วิกฤตสภาพอากาศอาจบีบให้ 216 ล้านคนทั่วโลกต้องย้ายถิ่นฐานภายในปี 2050


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ธนาคารโลกเผย ภายในปี 2050 อาจมีประชากรโลก 216 ล้านคนใน 6 ภูมิภาคต้องย้ายจากถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

รายงาน Groundswell ฉบับปรับปรุงของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการย้ายถิ่นฐานมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก

โดยมีการคาดการณ์ว่า ในกรณีเลวร้ายสุด จะมีประชากรราว 216 ล้านคนจากทั่วทั้ง 6 ภูมิภาคของโลกต้องย้ายถิ่นฐานเดิมไปยังพื้นที่อื่นภายในประเทศของตนภายในปี 2050 ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาจย้ายถิ่นฐานเร็วกว่านั้น คือภายในปี 2030

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! ฝนตกบนยอดภูเขาน้ำแข็งของกรีนแลนด์

นักวิทย์ชี้ “ก๊าซมีเทน” คือเป้าหมายใหม่ของการลดภาวะโลกร้อน

ภายในปี 2050 วิกฤตสภาพอากาศอาจทำให้คน 1.2 พันล้านคนต้องพลัดถิ่น  

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางในทุกภูมิภาค

สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา มีความเสี่ยงสูงมากต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แห้งแล้งที่เปราะบางอยู่แล้ว และตามแนวชายฝั่งทะเลที่เปิดโล่ง คาดว่าจะมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากสภาพอากาศได้มากถึง 86 ล้านคน เนื่องจากภาคการเกษตรมีอัตราการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสภาพอากาศส่งผลกับการเกษตรก็อาจทำให้ผู้คนจำนวนมากตกงาน และตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คาดว่าจะมีคนย้ายถิ่นฐาน 49 ล้านคน  โดยจีนจะเป็นตัวละครหลักในการกำหนดทิศทางสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคนี้ จากนโยบายที่พยายามลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลภาวะ

ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ซึ่งล้วนมีเมืองที่มีเศรษฐกิจหลากหลาย กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อผลกระทบที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล คลื่นพายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ประเทศไทย เมียนมา และกัมพูชา การเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณน้ำและพืชผลการเกษตรยังส่งผลต่อความน่าดึงดูดใจในการทำมาหากินด้วยการเกษตร

รายงานระบุว่า การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชากรและการดำรงชีวิตผ่านการลดการปล่อยมลพิษ ควบคู่ไปกับการวางแผนเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นในภูมิภาคนี้

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียใต้ก็มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน จะมีคนต้องย้ายถิ่นฐานประมาณ 40 ล้านคน การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เสี่ยงที่มีประชากรหนาแน่นสูงมีความสำคัญ

ส่วนภูมิภาคแอฟริกาเหนือ คาดว่าจะมีคนต้องย้ายถิ่นฐานราว 19 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ประกอบกับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่ชายฝั่งและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

ด้านภูมิภาคละตินอเมริกา ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจหลากหลาย และมีประชากรในเขตเมืองสูง ซึ่งเคยประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรแล้ว คาดว่าจะมีคนย้ายถิ่นฐาน 17 ล้านคน แต่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของภูมิภาคนี้อาจหมายถึงความสามารถในการปรับตัวและทรัพยากรทางการเงินที่สูงขึ้นในการกำหนดเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่และกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

สุดท้ายคือภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง คาดว่าจะมีการย้ายถิ่นฐานน้อยที่สุด เพียง 5 ล้านคน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มีการพึ่งพาภาคการเกษตรที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการจ้างงาน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อทรัพยากรน้ำและผลผลิตการเกษตรอาจมีไม่มากเท่าพื้นที่อื่น

แต่ภูมิภาคนี้ยังอาจมีผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียกลาง

รายงานยังพบว่า การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีหรือวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถลดอัตราการอพยพโดยรวมได้มากถึง 80%

นั่นหมายความว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกสามารถสร้างความแตกต่างที่สำคัญในการบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในชนบทและในเมืองบางแห่งได้ และทำให้ผู้คนสามารถอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิมที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีมาตรการปรับตัวที่เหมาะสม และประชากรได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกที่เราเห็นได้ในช่วงนี้ คืออุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อุทกภัยในสหรัฐฯ ไฟป่าในสเปนและสหรัฐฯ และอื่น ๆ อีกมากมายที่กำลังพยายามบีบในคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุอาจต้องคิดทบทวนเรื่องการย้ายถิ่นฐาน เพราะหากทั้งชีวิตพวกเขายังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่อย่างนั้น ก็อาจมิสู้ย้ายที่อยู่ไปเสียเลยดีกว่า

และการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวในระยะยาว ก็เป็นเรื่องที่นานาประเทศต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือกันลดปัจจัยที่จะก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

เรียบเรียงจาก World Bank

ภาพจาก AFP

นักวิทย์ เตือนครั้งสุดท้าย สภาพอากาศโลกอาจถึงขั้นวิกฤต

ผู้เชี่ยวชาญเตือนโลกไม่พร้อมรับมือสภาพอากาศเปลี่ยน

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ