ชาวเมียนมา จากฮึกเหิมสู่สิ้นหวัง ทหารใช้โควิดเป็นอาวุธใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมียนมาคือข่าวใหญ่ของสื่อทั่วโลก หลังกองทัพที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลนางอองซานซูจี ก่อนจะจับตัวเธอและประธานาธิบดีของประเทศไว้ ผู้คนนับหมื่นนับแสนออกมาต่อต้าน เป็นการลงถนนรวมพลังของคนจากทุกอาชีพทุกวัย การประท้วงที่สันติ สร้างสรร และกล้าหาญ จับใจผู้คนทั่วโลก แม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่คนเมียนมาฮึกเหิมและสู้ไม่ถอยจนกระทั่งเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ความฮึกเหิมแปรเปลี่ยนเป็นความหดหู่และสิ้นหวัง

“มิน อ่อง หล่าย” เผย รัสเซียช่วยเมียนมา จะมอบวัคซีนโควิด 2 ล้านโดส

พบหญิงชาวเมียนมานอนเสียชีวิตในแคมป์คนงาน ส่งชันสูตรหาสาเหตุ

เมื่อชาวเมียนมา เจอกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากติดเชื้อและเสียชีวิตโดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้ารับการรักษา ปราศจากการดูแลและการเหลียวแลจากรัฐบาลทหาร ชาวเมียนมากำลังต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีตามลำพัง ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

โลงศพถูกวางเรียงรายที่หน้าเมรุ ร่างไร้วิญญาณจำนวนหนึ่งกองที่พื้นรอการฌาปนกิจ นี่คือส่วนหนึ่งของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกที่ 3

ระบบสาธารณสุขของเมียนมาเปราะบางอยู่แล้ว เมื่อถูกโรคระบาดโหมทับ มันก็แทบล่มสลายในทันที ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้คนล้มตายราวกับใบไม้ร่วง  เจ้าหน้าที่เก็บศพบอกว่า ความหนักหนาและความรุนแรงของโรคระบาดคราวนี้ดูได้จากจำนวนศพที่มากขึ้นแบบที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน

 

นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 เมียนมามีผู้เสียชีวิตจากโควิดแล้ว 7,845 ราย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ตัวเลขที่แท้จริงมีมากกว่าที่ทางการรายงาน

วิกฤตโควิด-19 ของเมียนมากลับมารุนแรงขึ้นเพราะการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย สายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดในขณะนี้

 

อีกปัจจัยสำคัญก็คือ การก่อรัฐประหารเมื่อ 6 เดือนก่อน โดย 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาที่นำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีวินมินต์

เหตุผลในการยึดอำนาจของกองทัพคือ มีการโกงเลือกตั้งอย่างมโหฬาร การเลือกตั้งที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ การเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่พรรค NLD ของนางอองซานซูจีชนะอย่างถล่มทลายจนแทบไม่เหลือที่ให้พรรคการเมืองที่หนุนโดยกองทัพ

สำหรับคนจำนวนมาก ชัดเจนว่านี่คือความพยายามในการรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกองทัพเมียนมา หลังจากที่ถูกสั่นคลอนมากขึ้นนับตั้งแต่เมียนมาเปิดประเทศ และนำมาสู่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่พรรค NLD ที่นำโดยนางอองซานซูจีชนะเลือกตั้ง  เอื้อให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง

การยึดอำนาจจึงหมายถึงการรวบอำนาจกลับคืนมาที่กองทัพ และสำหรับชาวเมียนมา นี่คือการถอยหลังกลับไปอยู่ภายใต้การกดทับอีกครั้งหลังจากหลุดจากวงจรดังกล่าวได้ไม่ถึง 10 ปี

แต่เป็น 10 ปีที่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ลิ้มรสกับสภาพสังคมที่เปิดกว้างแล้ว พวกเขาไม่ยอมและไม่อยากกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองแบบคุมเข้มเหมือนกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เจอ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจคือ การลงถนนประท้วงของคนเรือนหมื่นเรือนแสน

ชาวเมียนมาสู้อย่างกล้าหาญ พวกเขาสู้ทุกทางที่เป็นทางสันติ สู้แบบอารยะขัดขืน รวมถึงการหยุดงานประท้วง พวกเขาถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติถูกยิงด้วยอาวุธหนัก ถูกเผาทั้งเป็น การเข่นฆ่ารวมไปถึงผู้หญิงและเด็กๆที่ไม่เกี่ยวข้อง

วิกฤตการเมืองเกิดขึ้นคู่เคียงไปกับการเริ่มแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์เดลตา บุคคลากรทางการแพทย์เริ่มทำงานยากมากขึ้นเมื่อพวกเขากลายเป็นเป้าของการถูกปราบปรามจากการออกมาประท้วงนัดหยุดงาน

หลายคนถูกจับกุม บางคนต้องหลบหนี พร้อม ๆ กับการรุกคืบของโควิดเดลตา รัฐบาลทหารเริ่มเข้มงวดควบคุมการซื้อขายอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับประชาชนในการป้องกันตัวจากโรคระบาด ยา รวมถึงสิ่งที่จะต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างออกซิเจน

พวกเขาทำทุกทางเพื่อสกัดประชาชนไม่ใชห้เข้าถึงออกซิเจน ตั้งแต่จับกุม ข่มขู่คนที่มาต่อคิวซื้อ หรือแม้แต่ใช้อาวุธยิง

 

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารเมียนมายิงประชาชนที่มาล้อมอยู่หน้าโรงงานผลิตออกซิเจนมีความพยายามตีความแรงจูงใจ ว่าทำไมรัฐบาลทหารจึงกีดกันประชาชนไม่ให้เข้าถึงสิ่งสำคัญที่สุดในการต่อลมหายใจของพวกเขา

แต่สำหรับชาวเมียนมา พวกเขาบอกว่า ไม่จำเป็นต้องตีความ เพราะนี่คือความจงใจของรัฐบาลทหารในการใช้โรคระบาดเป็นอาวุธสังหารคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการยึดอำนาจ เพราะก่อนเกิดรัฐประหาร เมียนมาเคยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่รับมือกับการระบาดในระลอกแรกได้ดี

ภายใต้การนำของรัฐบาลนางอองซานซูจี เมียนมาเข้าร่วมโครงการ COVAX หลักประกันในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศยากจน เป็นในอาเซียนที่ได้รับวัคซีน และฉีดให้ประชาชนตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา  ระบบสาธารณสุขของเมียนมาไม่แข็งแรงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่พวกเขาก็พยายามประคับประคอง

แต่มาวันนี้ ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร คนล้มตายราวกับใบไม้ร่วง บนโลกออนไลน์ ชาวเมียนมาพยายามส่งสัญญานของความช่วยเหลือ บอกให้ชาวโลกรู้ว่า พวกเขากำลังจะตายเพราะขาดอากาศหายใจ ด้วยการติดแฮชแท็ก Myanmar Needs O2 หรือเมียนมากำลังต้องการออกซิเจน

ในขณะที่โลกกำลังวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหาของตัวเอง ยังมีอยู่บ้างสำหรับคนที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือประคับประคองชาวเมียนมาที่กำลังจะหมดแรง

จีนให้สัญญาว่าจะส่งวัคซีน สหภาพยุโรปและสหประชาชาติระบุเตรียมส่งออกซิเจน อุปกรณ์ต่าง ๆ และเงินช่วยเหลือไปที่นั่น แต่ความช่วยเหลือที่จะให้ ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ และที่สำคัญคือ ไม่มีใครรู้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะไปถึงมือประชาชนหรือไม่

ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ประกาศออกมาทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตแทบไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะใครๆต่างรู้ดีว่า จำนวนที่แท้จริงมากมายกว่าหลายเท่า ความฮึกเหิมที่โลกเคยเห็นบนท้องถนนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน วันนี้เปลี่ยนเป็นความหดหู่ ท้อแท้ และสิ้นหวัง

ชาวเมียนมากำลังเผชิญชะตากรรมจากทั้งการกดทับทางการเมืองและโรคระบาด และทั้งสองวิกฤตอาจมากเกินกว่าที่พวกเขาจะรับไหว

โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ