WHO ประกาศเพิ่มอีก 3 สายพันธุ์ "โควิด-19 สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อนามัยโลกเพิ่มโควิด-19 รวดเดียว 3 สายพันธุ์เข้ารายชื่อ “สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม” รวมของเดิมเป็น 15 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ VOC และ VOI ยังคงเดิม

นิวมีเดีย พีพีทีวี เข้าไปตรวจสอบระบบติดตามสายพันธุ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ทาง WHO ได้เพิ่มโควิด-19 อีก 3 สายพันธุ์ในรายชื่อกลุ่ม “สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring)” ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยโควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์ดังกล่าวประกอบด้วย B.1.1.523, B.1.61 และ B.1.620

สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม คือโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีข้อบ่งชี้ว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต แต่หลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มขึ้น

รู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดในปากีสถาน หวั่นลามมาไทย

WHO เพิ่มชื่อโควิด-19 “สายพันธุ์แลมบ์ดา” เป็นสายพันธุ์ต้องให้ความสนใจ

คาดว่า สาเหตุที่ทำให้โควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ถูกจัดอยู่ในระดับต้องตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องมาจากมีคุณลักษณะการกลายพันธุ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) และสายพันธุ์ต้องสนใจ (VOI)

สายพันธุ์ B.1.1.523 ระบาดแล้วใน 25 ประเทศทั่วโลก B.1.61 - ระบาดแล้วใน 27 ประเทศทั่วโลก และ B.1.620 ระบาดแล้วใน 44 ประเทศทั่วโลก โดยทั้ง 3 สายพันธุ์ต่างไม่พบข้อมูลชัดเจนว่า มีต้นตอการระบาดมาจากที่ไหนเป็นที่แรก ทราบเพียงว่า 2 สายพันธุ์แรกระบาดตั้งแต่ พ.ค. 2020 ส่วน B.1.620 พบครั้งแรกเดือน พ.ย. 2020

อนามัยโลกเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ลดปัญหาการตีตรา

WHO ถอด “เอปซิลอน-ซีตา-ธีตา” ออกจากสายพันธุ์โควิด-19 ที่ต้องสนใจ (VOI)

แต่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งที่น่าเป็นกังวล คือ P314L, E484K และ D614G ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่มีการกลายพันธุ์ในหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) เดลตา (อินเดีย) อีตา ไอโอตา (นิวยอร์ก) และแคปปา (อินเดีย)

การกลายพันธุ์ทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ทำให้โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.523, B.1.61 และ B.1.620 มีคุณสมบัติหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ และติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่า โควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และในอนาคตจะยกระดับความอันตรายและกลายเป็นสายพันธุ์มีชื่อเช่นเดียวกับสายพันธุ์อัลฟาถึงแลมมบ์ดาหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

แต่ข่าวดีขณะนี้คือ ยังไม่มีการตรวจพบโควิด-19 B.1.1.523, B.1.61 และ B.1.620 ในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว

ปัจจุบันโลกมีโควิด-19 อยู่ 8 สายพันธุ์ที่อยู่ในการติดตามอย่างใกล้ชิดของ WHO ได้แก่

สายพันธุ์ที่ต้องกังวล (Variants of Concern; VOC) 4 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ชื่อทางการ B.1.1.7 พบที่แรกคือเมืองเคนต์ ประเทศอังกฤษ
  • สายพันธุ์เบตา (Beta) ชื่อทางการ B.1.351 พบที่แรกคือประเทศแอฟริกาใต้
  • สายพันธุ์แกมมา (Gamma) ชื่อทางการ P.1 พบที่แรกคือประเทศบราซิล
  • สายพันธุ์เดลตา (Delta) ชื่อทางการ B.1.617.2  พบที่แรกคือประเทศอินเดีย

สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest; VOI)

  • สายพันธุ์อีตา (Eta) ชื่อทางการ B.1.525 พบที่แรกในหลายประเทศ
  • สายพันธุ์ไอโอตา (Iota) ชื่อทางการ B.1.526 พบที่แรกคือกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ
  • สายพันธุ์แคปปา (Kappa) ชื่อทางการ B.1.617.1 พบที่แรกคือประเทศอินเดีย
  • สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) ชื่อทางการ C.37 พบที่แรกคือประเทศเปรู

สายพันธุ์ที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring) เมื่อรวม 3 สายพันธุ์ใหม่เข้าไปด้วยแล้ว มีทั้งหมด 15 สายพันธุ์

เรียบเรียงจาก Outbreak Info / WHO

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ