วิจัยใหม่ชี้ ฉีด “จอห์นสันฯ” เข็มเดียว ต้านโควิด-19 "เดลตา" ได้ลดลง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ม.นิวยอร์กศึกษาเลือดคนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จอห์นสันฯ เข็มเดียว พบระดับภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ต่ำ แนะฉีดวัคซีนอื่นเสริม

การศึกษาจากทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กพบว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดครั้งเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และแลมบ์ดา (เปรู) น้อยกว่าจากสายพันธุ์ดั้งเดิม

การทดลองนี้เป็นการศึกษาในห้องแล็บ โดยศึกษาตัวอย่างเลือดจากชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จึงอาจไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพของวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง

งานวิจัยใหม่ของไทยเองชี้ “ซิโนแวค” ป้องกันโควิด-19 เดลตาได้น้อยมาก

นพ.ยง โชว์ผลการทดลอง "ฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน" พบภูมิสูงขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ รับมือสายพันธุ์เดลตา

ต้องเร่งฉีด! พบฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มเดียวสู้ "เบตา-เดลตา" ไม่ไหว

นาธาเนียล แลนเดา นักไวรัสวิทยาจากโรงเรียนแพทย์กรอสแมนแห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย ร่วมกับทีมวิจัย ได้ศึกษาตัวอย่างเลือดจากคน 17 คนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ครบ 2 โดส และอีก 10 คนที่ได้รับวัคซีนจอห์นสันฯ 1 โดส

พบว่า วัคซีนจอห์นสันฯ มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ต่ำกว่าวัคซีน mRNA และมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลตาและแลมบ์ดา

ข้อสรุปนี้ไม่ตรงกับผลการศึกษาขนาดเล็กที่ตีพิมพ์โดยทีมวิจัยของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งระบุว่า วัคซีนชนิดฉีดเพียงครั้งเดียวของจอห์นสันฯ มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดี โดยภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานถึง 8 เดือน

การศึกษาใหม่นี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่ก็สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดอะดีโนไวรัสเหมือนกับจอห์นสันฯ ก็มีประสิทธิภาพเพียง 33% ในการต่อต้านสายพันธุ์เดลตา

ดร.แลนเดากล่าวว่า อาจจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

เขาเสริมว่า “เราไม่ได้จะบอกว่า ผู้คนไม่ควรรับวัคซีนจอห์นสันฯ แต่เราแค่หวังว่าในอนาคตจะมีการฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ เพิ่มอีกโดสหนึ่ง หรือเสริมภูมิคุ้มกันด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา”

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กล่าวว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดไว้อยู่แล้ว เพราะวัคซีนทั้งหมดดูเหมือนจะทำงานได้ดีขึ้นเมื่อได้รับในปริมาณ 2 โดส

ดร.จอห์น มัวร์ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันการแพทย์เวลล์คอร์เนลล์ในนิวยอร์ก กล่าวว่า “ผมเคยคิดและพูดบ่อย ๆ ว่า วัคซีนจอห์นสันฯ เป็นวัคซีนที่ต้องฉีด 2 โดส”

เขาบอกว่า เคยมีการศึกษาในลิงและมนุษย์ที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่มากกว่าหากฉีดวัคซีนโควิด-19 จอห์นสันฯ 2 โดสเมื่อเทียบกับการฉีดเพียงโดสเดียว

ดร.มัวร์ยังบอกอีกว่า การศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กนี้มีจุดที่น่าเชื่อถือจุดหนึ่ง คือเป็นการศึกษาโดยทีมวิจัยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับผู้ผลิตวัคซีนรายใดเลย

มีการแนะนำให้ผู้ที่รับวัคซีนจอห์นสันฯ เข็มเดียว ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีน mRNA โดยอนุมานจากการศึกษาหลายชิ้นในยุโรปที่แสดงให้เห็นว่า การใช้แอสตร้าเซเนก้าเข็มแรกต่อด้วย mRNA นั้น ช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 โดส เมื่อเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันจึงน่าจะเกิดผลใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องรอการศึกษาอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมต่อไป

ด้านองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ยืนยันว่า “ชาวอเมริกันที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเสริม (บูสเตอร์) ในขณะนี้”

อ่านงานวิจัยฉบับจริง ที่นี่

 

เรียบเรียงจาก New York Times

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
เกณฑ์กรมควบคุมโรค "เสี่ยงแบบไหนควรตรวจโควิด-19"
ส่องมาตรการกักตัวที่บ้าน (home isolation) และการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในต่างประเทศ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ