ตาลีบันปะทะเดือดทหารอัฟกัน หวั่นเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการยังฐานทัพใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถานตัดสินใจถอนกำลังออกไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันอัฟกานิสถานเริ่มปฏิบัติการโจมตีกองกำลังอัฟกานิสถานบ่อยขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆหลายพื้นที่ถูกกลุ่มตาลีบันยึดครองอีกครั้ง และในบางจุดเกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยในประเทศแล้วหลายแสนคน จนทางสหประชาชาชาติต้องออกมาแสดงความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยระลอกใหม่

สำนักข่าวรอยเตอร์จับภาพของช่วงเวลาที่ขบวนรถทหารของกองกำลังอัฟกันถูกตาลีบันโจมตีในปฏิบัติการเมื่อวานนี้ไว้ได้พอดี

เหตุเกิดที่เมืองกันดาฮาร์ เมืองใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากกรุงคาบูล รายงานระบุว่า ขบวนรถของทหารขบวนนี้กำลังมุ่งหน้าตรงไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ชานเมือง เนื่องจากตำรวจแจ้งข้อความช่วยเหลือมาว่า พวกเขาถูกกลุ่มตาลีบันบุกและล้อมรอบสถานี

ระหว่างทางจู่ๆ ขบวนรถทหารก็ถูกโจมตีด้วยกระสุนและระเบิด

เมื่อสหรัฐฯ จากไป อัฟกานิสถานอาจจมดิ่งสู่ความวุ่นวาย

สหรัฐฯ-ตาลีบัน ลงนามสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์

ทั้งขบวนมีรถทหารราว 8 คัน บรรทุกทหารอัฟกันรวม 40 นาย โดยทหารเล่าว่า รถฮัมวี่ 3 คันแรกถูกโจมตีด้วยจรวด ส่วนคันที่ทีมข่าวรอยเตอร์โดยสารไปด้วยนั้นถูกยิงด้วยกระสุน จนกระจกร้าว

การโจมตีที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทหารต้องยิงโต้กลับ ในวันเดียวกัน บนโลกออนไลน์มีการเผยภาพของทหารอัฟกันจำนวน 22 คนที่ถูกกลุ่มตาลีบันสังหารอย่างโหดเหี้ยม เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อน แต่วิดีโอเพิ่งจะถูกเผยแพร่ออกมา

โดยมีรายละเอียดว่า ทหารชาวอัฟกันทั้ง 22 นายนี้ยอมจำนนต่อกลุ่มตาลีบัน ระหว่างการโจมตีในจังหวัดฟายับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

จากภาพจะเห็นว่าพวกเขาชูแขนสองข้างขึ้นเพื่อสื่อถึงการยอมแพ้แล้ว แต่ตาลีบันกลับรัวกระสุนสาดใส่ จนทั้งหมดเสียชีวิต

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมาก่อเหตุโจมตีและยึดคืนพื้นที่จากรัฐบาลอัฟกัน

ส่วนในเมืองหลวงก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน นี่คือบรรยากาศของกรุงคาบูลเมื่อวานนี้หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์

ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ระเบิดปริศนาเกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่ผู้คนกำลังจับจ่ายซื้อของ จู่ๆ รถยนต์คันหนึ่งก็เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีหลายสิบราย

อัฟกานิสถานมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เหตุใดกลุ่มตาลีบันที่เคยถูกปราบปรามกลับผงาดขึ้นมีอิทธิพลอีกครั้ง

ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับการถอนทหารต่างชาติออกจากอัฟกานิสถาน

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และกลุ่มตาลีบันมีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพกันบ่อยครั้ง จนนำมาสู่ข้อตกลงล่าสุดที่กำหนดว่า ทั้งสหรัฐฯ และทหารต่างชาติทั้งหมดจะต้องถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 กันยายนนี้ แลกกับการที่ตาลีบันให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เติบโตขึ้นบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯ ถอนตัวหลัง 20 ปีของสงครามต่อต้านก่อการร้ายยังไม่มีวี่แววว่าจะชนะ รวมไปถึงต้องการยุติการละลายงบประมาณและกำลังพลไปกับสงครามนอกประเทศ

กระบวนการถอนตัวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากฐานทัพบากรัม ฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

จวบจนวันนี้ คาดกันว่าสหรัฐฯ ถอนทหารออกไปแล้วร้อยละ 90 คงเหลืออีกแค่ราว 650 นายเท่านั้น ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานทูต และคาดกันว่าจะถอนเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายพลเคนเน็ต แมคเคนซี ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานได้ทำพิธีเชิงสัญลักษณ์มอบอำนาจคืนให้กับกองกำลังอัฟกัน

พิธีดังกล่าวถือเป็นการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ

สหรัฐฯ คาดหวังว่า หากทำตามข้อตกลงที่ตาลีบันต้องการ คือถอนทหารต่างชาติออกไปทั้งหมดแล้ว อาจปูทางไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างกลุ่มตาลีบันและกองกำลังอัฟกัน 

หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็เชื่อว่าทหารอัฟกันมีศักยภาพและเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากทหารต่างชาติ เพียงพอที่จะรับมือกับกลุ่มตาลีบัน

ไบเดนสั่งถอนกำลังทหารในอัฟกานิสถาน หวังยุติสงครามที่ยาวนาน 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะระหว่าง 2 เดือนของกระบวนการถอนทหาร ความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตาลีบันขยายขอบเขตการโจมตีกว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็มีรายงานทหารหนีทัพข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

การผงาดขึ้นอีกครั้งของกลุ่มตาลีบันสร้างความประหลาดใจ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเอง เพราะในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ กลุ่มตาลีบันก็สามารถยึดคืนพื้นที่ได้ค่อนประเทศ

ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาคอร์รัปชันส่งผลให้กองทัพอัฟกานิสถานอ่อนแอ โดยเฉพาะกับเมืองห่างไกล

ครั้งแรก! อัฟกานิสถาน - ตาลีบัน เปิดฉากเจรจาสันติภาพ

เว็บไซต์ long war journal เผยแผนที่เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน กับเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่าตาลีบันยึดพื้นที่ได้มากแค่ไหนแล้ว

อัฟกานิสถานมีเขตทั้งหมด 407 เขต ปัจจุบันถูกตาลีบันยึดไปแล้ว 195 เขต และอีก 129 เขตที่ตกอยู่ในการสู้รบระหว่างตาลีบันและกอลกำลังอัฟกัน

ในขณะที่ฝั่งตาลีบันเองระบุว่า พวกเขายึดครองได้เกือบร้อยละ 85 ของประเทศ แต่รัฐบาลอัฟกันยังคงปฏิเสธประเด็นนี้

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ที่ร้อนระอุ อดีตประธานาธิบดี ฮามิด กาไซ ออกมาแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกันหาหนทางเปิดการเจรจาสันติภาพ

ด้านฝั่งตาลีบันว่าอย่างไร?

เมื่อวานนี้สำนักข่าวอัลจาซีราเผยความคิดเห็นจากโฆษกของกลุ่มตาลีบัน โดยมีทั้งสัญญาณที่ดีและไม่ดี

อาเมีย ข่าน มูตาคี โฆษกกลุ่มตาลีบันระบุว่า พวกเขาไม่ต้องการต่อสู้กับกองกำลังอัฟกันในเขตเมือง เนื่องจากไม่ต้องการให้เมืองได้รับความเสียหาย

ในขณะเดียวกันก็ออกมาประณามการกระทำของตุรกี ที่ล่าสุดระบุว่า ต้องการส่งกองกำลังเข้ามาปกป้องทหารอเมริกันที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งทางตาลีบันออกมาระบุว่า การส่งมหารต่างชาติเข้ามาเพิ่มในอัฟกัน ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ

การต่อสู้รอบใหม่ที่อุบัติขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ล่าสุดทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติออกมาแสดงความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดวิกฤตผู้อพยพ โดยระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีชาวอัฟกันที่ต้องกลายเป้นผู้พลัดถิ่นแล้วมากถึง 270,000 คน

พร้อมออกมาขอร้องให้นานาชาติช่วยสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานในการสร้างสันติภาพ

คอนเทนต์แนะนำ
หลายแคว้นในสเปนงัดมาตรการเคอร์ฟิวคุมโควิดเข้ม
โจ๋ 15 ปี ซุ่มยิงอริ หลังไม่พอใจเบิ้ลรถใส่ กระสุนพลาดโดนด.ญ.14 สาหัส

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ