WHO ถอด “เอปซิลอน-ซีตา-ธีตา” ออกจากสายพันธุ์โควิด-19 ที่ต้องสนใจ (VOI)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อนามัยโลกปรับระดับความกังวลต่อโควิด 3 สายพันธุ์ “เอปซิลอน-ซีตา-ธีตา” ลดจากสายพันธุ์ที่ต้องสนใจ เป็นสายพันธุ์ที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

วันนี้ (7 ก.ค.) นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้เข้าไปตรวจสอบสถานะของโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ขององค์การนามัยโลก (WHO) ว่า มีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และพบว่า WHO ได้ถอดโควิด-19 ออก 3 สายพันธุ์จากรายชื่อ “สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest; VOI)”

โดยสายพันธุ์ที่ถูกถอดออกและลดระดับเหลือเพียง “สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring)” ได้แก่ สายพันธุ์เอปซิลอน (B.1.427/B.1.429; แคลิฟอร์เนีย) ซีตา (P.2; บราซิล) และธีตา (P.3; ฟิลิปปินส์)

รู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดในปากีสถาน หวั่นลามมาไทย

จับตาโควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” พบแล้ว 30 ประเทศ

WHO เพิ่มชื่อโควิด-19 “สายพันธุ์แลมบ์ดา” เป็นสายพันธุ์ต้องให้ความสนใจ

โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดระดับสายพันธุ์โควิด-19 นี้ WHO ให้เหตุผลว่า สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้สามารถถูดจัดประเภทใหม่ได้ หากพิจารณาแล้วว่า สายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมที่สำคัญต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกอีกต่อไป เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้

การจัดระดับใหม่นี้ดำเนินการผ่านการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส ในเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น อุบัติการณ์ที่สังเกตพบ ความชุกเชิงสัมพัทธ์ของการตรวจพบสายพันธุ์ การมีอยู่/ไม่มีอยู่ของปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบต่อเนื่องต่อมาตรการควบคุมโรค ฯลฯ

สำหรับสายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม คือโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต แต่หลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มขึ้นและต้องมีการประเมินซ้ำเมื่อมีหลักฐานใหม่

ทั้งนี้ WHO หมายเหตุไว้ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของสายพันธุ์เหล่านี้อาจมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงอาจมีการเพิ่ม/ ลบรายชื่อสายพันธุ์จากแต่ละระดับเป็นระยะ

คุณสมบัติสายพันธุ์ที่ถูกลดระดับครั้งนี้

สำหรับโควิด-19 เอปซิลอน (เดิม) มีการกลายพันธุ์ที่น่ากังวล 5 ตำแหน่ง คือ I4205V และ D1183Y ในยีน ORF1ab และ S13I, W152C, L452R ในยีน S ของโปรตีนหนาม คาดว่าอาจแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น แต่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน

ส่วนสายพันธุ์ซีตา (เดิม) เป็นสายพันธุ์ย่อยของแกมมา (บราซิล) ที่ระบาดหนัก มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่ง คือ E484K, D614G และ V1176F มีผลลดประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน  และทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับประสาทการรับกลิ่น

และสุดท้าย สายพันธุ์ธีตา (เดิม) อาจมีความทนทานต่อแอนติบอดีมากขึ้น รวมถึงแอนติบอดีที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนด้วย เหมือนกับสายพันธุ์เบตา และแกมมา

ปัจจุบันมีโควิด-19 อยู่ 8 สายพันธุ์ที่อยู่ในการติดตามอย่างใกล้ชิดของ WHO ได้แก่

สายพันธุ์ที่ต้องกังวล (Variants of Concern; VOC) 4 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ชื่อทางการ B.1.1.7 พบที่แรกคือเมืองเคนต์ ประเทศอังกฤษ
  • สายพันธุ์เบตา (Beta) ชื่อทางการ B.1.351 พบที่แรกคือประเทศแอฟริกาใต้
  • สายพันธุ์แกมมา (Gamma) ชื่อทางการ P.1 พบที่แรกคือประเทศบราซิล
  • สายพันธุ์เดลตา (Delta) ชื่อทางการ B.1.617.2  พบที่แรกคือประเทศอินเดีย

"สายพันธุ์เดลตาครองกรุงเทพ" และพบอีก 47 จังหวัดทั่วประเทศ

 

สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest; VOI)

  • สายพันธุ์อีตา (Eta) ชื่อทางการ B.1.525 พบที่แรกในหลายประเทศ
  • สายพันธุ์ไอโอตา (Iota) ชื่อทางการ B.1.526 พบที่แรกคือกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ
  • สายพันธุ์แคปปา (Kappa) ชื่อทางการ B.1.617.1 พบที่แรกคือประเทศอินเดีย
  • สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) ชื่อทางการ C.37 พบที่แรกคือประเทศเปรู

สายพันธุ์ที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring) มี 12 สายพันธุ์

 

เรียบเรียงจาก WHO

ภาพจาก Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ