ปธน.ตูนิเซียสั่งปลดนายกฯ บริหารจัดการโควิดล้มเหลว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตูนิเซียคืออีกหนึ่งประเทศที่เผชิญการระบาด ผู้คนล้มตาย เข้าไม่ถึงแพทย์ และชอกช้ำจากพิษเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีของประเทศตัดสินใจใช้อำนาจระงับการทำงานของสภา หลังประชาชนพากันออกมาประท้วง เพราะมองว่ารัฐบาลไม่อาจรับมือกับโควิดได้

ที่กรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซีย ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่เทศกาลสำคัญ แต่คือการฉลองหลังผู้นำประเทศประกาศปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และระงับการทำงานของรัฐสภา

คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ชาวตูนิเซียออกมาแสดงความดีใจ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาเฝ้ารอมานาน เนื่องจากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีชาวตูนิเซียจำนวนมากออกมาประท้วงการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตการระบาดได้ จนเป็นเหตุให้มีผู้คนติดเชื้อ เสียชีวิต และตกงาน มีการจุดพลุ บีบแตร ร้องเล่นเต้นรำ และบางคนระบุว่านี่เป็นข่าวดีในรอบหลายปีเลยทีเดียว

บราซิลสุดจะทนกับผู้นำ เพิกเฉยต่อโควิดทำคนตายเพียบ

ฝ่ายค้าน แถลง จี้ รัฐบาลประยุทธ์ ลาออก ยื่นป.ป.ช.ฟัน 157 เหตุแก้โควิด-19 เหลว

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี คาอิส ไซเอด ออกคำสั่งปลดนายกรัฐมนตรีฮิเลม เมชีชี ออกจากตำแหน่ง พร้อมระงับการประชุมของรัฐสภา  คำสั่งเป็นไปตามอำนาจของประธานาธิบดีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80 ซึ่งระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถระงับการทำงานของสภาได้ หากเห็นว่ากำลังนำประเทศไปสู่ความเลวร้าย โดยประธานาธิบดีไซเอดเสริมว่า สิทธิการคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาก็จะถูกเพิกถอนด้วย ส่วนใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ตัวเขาจะเป็นผู้แต่งตั้ง

แม้ประธานาธิบดีไซเอดจะไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่ต้องปลดนายกฯ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ามาจากกระแสต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล  ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ชาวตูนิเซียจำนวนมากพากันออกมาแสดงความไม่พอใจการรับมือกับโควิด-19 โดยต่อยอดจากการประท้วงที่ผ่านๆ มาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่ออัตราการว่างงานที่สูงและปัญหาความอดอยาก

ส่วนการประท้วงล่าสุดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้ว หลังกระทรวงสาธารณสุขของตูนิเซียออกมายอมรับว่า ระบบสาธารณสุขกำลังตึงตัวอย่างหนัก และอาจล่มสลายจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

เกิดการชุลมุนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่มีการแบ่งแยกประเภทของกลุ่มฉีด ในขณะเดียวกันยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 80 - 100 คนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เป็นมากกว่า 150 คนในช่วงปลายเดือน

วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเมชีชี ตัดสินใจปลด ฟาอูซี เมห์ดี อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขออกจากตำแหน่ง แต่ผู้คนก็ยังคงออกมาประท้วง

ราเชด ไซเอด เป็นผู้สมัครอิสระที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2019 ในขณะที่ฝั่งนายกรัฐมนตรี ฮิเลม เมชีชี มาจากพรรคเอ็นนาดาห์ พรรคการเมืองที่เรืองอำนาจขึ้นมาหลังอาหรับสปริงปี 2011

หลังออกคำสั่งดังกล่าว หลายฝ่ายระบุว่า เสมือนแผ่นดินไหวทางการเมือง และช่วงเช้ามืดของวันนี้ก็ปรากฏภาพของประธานาธิบดีไซเอดลงพื้นที่ร่วมกับผู้ชุมนุมด้วย

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของเขาสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล

ในช่วงเวลาเดียวกันปรากฏภาพของราเชด กันนูชี โฆษกรัฐบาล และหัวหน้าพรรคเอ็นนาดาห์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดินทางมาถึงรัฐสภา แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะทหารไม่อนุญาต ในรัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานาธิบดีดูแลกิจการทางทหารและการต่างประเทศ ส่วนนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายบริหาร   การที่ทหารมาขวางไม่ให้สมาชิกสภาเข้าไปทำงานแบบนี้ ราเชด กันนูชี ระบุว่า การกระทำของประธานาธิบดีไม่ต่างอะไรจากการก่อรัฐประหาร

ด้านฝั่งประชาชนที่สนับสนุนพรรคเอ็นนาดาห์ก็ไม่พอใจ พวกเขามารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา บางคนโกรธถึงขนาดขว้างปาก้อนหินใส่คนที่มารวมตัวกันฉลอง ระบุว่า การกระทำของประธานาธิบดีนั้นไม่ถูกต้อง และการเอารถถังเข้ามาในสภาเช่นนี้ เท่ากับว่า ผู้นำกำลังลากตูนิเซียให้ถอยหลังกลับไปยังยุคเผด็จการ ตูนิเซียคือจุดกำเนิดของอาหรับสปริง และเป็นหนึ่งในประเทศที่โค่นล้มผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจมา 24 ปีได้สำเร็จ

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 17 ธันวาคม ปี 2010 โมฮาเหม็ด บูอาซีซี พ่อค้าผลไม้วัย 26 ปี ตัดสินใจเผาตัวเองตาย หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตบหน้าและยึดรถเข็น ซึ่งเป็นเครื่องมือทำกินของเขาไป

โมฮาเหม็ดฆ่าตัวตายประท้วงที่ชนชั้นแรงงานอย่างเขาต้องใช้ชีวิตอย่างอดยากภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หลังข่าวการเสียชีวิตแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผู้คนลงถนนด้วยความโกรธแค้น

การประท้วงทำให้ อดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบีดีน เบนอาลี ผู้นำในตอนนั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง และลี้ภัยไปซาอุดิอาระเบียในวันที่ 14 มกราคม ปี 2011 หรือไม่ถึง 1 เดือนหลังการตายของโมฮาเหม็ด

เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายให้ชาติอาหรับอื่นๆ ลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้านผู้นำเผด็จการด้วย ทั้งในอียิปต์ ซีเรีย เยเมน ซูดาน  ส่วนในตูนิเซียเอง ต่อมามีการเลือกตั้ง และพรรคเอ็นนาดาห์ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รับเสียงข้างมากพอใจการตั้งรัฐบาลผสม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้นำคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การเมืองยังไม่นิ่ง มีการลอบสังหารฝ่ายค้าน ผู้คนออกมาประท้วงให้รัฐบาลลาออก ซ้ำร้ายตูนิเซียยังเผชิญปัญหาคอร์รัปชัน และเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยสะสมมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 อุบัติ โดยในปี 2019 จีดีพีของประเทศหดตัวลงถึงร้อยละ 9 สวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวก็มากถึง 1 ใน 3

ปัญหาเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นอีกครั้ง จนนำมาสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งล่าสุด เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ปัจจุบันตูนิเซียมีผู้ติดเชื้อสะสม 569,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 18,600 ราย และวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนที่ที่นายกฯ ถูกสั่งปลด ถือเป็นวันที่มียอดผู้เสียชีวิตรายวันมากที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา คือมากถึง 317 ราย

พบเครื่องวัดค่าออกซิเจนคุณภาพดี ขาดตลาด

โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ