หลายประเทศพบโรงพยาบาลมิจฉาชีพ เรียกเงินแสนแลกเตียงผู้ป่วยโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์โควิด-19 ที่เลวร้ายในหลายประเทศทำให้เตียงผู้ป่วยขาดแคลน จนเกิดโรงพยาบาลมิจฉาชีพ เรียกเงินแสนแลกเตียง

“เตียงรักษาผู้ป่วย” คือทรัพยากรสำคัญในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะหากไม่มีเตียง การจะคอยดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจทำได้ยาก ซึ่งหลายประเทศ ก็กำลังประสบปัญหาเตียงขาดแคลน จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นแทบจะทั่วทั้งทั่วโลก

“ทรัพยากรที่มีจำกัดมักมีมูลค่า” เป็นหลักการหนึ่งของโลกที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง แต่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยกับทรัพยากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนพึงได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

กล่องรอดตาย ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง

ผู้ป่วยโควิด-19 เตียงล้นออกนอกโรงพยาบาลสระบุรี

แฉคลิปเสียง รพ.เอกชน เรียกเก็บเงิน 1 แสน แลกเตียงรักษาโควิด

แต่ในบางประเทศกลับปรากฏข่าวโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือญาติ เพื่อแลกกับการจัดสรรเตียงของโรงพยาบาล นับว่าเป็นเรื่อง “งามหน้า” ของวงการสาธารณสุขไม่น้อย

เคสล่าสุดที่พบคือที่ประเทศเปรู ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจเปรูกล่าวว่า พวกเขาได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 9 คนที่โรงพยาบาลกีเยร์โม อัลเมนารา อิริโกเยน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐในกรุงลิมา ในกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุม หนึ่งในนั้นเป็นถึงผู้บริหารของโรงพยาบาล

ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ถูกจับกุมหลังตำรวจได้รับการร้องเรียนจากพี่ชายของผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกเก็บเงินจำนวน 82,000 ซอล (ราว 680,000 บาท) เพื่อแลกกับเตียงผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และได้รับการรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลดังกล่าว

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเปรู ออสการ์ อูการ์เต กล่าวว่า การฉ้อโกงดังกล่าว “เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ... เราไม่ควรเจรจาธุรกิจกับชีวิตของผู้คน”

เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในช่วงโควิด-19 ของเปรูนั้นมีต่อนข้างมาก ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนได้รับการฉีดวัคซีน “วีไอพี” แบบพิเศษ ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลาออกเมื่อต้นปีนี้

ส่วนที่ประเทศอินเดีย เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก พบผู้ติดเชื้อเกือบ 400,000 รายต่อวัน ก็มีการจับกุมแก๊งเรียกเก็บค่าเตียงรักษาในโรงพยาบาลเช่นกัน

โดยผู้ป่วยรายหนึ่งแรกเริ่มเธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองเนลามังคลา ต่อมาอาการของเธอแย่ลงและต้องการเตียงไอซียู เธอจึงถูกนำตัวส่งไปโรงพยาบาล People Tree และพบว่าไม่มีเตียงว่าง

ขณะที่ลูกชายของเธอกำลังพยายามหาเตียง ก็มีแพทย์โรคหัวใจและผู้บริหารฝ่ายการตลาด เข้ามาหาเขาและเสนอเตียงที่โรงพยาบาล M.S. Ramaiah ให้ โดยต้องจ่ายเงินจำนวน 120,000 รูปีอินเดีย (ราว 53,000 บาท) ให้กับพวกเขาก่อน

แน่นอนว่าเพื่อช่วยชีวิตแม่ของตนเอง ลูกชายจึงจ่ายเงินให้ไป โดยแบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 50,000 รูปีอินเดีย โอนให้ผ่าน Google Play อีกก้อน 70,000 รูปีอินเดียจ่ายเป็นเงินสดหลังจากแม่ของเขาได้รับเตียงในโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิด-19 รายนี้สุดท้ายก็เสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้เตียงรักษา

หรือที่เบงกาลูรู ก็พบนักสังคมสงเคราะห์และหลานชายฉ้อโกงจากการจัดสรรเตียงเพื่อแลกกับเงินจากผู้ป่วยโควิด-19 โดยคิดเงิน 20,000-40,000 รูปีอินเดีย (ราว 8,800-17,600 บาท)

ที่อินเดียนั้นมีข่าวฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ค่อนข้างมาก ทั้งการขายเตียงว่างแลกเงิน รวมถึงการลงชื่อปลอมไว้เพื่อให้ตัวเองมีเตียงไว้ขายต่อ (คล้ายบัตรผีหน้างานคอนเสิร์ต) และยังคงมีการจับกุมแก๊งหรือสถานพยาบาลมิจฉาชีพเหล่านี้อยู่เนือง ๆ

ส่วนที่ประเทศไทยเองก็มีข่าวลักษณะคล้ายกัน โดยมีผู้เผยแพร่ข้อมูลคลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างหญิงสาวผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งพยายามขอเรียกเก็บเงินบริจาค 100,000 บาท เพื่อแลกกับการจัดหาเตียงและส่งรถมารับเข้ารักษาตัว

ซึ่งเสียงฝั่งโรงพยาบาลดังกล่าวอ้างว่า ก่อนที่จะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาผู้ป่วยจะต้องบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรายละ 100,000 บาท โดยเงินดังกล่าวเป็นนโยบายของผู้บริหาร เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกจากรัฐบาลได้ เพราะปกติแล้วผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อหรือโรงพยาบาลสนามที่รัฐจัดหาให้

โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการเรียกเก็บเงินค่าจองเตียงจริงตามที่ถูกกล่าวอ้าง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ในฐานที่ไม่ควบคุมดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยซึ่งอยู่ในสภาพอันตราย จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการในลักษณะของการเรียกเก็บเงินเพื่อจองเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ยังคงมีผู้ไม่ประสงค์ดีหาช่องทางทำมาหากินบนความเป็นความตายของผู้อื่น ต้องหมั่นมีการตรวจสอบและปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกซ้ำเติมในสถานการณ์อันเลวร้ายนี้

 

เรียบเรียงจาก Indian Express / Reuters / The Hindu

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
โอลิมปิก เผยพบนักกีฬา 2 คนติดโควิดในหมู่บ้านนักกีฬา ยอดรวมสะสม 87 ราย
เช็ก 136 คลัสเตอร์กทม. พบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ 3 เขต ต่างจังหวัดคลัสเตอร์ใหม่เพียบ

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ