ออสเตรเลีย-ฝรั่งเศส แตกหัก เพราะเรือดำน้ำนิวเคลียร์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง หลังจาก สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียทำข้อตกลงความมั่นคงที่เรียกว่า ออคัส เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ภายใต้ข้อตกลง สหรัฐฯ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูงให้กับออสเตรเลีย ด้าน จีนออกมาตอบโต้ ชี้การติดอาวุธให้กับออสเตรเลียแบบนี้ถือเป็นการยั่วยุ นอกจากจีนก็ยังมีเกาหลีเหนือที่ออกมาตอบโต้ด้วย

ฝรั่งเศส เรียกทูตในสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย กลับประเทศ ฉุนถูกฉีกสัญญาซื้อเรือดำน้ำ

สหรัฐฯ-อังกฤษ ช่วยสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ให้ออสเตรเลีย หวังต่อกร จีน

จีน ประณาม สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ร่วมสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ชี้นำโลกกลับสงครามเย็น

สหรัฐฯ และออสเตรเลียคาดเดาได้อยู่แล้วว่าทั้งจีนและเกาหลีเหนือจะไม่พอใจ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจมาก  สิ่งที่น่าจะสร้างความกังวลให้สหรัฐและออสเตรเลียมากที่สุดคือ ความไม่พอใจที่มาจากพันธิมิตร

ฝรั่งเศสออกมาแสดงความไม่พอใจตั้งแต่วันแรกที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจัก รและออสเตรเลีย ประกาศแผนความร่วมมือกัน ประเด็นที่ฝรั่งเศสไม่พอใจในช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องของการเสียหน้าและเสียผลประโยชน์

เนื่องจากเมื่อปี 2016 ออสเตรเลียได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสในการซื้อเรือดำน้ำไว้เป็นจำนวน 12 ลำ มูลค่าสัญญาคือ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท เป็นจำนวนเงินมหาศาล และแน่นอนเมื่อโดนออสเตรเลียยกเลิกสัญญา ฝรั่งเศสไม่พอใจมากของตัวเองอย่าง ฝรั่งเศส

 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฟลอเรนส์ พาร์ลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสเปิดแถลงข่าว ระบุว่า เหมือนถูกแทงข้างหลังจากพันธมิตรอย่างสหรัฐและออสเตรเลีย

การที่รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสออกมาแสดงความโกรธ ส่งผลให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บินไปพบกับตัวแทนฝรั่งเศส ก่อนเปิดแถลงข่าวว่า ไม่เคยคิดทิ้งพันธมิตร ระบุว่าสหรัฐฯ ยินดีเปิดรับประเทศอียูให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือออคุสนี้ด้วย แต่ดูเหมือนการออกมาพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะไม่พอในการทำให้ฝรั่งเศสหายโกรธ

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำออสเตรเลียกลับประเทศทูตฝรั่งเศสฌอง ปิแอร์ เตโบลต์ ต้องเก็บข้าวของ เดินทางกลับปารีสตามคำสั่ง แต่ระหว่างออกจากที่พักในกรุงแคนเบอร์ร่าเมืองหลวงของออสเตรเลีย ฌอง ปิแอร์ เตโบลต์ หยุดให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า นี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่ในทางการทูตของออสเตรเลียกับสหรัฐฯ

การเรียกทูตกลับประเทศเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่อาจจะเป็นความร้าวฉานที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลีย รวมถึงฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ นาโตด้วยกัน

ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะเรียกทูตประจำออสเตรเลียกลับประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง อีฟว์ เลอ ดริยอง ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ France 2 ของฝรั่งเศส เป็นการให้สัมภาษณ์ที่แรงมาก เพราะใช้คำว่า สหรัฐฯและออสเตรเลียตีสองหน้า

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส บอกว่า ได้รับแจ้งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียจะลงนามในความร่วมมือออคุส และแน่นอนว่าข้อตกลงนี้นำมาสู่การฉีกสัญญาซื้อเรือดำน้ำของออสเตรเลียกับฝรั่งเศส ทั้งหมดทั้งปวงคือการกระทำที่ดูถูกฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส บอกด้วยว่า นี่คือจุดที่เลวร้ายที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสมาถึงจุดเรียกทูตกลับประเทศ

 

ไม่เฉพาะความร้าวฉานในระดับรัฐบาล ถ้าไปถามคนฝรั่งเศส ปรากฏว่าจำนวนมากไม่พอใจ โดยบอกว่า การที่ออสเตรเลียฉีกสัญญาที่ทำไว้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ บางคนถึงกับบอกว่าเป็นการหักหลังกัน และการที่ฝรั่งเศสเรียกทูตกลับประเทศเป็นการตอบโต้ที่เหมาะสม

ทันที่ที่ฝรั่งเศสเรียกทูตกลับประเทศ เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอริสันของออสเตรเลียออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกผิดหวัง แต่อย่างไรก็ตามออสเตรเลียเข้าใจถึงเหตุผลที่ฝรั่งเศสต้องทำเช่นนั้น

ผู้นำออสเตรเลียระบุด้วยว่า เข้าใจดีอีกด้วยถึงความผิดหวังของฝรั่งเศสหลังจากออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงสร้างเรือดำนำมูลค่า 40,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามออสเตรเลียมีอำนาจอธิปไตย และมีสิทธิตัดสินใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความมั่นคงของประเทศ

นี่อาจเรียกได้ว่า เป็นจุดที่ต่ำที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสเรียกทูตของตัวเองกลับประเทศ ซึ่งผู้นำออสเตรเลียถูกถามหลายรอบในระหว่างแถลงข่าวว่า ตัดสินใจไม่ผิดใช่ไหมที่ล้มดีลเรือดำน้ำฝรั่งเศสและหันไปใช้ของสหรัฐฯ แทน นี่คือคำตอบ

น่าสนใจว่า ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรวมตัวกันของชาติตะวันตกในการต้านอิทธิพลของจีนหรือไม่ เพราะฝรั่งเศสเป็นทั้งสมาชิกของสหภาพยุโรปและนาโต

 

"ไบเดน" เตรียมถก"มาครง" ทางออกเรือดำน้ำนิวเคลียร์

ท่ามกลางวิกฤตทางการทูตระหว่างฝรั่งเศส-ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส-สหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ทำเนียบขาว

และเมื่อคืนที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส กาเบรียล แอททัล ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ BFM ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ขอมาทางรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมนูเอล มาครง

หนึ่งในประเด็นการพูดคุยคือ ผู้นำฝรั่งเศสจะขอคำอธิบายจากผู้นำสหรัฐฯ ว่า ทำไมจึงไม่มีการพูดคุยกับฝรั่งเศสก่อนในเรื่องความร่วมมือออคุส จนนำมาสู่การที่ออสเตรเลียยกเลิกคำสั่งต่อเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสพูดคือ การย้ำว่า สหรัฐและออสเตรเลียยังคือพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของฝรั่งเศส สิ่งที่ฝรั่งเศสเป็นกังวลไม่ใช่เรื่องของการค้า แต่เป็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ขณะนี้มีเดิมพันที่ใหญ่มาก

 

ออสเตรเลีย ต้องการเรือดำน้ำนิวเคลียร์คานอำนาจจีน

คำถามใหญ่ในขณะนี้คือ ทำไมออสเตรเลียจึงยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสและหันไปซบสหรัฐฯ  เรื่องนี้อาจจะเข้าใจได้ไม่ยากนักเพราะถ้าไปดูสัญญาที่ออสเตรเลียทำกับบริษัท Naval ของฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 โดยออสเตรเลียให้บริษัทสร้างเรือดำน้ำให้ 12 ลำ

เรือดำน้ำที่ฝรั่งเศสจะสร้างให้ออสเตรเลียเป็นเรือดำน้ำประเภทพลังงานดีเซล ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่ศักยภาพเทียบไม่ได้กลับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

ทำไมออสเตรเลียจึงต้องการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เพราะยุทธศาตร์ด้านความมั่นคงของออสเตรเลียเปลี่ยนไปอย่ามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความสัมพันธ์กับจีนเปลี่ยนไป

ก่อนหน้านั้น ออสเตรเลียและมีความสัมพันธ์ที่ดี เป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ด้านการค้า จีนคือผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ของออสเตรเลีย โดยเฉพาะแร่เหล็กจากออสเตรเลียเป็นที่ต้องการของตลาดจีนมาก เพราะมีคุณภาพสูง ซึ่งคุณภาพแบบนี้มีไม่กี่แห่งในโลก หนึ่งในนั้นอยู่ที่ออสเตรเลีย สินค้าของออสเตรเลียที่ส่งออกไปทั่วโลก ร้อยละ 45 มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศจีน

แต่ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จีนกับออสเตรเลียเริ่มร้าวกัน ออสเตรเลียเริ่มวิตกกับการขยายอำนาจทางการทหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เห็นชอบยกเลิกข้อจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่งผลให้ “สี จิ้นผิง” จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต

ออสเตรเลียเริ่มไม่ไว้ใจจีน เริ่มออกมาวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นทะเลจีนใต้ จนถึงเรื่องโควิด ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ออกมาบอกว่า จีนต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายเพราะปล่อยให้มีการระบาด จีนไม่พอใจ งดนำเข้าสินค้าของออสเตรเลียหลายรายงาน ตั้งกำแพงภาษีสินค้าหลายประเภท การงัดข้อกับจีนตั้งแต่ปี 2018 ส่งผลให้ออสเตรเลียต้องหาทางเพื่มศักยภาพทางการทหารของตัวเองในฐานะประเทศในอินโดแปซิฟิก พึ่งคนอื่นไม่ได้

 

ถ้าจะงัดกับจีน ของที่สั่งไว้กับฝรั่งเศสอาจจะไม่พอ เมื่อเทียบศักยภาพกันแล้ว เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เหนือชั้นกว่าเรือดำน้ำพลังงานไฟฟ้า ดีเซลเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัญหาของการก่อสร้างเรือดำน้ำของฝรั่งล่าช้าและมีปัญหา จึงนำมาสู่การล้มดีลในที่สุด

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำ รวมถึงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มีเรือดำน้ำประเภทนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และอินเดีย

แต่ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศสยังตามหลังอยู่ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและจำนวนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในครอบครอง

ปัจจุบันสหรัฐฯ คือประเทศที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดคือ 72 ลำ ส่วนฝรั่งเศสมี 16 ลำ สหรัฐฯ ยังถือเป็นประเทศแรกที่สามารถพัฒนาและสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลกที่สหรัฐฯ สร้างคือ ยูเอสเอส นอติลุส (USS Nautilus) ถูกปล่อยลงทะเลเมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 1955

เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากเดิมที่เรือดำน้ำเป็นเพียงยานพาหนะใต้น้ำที่เชื่องช้า กลายเป็นเรือรบที่มีความเร็วสูงขึ้น ดำน้ำได้ลึกขึ้น สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานเกือบ 3 เดือนโดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาเติมเสบียง และภายในำยังสามารถผลิตออกซิเจนจากน้ำทะเลได้ด้วย

นอกเหนือจากดีลเรือดำน้ำกับสหรัฐแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ว่า ออสเตรเลียกำลังปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่หลังจากความสัมพันธ์กับจีนแย่ลงคือ การอนุญาตให้สหรัฐส่งทหารมาประจำการในออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่พูดตรงๆว่า เพื่อรับมือกับจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับออสเตรเลีย

มือปืนบุกกราดยิงใน ม.รัสเซีย ดับ 8 ศพ นศ.โดดหน้าต่างหนีตายระทีก

ตาลีบันไม่ให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงาน สั่งยุบกระทรวงกิจการสตรี | 20 ก.ย. 64 | รอบโลก DAILY

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ