ยอดติดเชื้อรายใหม่ประเทศไทย สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สัดส่วนการติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนของประเทศไทยพุ่ง สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ “เคย” สามารถควบคุมการระบาดได้เมื่อปีที่แล้ว ต้องประสบปัญหาระบบสาธารณสุขรับภาระหนัก ขาดแคลนเตียง อุปกรณ์ และออกซิเจน จนต้องกลับมาล็อกดาวน์กันอีกครั้ง ท่ามกลางปัญหาปากท้องของประชาชน นำมาสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในมาเลเซียและไทย ขณะที่ระบบสาธารณสุขเมียนมาก็ใกล้จะล่มสลาย จากวิธีการปราบปรามของทหารที่นองเลือด ทำให้ระบบสาธารณสุขถูกทำลาย และการฉีดวัคซีนก็หยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง

"องค์การอนามัยโลก" วอนระงับแผน ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3

สหรัฐฯ-จีนผลัดกันขิง! ชาติมหาอำนาจแข่งบริจาควัคซีนโควิด-19

จนท.ยูเอ็นกังวล เมียนมาอาจกลายเป็น “รัฐซูเปอร์สเปรดเดอร์”

และในขณะที่สิงคโปร์ฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วครึ่งค่อนประเทศ จนแม้ติดเชื้อก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่หลายประเทศที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ต่ำ ซึ่งส่งผลสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันที่พุ่งสูงขึ้น

นี่คืออันดับ 5 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนสูงสุดของวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

ตรวจสอบสิทธิเยียวยา มาตรา 33 งวดแรกเข้าพร้อมเพย์ เปิดสาเหตุเงินไม่เข้า 'แรงงาน' เช็กกลุ่มตกหล่น

อันดับ 1 มาเลเซีย

แม้จะล็อกดาวน์ทั่วประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่มาเลเซียยังรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่แทบจะทุบสถิตินิวไฮแทบทุกวัน เฉพาะวันที่ 4 ส.ค. มาเลเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,819 ราย เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรแล้ว เท่ากับ 604 รายใน 1 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประท้วงของประชาชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อต่อต้านการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ลาออก

ความไม่พอใจของประชาชนมาเลเซียเกิดจากอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แพทย์มาเลเซียที่ทำงานหนักเกินไปหลายพันคนได้หยุดงานประท้วง โดยกล่าวว่าพวกเขาแทบแย่แล้ว และเตียงและเครื่องช่วยหายใจเริ่มลดน้อยลง

ตัวเลขที่พอจะดูดีหน่อยของมาเลเซียคือ มีประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วอย่างน้อย 23.8% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ

อันดับ 2 ไทย

อันดับสองไม่ใช่ที่ไหนไกล ประเทศไทยบ้านเรานี่เอง โดยเมื่อวานนี้เราทราบกันดีว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ 20,200 ราย เทียบสัดส่วนประชากรแล้ว เท่ากับ 289 คนใน 1 ล้านคน

สื่อต่างประเทศรายงานว่า โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาจำนวนผู้ป่วยล้น ขณะเดียวกัน สมาคมแพทย์ชนบทต้องช่วยส่งแพทย์และพยาบาลมากกว่า 400 คนจากพื้นที่ต่างจังหวัดไปยังสลัมและพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นของเมืองหลวง เพื่อเร่งการตรวจหาเชื้อและกักตัว

นอกจากนี้ ไทยยังขยายมาตรการล็อกดาวน์จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. เพื่อหวังชะลอจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้ครบโดสไปเพียง 5% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น นับว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหากไกลจากเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ดูแล้วการฉีดให้ได้ 70% อาจยังไม่เพียงพอ

อันดับ 3 อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก และได้แซงหน้าอินเดียไปแล้วในฐานะศูนย์กลางโควิด-19 ของเอเชีย และก่อนหน้านี้เคยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 50,000 รายต่อวัน แต่ล่าสุดลดเหลือ 35,867 รายต่อวัน หรือ 130 รายเมื่อเทียบกับประชากร 1 ล้านคน

ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1,747 ราย รวมแล้วทะลุหลัก 100,000 รายไปเป็นที่เรียบร้อย เป็นประเทศที่สองในเอเชียที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตโควิด-19 สะสมเกินหลักแสน แน่นอนว่าประเทศก่อนหน้านั้นก็คืออินเดีย

หากการแพร่กระจายยังคงไม่ลดลง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาจทำให้ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียเผชิญกับ “หายนะ” ได้ ขณะเดียวกัน ตัวเลขของอินโดนีเซียที่สูงอยู่แล้วนี้ “อาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง” เพราะอัตราการตรวจหาเชื้อในประเทศยังไม่เพียงพอ

ปัจจุบันอินโดนีเซียฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้ครบโดสเพียง 8% เท่านั้น

77 จังหวัดติดเชื้อเพิ่ม 44 จว.เกินร้อยถึงพัน "ภูเก็ต" มีคลัสเตอร์ใหม่ โควิดพราก 160 ชีวิต หญิงท้องดั...

อันดับ 4 เวียดนาม

ปีที่แล้ว เวียดนามถูกยกย่องให้เป็นตัวอย่างชั้นนำในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการกักตัวและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ชาวเวียดนามสามารถดำเนินชีวิตได้ค่อนข้างปกติ และเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 2.9% ในปี 2020

แต่ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เวียดนามรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะวันพุธ (4 ส.ค.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,623 ราย หรือ 78 รายในประชากร 1 ล้านคน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพบมากที่สุดในนครโฮจิมินห์

รัฐบาลเวียดนามได้ออกมาตรการล็อกดาวน์เมืองหลวงฮานอยและนครโฮจิมินห์อย่างเข้มงวด เพื่อพยายามควบคุมการแพร่ระบาด และมีการจัดตั้งศูนย์รักษาโควิด-19 เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น

การระบาดระลอกนี้กดดันรัฐบาลเวียดนามให้เร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะจนถึงขณะนี้ มีประชากรเพียง 0.8% จาก 96 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

อันดับ 5 เมียนมา

เมียนมากำลังเผชิญทั้งวิกฤตโรคระบาดและการรัฐประหารของทหาร ส่งผลให้ออกซิเจนและเตียงขาดแคลน ครอบครัวที่ป่วยหนักต้องเข้าคิวรอรับออกซิเจน ประชาชนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจำต้องเลือกที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลรับผู้ป่วยไม่ได้แล้ว องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า ระบบสาธารณสุขของเมียนมายังทำงานอยู่เพียง 40% เท่านั้น

วันที่ 4 ส.ค. เมียนมารายพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,051 ราย เท่ากับ 74 รายในประชากร 1 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน และเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย นี่อาจไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บาร์บารา วูดเวิร์ด เอกอัครราชทูต UN ประจำสหราชอาณาจักร เตือนว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ประชากรเมียนมาครึ่งประเทศ หรือราว 27 ล้านคน อาจติดเชื้อโควิด-19

เมียนมาไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ชัดเจน และการฉีดก็หยุดชะงักจากสภาวะทางการเมืองที่ไม่มั่นคง แต่คาดว่าตัวเลขการฉีดวัคซีนน่าจะน้อยกว่าที่ควรมาก

 

เรียบเรียงจาก CNN

ภาพจาก AFP

รู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดในปากีสถาน หวั่นลามมาไทย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ