โควิด-19 "เดลตา” ในอิตาลี กลายพันธุ์เพิ่มในตำแหน่งลดประสิทธิภาพวัคซีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




CDC สหรัฐฯ รายงานพบโควิด-19 เดลตา (อินเดีย) ที่กลายพันธุ์เพิ่มในตำแหน่งลดประสิทธิภาพวัคซีน-โมโนโคลนอลฯ ในแคว้นลอมบาร์เดีย ประเทศอิตาลี

“โควิด-19” ที่โลกรู้จักในปัจจุบันมีอยู่หลายสายพันธุ์ และคาดว่าจะเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ในอนาคต แต่สายพันธุ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและกังวลมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ “เดลตา (อินเดีย)”

สายพันธุ์เดลตานั้น เดิมมีการกลายอยู่ 3 ตำแหน่งที่น่ากังวล คือ D614G เชื่อว่าทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น, L452R ทำให้โปรตีนหนามของไวรัสแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ความสามารถในการรับรู้ของระบบภูมิคุ้มกันลดลง และ P681R เพิ่มการติดเชื้อในระดับเซลล์

แอฟริกาใต้พบโควิด-19 "C.1.2" อีกหนึ่งสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตา

WHO ยกระดับโควิด-19 สายพันธุ์โคลอมเบีย มอบโค้ดเนม “สายพันธุ์มิว”

รู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดในปากีสถาน หวั่นลามมาไทย

ก่อนหน้านี้นับเป็นโชคดี ที่สายพันธุ์เดลตาไม่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K อย่างในเบตา (แอฟริกาใต้) แกมมา (บราซิล) หรือมิว (โคลอมเบีย) เพราะการกลายพันธุ์ในตำแหน่งดังกล่าว จะเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านวัคซีนโควิด-19 และโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ได้

แต่ล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้เปิดเผยข้อมูลที่อาจนับได้ว่าเป็นข่าวร้าย นั่นคือพวกเขาพบว่า “ที่อิตาลีมีคลัสเตอร์หนึ่ง ซึ่งเป็นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแบบมีการกลายพันธุ์ E484K”

การเกิดขึ้นของการกลายพันธุ์ E484K ในสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เดิมไม่มี และแพร่กระจายหมุนเวียนอยู่ในชุมชนอย่างแพร่หลายนั้น เป็นสิ่งที่มีการคาดหมายไว้แล้ว และเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเพิ่มอัตราการหลบหนีภูมิคุ้มกันให้กับโควิด-19 ได้ในทางทฤษฎี

“เราพบสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) กลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K ในแคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardy) ของประเทศอิตาลี ทุกกรณีที่พบเป็นการทดสอบโดยวิธี PCR มีการถอดรหัสย้อนกลับแบบเรียลไทม์ และมีการจัดลำดับทางพันธุกรรม

เคสแรกที่พบคือเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2021 ชายวัย 41 ปีจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของลอมบาร์เดีย ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ครบ 2 โดส เริ่มมีอาการไอ  ไข้ขึ้น ผลการ Swab ออกมาเป็นบวก แต่เขารักษาตัวได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเมื่อนำตัวอย่างมาทำการจัดลำดับพันธุกรรม ก็พบว่า ชายรายนี้ติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K ร่วมด้วย

ต่อมาวันที่ 17 ก.ค. มารดาของผู้ป่วยรายแรก อายุ 80 ปี ได้รับวัคซีนโมเดอร์นาครบ 2 โดส เริ่มมีอาการเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และหายใจลำบาก และมีผลตรวจเป็นบวก

รายที่สาม เป็นชายอายุ 77 ปี ​ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดส เริ่มมีไข้ในวันที่ 21 ก.ค. และมีผลตรวจเป็นบวก

รายที่สี่เป็นหญิงวัย 83 ปี ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดสเริ่มมีไข้ อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. และมีผลตรวจเป็นบวก

รายสุดท้ายเป็นผู้ป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 4 รายแรก แต่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เป็นหญิงอายุ 81 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาครบ 2 โดส มีอาการหายใจลำบาก มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และเมื่อยล้า ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. และในวันที่ 29 กรกฎาคม เธอมีผลตรวจเป็นบวกสำหรับและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

การกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K ทำให้เกิดการดื้อต่อโมโนโคลนอลแอนติบอดี เช่น แบมลานิวิแมบ (Bamlanivimab) ซึ่งเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่สหรัฐฯ อนุมติให้ใช้ฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยพบว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพน้อยลง 10 เท่าในการต่อต้านไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K

การพบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K ในโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการวิวัฒนาการเพื่อหลบหนีภูมิคุ้มกันของไวรัส

ความน่ากลัวของสายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์เพิ่มนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะอันตรายมากขึ้นหรือไม่ แต่ข้อมูลที่มีปัจจุบันระบุว่า ทั่วโลกยังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแบบพ่วง E484K ไม่มากนัก ฉะนั้น การเฝ้าระวังโดยการจัดลำดับพันธุกรรมอย่างสม่ำเสมอควรได้รับความสำคัญในทุกพื้นที่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า “ประเด็นที่น่ากังวลกว่าคือ เดลตาที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง E484K เหมือนที่พบในมิว จะทำให้เดลตาหนีภูมิได้มากขึ้น แต่มีข้อมูลหนึ่งที่นักไวรัสวิทยาเชื่อว่า E484K อาจจะเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสลดความสามารถในการแพร่กระจายลง พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไวรัสอยากจะแพร่กระจายแบบเดลตาในปัจจุบัน ไวรัสมักจะไม่เลือกเปลี่ยนตัวเองจนมี E484K เพราะจะวิ่งช้าตามเพื่อนเดลตาตัวอื่น ๆ ไม่ทัน

“แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไวรัสเดลตาที่มี E484K จะไม่เกิดขึ้น รายงานชิ้นนี้เพิ่งออกมาจากทีมอิตาลี พบคลัสเตอร์ในผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีน mRNA ครบสองเข็ม (ทั้ง Pfizer และ Moderna) ติดเชื้อ Delta-E484K ได้ แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่มีอาการป่วยไม่มาก แต่ปริมาณไวรัสในร่างกายของผู้ป่วยคลัสเตอร์นี้ถือว่าไม่น้อยครับ จากข้อมูลที่รายงานมานอกจากที่อิตาลีแล้ว Delta-E484K มีรายงานในผู้ป่วยไม่มาก ซึ่งจากความสามารถในการถอดรหัสที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศทำให้ข้อมูลที่มีอาจจะไม่สะท้อนความจริงเท่าไหร่

“Delta-E484K อาจจะวิ่งช้ากว่าเดลตาปกติจริง ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ คงคาดเดายากว่า Delta-E484K จะสามารถปรับตัวเองเพิ่มขึ้นให้วิ่งไวขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งวิธีเดียวที่จะทราบได้คือ การค้นพบไวรัสตัวนี้ในผู้ป่วยที่มากขึ้น อย่างในกรณีของมิวในโคลอมเบียก่อนที่จะสรุปได้ ... การถอดรหัสไวรัสอย่างรวดเร็วจึงมีความจำเป็นมากก่อนที่จะปล่อยให้ไวรัสแพร่กระจายแบบควบคุมไม่อยู่ครับ

เรียบเรียงจาก CDC

ภาพจาก AFP / Getty Image / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ