รวม “เสาไฟ” ไอเดียเจ๋งจากทั่วโลก เน้นฟังก์ชันไม่เน้นสวยงาม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ส่องความเจ๋งเสาไฟในต่างประเทศ เน้นลดมลภาวะ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดต้นทุน

จากกรณีเกิดดราม่า อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ จัดซื้อจัดจ้าง “เสาไฟกินรี” ร่วม 10,000 ต้น มูลค่ามากกว่า 900 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วเสาไฟมีมูลค่าถึงต้นละ 95,000 บาท โดยนำไปติดตั้งในพื้นที่รกร้าง ถนนตรอกซอกซอยเล็ก ๆ ริมพงหญ้า ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นถนน

วันนี้ นิวมีเดีย พีพีทีวี พาไปดูเสาไฟในต่างประเทศที่เต็มไปด้วยไอเดียสุดเจ๋งและสามารถใช้งานได้จริง

"บางกอกไฟถนน" บริษัทรับงาน 900 ล้าน เสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ ประกาศปิดชั่วคราว

พลิก TOR พบ “เสาไฟกินรี” กำหนดลวดลายวิจิตร - บริษัทคู่สัญญาปิดเงียบ

เจาะที่มา "เสาไฟกินรี" พิรุธหรือบังเอิญ ผุดอีก “ประติมากรรมภูเขา” อบต.ราชาเทวะ งบ 1 ล้าน ถูกทิ้งร้าง...

เสาไฟพลังก้าวเดิน

ที่ โบลเดอร์ พลาซ่า ลาสเวกัส สหรัฐฯ ฝีเท้าของคนเดินเท้าอาจช่วยเพิ่มพลังงานให้กับเสาไฟสาธารณะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทางการเมืองลาสเวกัสกับ EnGo Planet เพื่อติดตั้งเสาไฟที่ใช้พลังงานจลน์ และพลังงานแสงอาทิตย์

แนวคิดของเสาไฟนี้ค่อนข้างง่าย โดยติดตั้งแผ่นพลังงานจลน์ (Kinetic Pad) ไว้บนพื้นใกล้กับเสาไฟซึ่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย ขณะที่คนเดินผ่านไปมาแล้วเหยียบลงบนแผ่นดังกล่าว พลังงานจลน์ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ก็จะถูกเก็บไว้ในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หนึ่งก้าวเดินของคนสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้ระหว่าง 4-8 วัตต์

เมื่อรวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่สะสมในระหว่างวัน เสาไฟนี้จะผลิตพลังงานได้มากพอที่จะจ่ายไฟให้กับไฟถนน LED ทั้งหมด นอกจากนี้ ไฟถนนแต่ละดวงจะมีบริการฮอตสปอตวายฟาย และสถานีชาร์จโทรศัพท์มือถือไว้ให้ด้วย

เสาไฟที่ “ผลิบาน” ได้

บริษัทออกแบบสัญชาติเนเธอร์แลนด์ได้ออกแบบเสาไฟที่ชื่อว่า “Bloomlight” ซึ่งเป็นเสาไฟริมถนนที่สามารถโน้มตัว และผลิบานให้แสงสว่างเมื่อคนเดินผ่านไปมาได้

Bloomlight จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อมีการเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียง ฐานหรือก้านของเสาทำมาจากท่อที่สูงและสามารถงอได้ ลวดเหล็ก 6 เส้นเชื่อมต่อกับมอเตอร์ ซึ่งจะดึงสายไฟและทำให้โครงสร้างของเสาไฟงอได้

ไม่เพียงแค่งอได้ เสาไฟนี้ยังบานสะพรั่งได้ด้วย โดยยอดเสาไฟทำมาจากแผ่นไม้ทาสีที่เชื่อมด้วยผ้าเข้ากับมอเตอร์ เมื่อทำงาน กลไกในหลอดไฟจะเริ่มหมุนและดันแผ่นไม้ให้เปิดออกจนเสมือนกับดอกไม้กำลังบาน

นี่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พยายามทำให้สิ่งที่ดูล้ำหน้าอย่างเทคโนโลยีมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พบเห็นรู้สึกผ่อนคลายราวกับอยู่ภายใต้ดอกไม้ยักษ์เรืองแสง

เสาไฟพลังงานลม

โทเบียส ทรูเบนบาคาร์ นักออกแบบและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลินได้ออกแบบเสาไฟริมถนนที่มีชื่อเรียกว่า Papilio (ผีเสื้อ) ซึ่งมีฟังก์ชันสำคัญ / อย่างคือ ใช้พลังงานลมช่วยผลิตไฟเพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้า และตัวแสงที่ส่องจะมีมลภาวะทางแสงน้อย มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่จะเปิดใช้งานเมื่อมีคนเดินผ่านข้างใต้เท่านั้น

มลภาวะทางแสง (Light Pollution) คือแสงที่ฟุ้งกระจายอย่างไร้การควบคุม จนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสิ่งมี​ชีวิตทั้งคน พืช และสัตว์หลายชนิด

เสาไฟ Papilio นี้มีรูปร่างเหมือนตะไลที่ทำหน้าที่เป็นกังหันลม คอยจับลมเพื่อผลิตพลังงานในตัวมันเอง นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า ดังนั้นเสาไฟนี้จึงสามารถทำงานได้แม้ในวันที่มีแรงลมน้อย

แสงไฟจาก Papilio ยังเป็นแสงสีอบอุ่นที่ไม่ดึงดูดความสนใจของแมลง และใช้เซ็นเซอร์อินฟราเรดเพื่อให้แสงถูกกระตุ้นโดยการเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อมลภาวะทางแสง และทิศทางของแสงยังเป็นแบบกดลง ไม่กระเจิงรบกวนสายตา

ขณะที่ประเทศจีนเองก็เคยมีเสาไฟในลักษณะคล้ายกันนี้ โดยเป็นเสาไฟที่ติดกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ สามารถให้แสงสว่างได้ทั้งในวันที่มีลมและวันที่มีแสงแดด โดยมีอายุการใช้งานนานถึง 10-20 ปี

เสาไฟพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องคอยผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ แต่พวกมันสามารถผลิตไฟฟ้าและมอบแสงสว่างได้ด้วยตัวเอง

เสาไฟขวดน้ำ

สำหรับบางพื้นที่ในบางประเทศ เช่น ฟิลปปินส์ โคลอมเบีย ความสวยงามของเสาไฟมีคุณค่าไม่เท่าแสงสว่างที่จะได้รับ จึงเกิดการดัดแปลงนำขวดน้ำมาทำเป็นหลอดไฟติดตั้งเข้ากับเสาไฟโซลาร์เซลล์ จนได้แสงสว่างมาใช้

โดยเสาไฟริมถนนใช้ท่อ PVC หลอดไฟ LED ขนาด 3 วัตต์ คอนโทรลเลอร์ และชุดแบตเตอรี่เก็บไฟ แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก มีต้นทุนการสร้างเพียง 10-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 300-2,200 บาท) ส่วนปลอกหุ้มหลอดไฟก็ใช้เป็นเพียงขวดโซดาพลาสติก ซึ่งแทบจะแตกหักไม่ได้ภายใต้สภาวะส่วนใหญ่ ต่างจากเสาไฟทั่วไปที่ใช้แก้วหรือวัสดุที่เปราะแตกได้ในการทำ

การใช้ขวดพลาสติกมาทำเสาไฟนี้ยังช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังหามาเปลี่ยนได้ง่าย ๆ

ทั่วโลกยังมีเสาไฟอีกหลากหลายแบบ ทั้งที่เน้นความสวยงามเพื่อทัศนียภาพ ทั้งที่เน้นความล้ำสมัย และที่เน้นการลดการใช้พลังงานดังที่ปรากฏในตัวอย่างข้างต้นที่เรารวบรวมมา

แต่ข้อสำคัญหนึ่งที่จะลืมไปไม่ได้ นั่นคือวัตถุประสงค์ของเสาไฟที่ต้องให้แสงสว่างอย่างเพียงพอในพื้นที่สาธารณะที่มีคนใช้หรืออาศัย ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมา ไม่ว่าจะรถหรือคน

แต่ถ้าเสาไฟที่ลงทุนสร้างไปกลับไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของผู้คน ก็สู้อย่ามีเสาไฟนั้นเลยดีกว่า

 

เรียบเรียงจาก Design Boom / Fast Company / Inhabitat / Living Circular

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ