นักวิทย์งง บันทึกได้ครั้งแรกในโลก ฝูงชิมแปนซีรุมฆ่ากอริลลา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมวิจัยศึกษาพฤติกรรมชิมแปนซีในกาบอง ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature เผยเหตุประหลาดเมื่อปี 2019 ฝูงชิมแปนซีรุมจู่โจมและฆ่ากอริลลา

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสนาบรูกและสถาบันแม็กซ์ แพลงก์เพื่อการศึกษาทางมานุษยวิทยา ตีพิมพ์เปิดเผยเหตุประหลาดเมื่อปี 2019 ในวารสาร Nature โดยพวกเขาพบฝูงลิงชิมแปนซีรุมจู่โจมและฆ่ากอริลลา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะทีมผู้เชี่ยวชาญกำลังสังเกตการณ์ลิงชิมแปนซีหลายสิบตัวอยู่ใกล้ ๆ กับฝูงกอริลลาหลังเงิน ที่อุทยานแห่งชาติโลอังโก ในประเทศกาบอง (แอฟริกากลาง) และคาดเดาว่าพวกมันจะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสันติและขี้เล่นเมื่อได้เจอกัน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

สวนสัตว์สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ลิง 9 ตัว

สวนสัตว์สหรัฐฯ พบกอริลลาติดเชื้อโควิด-19

ลารา เซาธ์เทิร์น หัวหน้าทีมวิจัยเล่าว่า “ในตอนแรก เราได้ยินเสียงกรีดร้องของลิงชิมแปนซี และคิดว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างลิงชิมแปนซีที่อยู่ใกล้เคียงกัน ... แต่แล้ว เราก็ได้ยินเสียงทุบหน้าอกเป็นเอกลักษณ์ของกอริลลา และตระหนักว่าฝูงชิมแปนซีได้ตรงเข้าโจมตีฝูงกอริลลา 5 ตัว”

พวกเขาได้บันทึกคลิปวิดีโอเหตุการณ์การเผชิญหน้าของลิงทั้งสองสายพันธุ์เอาไว้ ซึ่งมีความยาว 52 นาทีและ 79 นาที โดยปรากฏภาพฝูงลิงชิมแปนซีรวมกลุ่มกันและเริ่มโจมตีกอริลลา

หลังถูกโจมตี กอริลลาหลังเงินตัวเมียที่โตเต็มวัยพยายามปกป้องตนเองและลูกหลานของพวกมัน กอริลลาตัวเต็มวัยหลายตัวหลบหนีไปได้ แต่ลูกกอริลลา 2 ตัวพลัดกับตัวแม่และถูกฝูงลิงชิมแปนซีสังหาร

โทเบียส เดชเนอร์ นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันแม็กซ์ แพลงก์ฯ กล่าวว่า “การสังเกตการณ์ของเราเป็นหลักฐานแรกที่พบว่า การคงอยู๋ของลิงชิมแปนซีอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกอริลลาได้ ตอนนี้เราต้องการตรวจสอบว่า ปัจจัยใดที่กระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ก้าวร้าวอย่างน่าประหลาดใจนี้”

ด้าน ซิโมน พิกา นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยออสนาบรูก บอกว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของสัตว์ทั้งสองกลุ่มก่อนหน้านี้ ที่ได้รับการพิจารณาว่า ต่างฝ่ายต่างค่อนข้างผ่อนคลายต่อกัน

“เราเคยสังเกตเห็นทั้งสองสายพันธุ์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสันติในการหาอาหาร เพื่อนร่วมงานของเราจากคองโกยังเคยเห็นการปฏิสัมพันธ์อย่างสนุกสนานระหว่างวานรทั้งสองสายพันธุ์” พิกากล่าว

การศึกษานี้เดิมที่ต้องการสังเกตชิมแปนซีประมาณ 45 ตัว มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ทักษะการใช้เครื่องมือ ทักษะการสื่อสาร และการหาอาหาร ตลอดจนลักษณะอื่น ๆ

เดชเนอร์มองว่า การหาอาหารร่วมกับสายพันธุ์อื่นอาจทำให้บันดาลโทสะได้ “อาจเป็นได้ว่าการแบ่งปันแหล่งอาหารของชิมแปนซี กอริลลา และช้างป่าในอุทยานแห่งชาติโลอังโก ส่งผลให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และบางครั้งถึงกับมีปฏิสัมพันธ์กันถึงตายระหว่างลิงทั้งสองสายพันธุ์”

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ