แนวปะการังทั่วโลกหายไปครึ่งหนึ่ง ในระยะเวลาเพียง 70 ปีที่ผ่านมา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การศึกษาใหม่ของต่างประเทศพบว่า แนวปะการังทั่วโลกหายไปครึ่งหนึ่งในระยะเวลาเพียง 70 ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยใหม่ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร One Earth ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา แนวปะการังทั่วโลกหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การทำประมงเกินพอดี มลพิษในน้ำ และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย

เฉพาะจากแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในออสเตรเลีย ไปยังเขตซายา เดอ มัลฮา แบงก์ (Saya de Malha Bank) ในมหาสมุทรอินเดีย ระยะทาง 2,300 กม. พบว่าแนวปะการังและความหลากหลายของสายพันธุ์ปลาในพื้นที่กำลังลดลงอย่างมาก

วิกฤตสภาพอากาศอาจบีบให้ 216 ล้านคนทั่วโลกต้องย้ายถิ่นฐานภายในปี 2050

นักวิทย์ชี้ “ก๊าซมีเทน” คือเป้าหมายใหม่ของการลดภาวะโลกร้อน

โลกเป็นอะไรในปี 2020 ร้อนขึ้น-หมุนรอบตัวเองเร็วขึ้น

จากการสำรวจแนวปะการัง 14,705 ครั้งใน 87 ประเทศ พบว่าความพยายามในการจับปลาเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 โดยมีการจับปลาจากแนวปะการังสูงสุดในปี 2002 และลดลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การศึกษาพบว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามแนวปะการังลดลงมากกว่า 60% และแนวปะการังทั้งหมดลดลงครึ่งหนึ่งโดยประมาณ

แนวปะการังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนพื้นเมืองบนเกาะซึ่งมีปลาเป็นแหล่งโปรตีนหลัก และนักวิจัยกล่าวว่า การลดลงดังกล่าวทำให้เกิดความกลัวต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พวกเขามั่นใจว่า แนวโน้มปะการังทั่วโลกจะยังคงดำเนินต่อไปในทางที่ลดลง โดยมีปัญหาการฟอกขาว โรคต่าง ๆ และการรบกวนจากมนุษย์

ไทเลอร์ เอ็ดดี นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยที่มหาวิทยาลัยอนุสรณ์แห่งนิวฟาวด์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษานี้กล่าวว่า แม้ว่าความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแนวปะการังจะได้รับการเก็บข้อมูลในระดับชาติมานานแล้ว แต่เขารู้สึกประหลาดใจกับขอบเขตของการลดลงทั่วโลก

“แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนที่สุดในโลก ดังนั้นพวกมันจึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจริง ๆ มีการลดลงอย่างมากในยุค 60 และ 70 จากนั้นในยุค 80 ก็ยังคงลดลงเล็กน้อยแต่ไม่มากเท่าช่วงก่อนหน้า ... หากคุณดูแนวโน้มระดับประเทศของแนวปะการัง เราเห็นการลดลงมากที่สุดในปาปัวนิวกินี จาไมกา และเบลีซ” เขากล่าว

ทีมวิจัยสังเกตเห็นว่า องค์ประกอบของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตตามแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงในบางพื้นที่ โดยปลาที่ไวต่ออุณหภูมิมีจำนวนลดลง และสายพันธุ์ปลาที่มีความสามารถในการปรับตัวยืดหยุ่นมีจำนวนมากขึ้น

จอห์น บรูโน นักนิเวศวิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา และผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า แม้จะมีความแตกต่างในระดับภูมิภาค แต่สุขภาพของแนวปะการังทั่วโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

“น่าเสียดายที่เรายังคงสูญเสียแนวปะการังส่วนใหญ่ของโลกไปอย่างต่อเนื่อง คลื่นความร้อนในทะเลทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการฟอกขาวที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงตามแนวปะการังที่ห่างไกลและบริสุทธิ์ที่สุดในโลกบางแห่ง” เขากล่าว

เฉพาะในทะเลแคริบเบียน มีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า พื้นที่แนวปะการังลดลงประมาณ 0.25% ต่อปี “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวปะการังในทะเลแคริบเบียนถูกพายุเฮอริเคนและโรคภัยใหม่ ๆ เข้ามาทำร้าย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน” บรูโนกล่าวเสริม

มีการคาดการณ์ว่า มหาสมุทรบนโลกดูดซับความร้อนที่ถูกขังไว้โดยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 90% ทำให้อุณหภูมิของน้ำโดยเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ