช้างเปลี่ยนไป ... การแก้ไขอยากให้มองอย่างเห็นใจทั้งช้างและมนุษย์ว่าเราควรหาทางออกอย่างสันติไม่ใช่ความรุนแรง” ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชียกล่าว

ภาพจาก AFP / Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ