นักวิจัยจีนพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาว พันธุกรรมคล้ายโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ในค้างคาวแถบมณฑลยูนนาน มีความคล้ายคลึงกับโควิด-19 ในทางพันธุกรรม ยังไม่พบว่าแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้

เมื่อวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) นักวิจัยจีนกลุ่มหนึ่งได้เขียนรายงานลงในวารสาร Cell ว่า พวกเขาค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวนมากในค้างคาว ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจใกล้เคียงกับไวรัสโควิด-19 ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในด้านพันธุกรรม

นักวิจัยระบุว่า การค้นพบของพวกเขาในพื้นที่เล็ก ๆ ของมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แสดงให้เห็นว่า ในค้างคาวมีเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนเท่าใด และมีศักยภาพที่จะแพร่กระจายไปยังผู้คนจำนวนเท่าใด

นักวิจัยโต้! สื่อรัสเซีย โควิด-19 ไม่ได้มีต้นตอจากค้างคาวไทย

วารสารวิจัยรัสเซียอ้าง "ค้างคาวในไทย" อาจมีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แฝงอยู่

สือเหว่ยเฟิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานตงและคณะวิจัย ได้เก็บตัวอย่างจากค้างคาวตัวเล็กที่อาศัยอยู่ในป่า ช่วงระหว่างเดือน พ.ค. 2019 ถึงเดือน พ.ย. 2020 พวกเขาทดสอบปัสสาวะและอุจจาระ รวมถึงทำการสว็อบ (Swab) เก็บตัวอย่างจากปากค้างคาว

“โดยรวมแล้ว เราได้รวบรวมจีโนมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 24 ชนิดจากค้างคาวชนิดต่าง ๆ รวมถึงพบเชื้อ SARS-CoV-2 ที่คล้ายกับโควิด-19 ถึง 4 ชนิด” นักวิจัยระบุ

หนึ่งในเชื้อ SARS-CoV-2 นี้มีความคล้ายคลึงกับโควิด-19 มากในทางพันธุกรรม ตัวอย่างไวรัสดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า RpYN06 พบในค้างคาวสายพันธุ์ Rhinolophus pusillus หรือ ค้างคาวมงกุฎเล็ก (Least Horseshoe Bat)

ความต่างระหว่าง RpYN06 กับ SARS-CoV-2 คือ ความแตกต่างทางพันธุกรรมของโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นโครงสร้างคล้ายปุ่มที่ไวรัสใช้ยึดติดกับเซลล์

ยังไม่มีพบรายงานโดยละเอียดว่า ไวรัสโคโรนา RpYN06 รวมถึงไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่พบจากค้างคาวในครั้งนี้สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้หรือไม่

“ไวรัสโคโรนา RpYN06 และไวรัสอื่นที่เกี่ยวข้องกับ SARS-CoV-2 ที่รวบรวมจากตัวอย่างในประเทศไทยเมื่อเดือน มิ.ย. 2020 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไวรัสที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับ SARS-CoV-2 ยังคงแพร่กระจายในประชากรค้างคาว และในบางภูมิภาคอาจเกิดขึ้นที่ความถี่ค่อนข้างสูง” คณะวิจัยเขียน

นักวิจัยกำลังพยายามค้นหาว่า SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 มาจากไหน แม้ว่าค้างคาวจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แต่ก็เป็นไปได้ที่ไวรัสจะแพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวกลางก่อนมาถึงคน เหมือนไวรัสซาร์สที่ระบาดในปี 2002-2004 ก็เกิดจากชะมดติดเชื้อจากค้างคาวก่อน แล้วจึงแพร่มายังคน

“การศึกษาของเราเน้นให้เห็นถึงความหลากหลายที่น่าทึ่งของไวรัสจากค้างคาวในระดับท้องถิ่น รวมถึงญาติสนิทของทั้ง SARS-CoV-2 (โควิด-19) และ SARS-CoV (ซาร์ส)” คณะวิจัยเขียน

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ