ทูตพิเศษสหรัฐฯในเฮติ ยื่นลาออก ประท้วงผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สหรัฐอเมริกา คือ จุดหมายปลายทางของผู้อพยพจากทั่วโลก ล่าสุดประเทศเฮติ กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง หลังผู้นำของประเทศถูกลอบสังหาร ซ้ำเติมปัญหาที่ประเทศมีอยู่ให้มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะความอดยากและยากจนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและการคอรัปชั่น ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวเฮติจำนวนมากจึงพยายามอพยพเข้าสหรัฐฯ พวกเขาบากบั่นเดินทางผ่านจุดที่อันตรายหลายจุดกว่าจะมาถึงพรมแดนและแผ่นดินสหรัฐฯ

ผู้นำอินเดียพบรองปธน.สหรัฐฯ ย้ำความสำคัญอินโด-แปซิฟิก

เหตุกราดยิงร้านขายของชำในสหรัฐฯ ดับ 2 เจ็บ 12 ราย

แต่สิ่งที่พวกเขาเจอคือ การปฏิบัติอย่างไร้ศีลธรรมจากเจ้าหน้าที่ มีการใช้ความรุนแรง  วิธีการปฏิบัติต่อผู้อพยพของสหรัฐฯ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก  ล่าสุดถึงขนาดเจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯในเฮติ ประกาศลาออก

เมื่อวานนี้ แดเนียล ฟูท ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในกิจการเฮติได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงประท้วงวิธีการปฏิบัติต่อผู้อพยพชาวเฮติ รวมถึงการส่งผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศ

 

 

ในจดหมายการลาออกระบุว่า นี่คือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของสหรัฐฯ เพราะเฮติกำลังล่มสลาย ปราศจากอาหารและที่พักพิง ผู้อพยพที่ถูกส่งกลับจะเผชิญกับโศกนาฎกรรม

สหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยผลักดันผู้อพยพชาวเฮติกลับประเทศตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยผู้ที่อยู่ในข่ายการส่งกลับมีนับหมื่นคน โดยเกือบทั้งหมดลอบเข้าสหรัฐฯ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการเดินเท้าผ่านเข้ามาทางประเทศเม็กซิโก ในจุดท้ายๆ ก่อนเข้าถึงชายแดน พวกเขาต้องข้ามแม่น้ำรีโอ แกรนด์ ที่คั่นกลางระหว่างเมืองซิวดัด อกูนา (Ciudad Acuna) ของเม็กซิโกและเมืองเดลริโอในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ

หลังจากนั้นก็ถูกสกัดและพวกเขาต้องตั้งแคมป์แออัดยัดเยียดอยู่ใต้สะพานท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด  ซึ่งตรงนี้สหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าปฏิบัติต่อผู้อพยพไม่ดี อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักคือ ภาพก่อนที่ผู้อพยพเหล่านี้จะมาถึงใต้สะพาน ในระหว่างการข้ามแม่น้ำ ปรากฏว่าตำรวจสหรัฐฯ ที่ประจำการแนวชายแดนขี่ม้าพร้อมใช้แส้เฆี่ยนตีพวกเขาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการข้ามแดน หลายคนบอกว่า เป็นวิธีการปฏิบัติที่ไร้ศีลธรรมและไม่ควรทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ชีวิตของผู้อพยพที่อยู่ใต้สะพานก็ต้องบอกว่าลำบาก นอกจากอากาศที่ร้อนจัดแล้ว ตอนนี้ยังขาดแคลนอาหารด้วย ผู้อพยพบางคนต้องข้ามพรมแดนไปยังเม็กซิโก เพื่อหาซื้ออาหารกลับมาให้ตัวเองและครอบครัวแบบนี้หลังจากอาหารที่ทางเจ้าหน้าจัดหาให้ไม่เพียงพอ

ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเร่งส่งผู้อพยพเหล่านี้กลับเฮติ โดยเป็นการส่งกลับทางเครื่องบินที่เริ่มขึ้น 2-3 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมีภาพความวุ่นนวายเกิดขึ้นเมื่อผู้อพยพเหล่านี้เดินทางถึงเฮติ

สนามบินในกรุงปอร์โตแปงซ์ เมืองหลวงของเฮติ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะหลังเครื่องบินของสหรัฐฯ ลงจอด บรรดาผู้อพยพที่ถูกส่งกลับก็พากันยืนล้อมรอบเครื่องบินและพยายามวิ่งกลับขึ้นเครื่องอีกครั้ง แต่เครื่องบินปิดประตูได้ทัน ส่งผลให้พวกเขาทำได้แค่ยืนด่าทอและสาปแช่งสหรัฐฯ บางรายโยนรองเท้าใส่เครื่องบินด้วยความไม่พอใจ

หลังจากนั้น ทางเครื่องบินได้นำข้าวของส่วนตัวของผู้อพยพไปกองไว้ที่พื้น ทำให้ผู้อพยพต่างวิ่งกรูเพื่อรับสัมภาระของตนเอง

นอกจากถูกเรียกว่า เป็นการปฏิบัติอย่างไร้ศีลธรรมต่อผู้อพยพจนทำให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ประจำเฮติรับไม่ได้และประกาศลาออกไปแล้ว

นโยบายส่งผู้อพยพกลับประเทศของสหรัฐฯ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

ล่าสุด โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี ยังได้ระบุว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในการส่งตัวผู้อพยพกลับนั้นไม่ใช่การเนรเทศ แต่เป็นนโยบายสำหรับจัดการผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ตำรวจใช้แส้ฟาดผู้อพยพและถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไร้ศีลธรรม และเป็นการทำเกินกว่าเหตุ  โฆษกทำเนียบขาวยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและล่าสุดได้มีการออกคำสั่งให้งดมาตรการและวิธีการปฏิบัติแบบนี้แล้ว

ปีนี้เป็นปีที่มีผู้พยายามอพยพเข้าสหรัฐฯ สูงมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้พยายามข้ามชายแดนทางตอนใต้ของประเทศได้ถึง 208,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้อพยพที่สูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี จำนวนมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผู้อพยพจากเฮติ ประเทศที่ขณะนี้การเมืองกำลังปั่นป่วนหลังจากประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ถูกลอบสังหารเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มมือปืนพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าไปสังหารเขาถึงในบ้านพัก

เฮติ คือประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกฝั่งตะวันตก จากปัญหาคอรัปชั่น ความปั่นป่วนทางการเมือง และภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ