ผลเลือกตั้งเยอรมนียังชี้ขาดผู้ชนะไม่ได้ สองพรรคใหญ่หาแนวร่วมตั้งรัฐบาล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การเมืองเยอรมนียังคาดเดาไม่ได้ หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ออกมาสูสี สองพรรคใหญ่ต่างอ้างชัยชนะ เดินหน้าหาแนวร่วมตั้งรัฐบาลผสม

ผลการเลือกตั้งเยอรมนีอย่างเป็นทางการเบื้องต้น หลังการนับคะแนนใน 299 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด ปรากฏว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย หรือเอสพีดี (SPD) ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 และมีจุดยืนแนวกลาง-ซ้าย ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 25.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แนวร่วมประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU) ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม ได้ 24.1 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นผลงานที่ย่ำแย่ที่สุดของพรรคนับตั้งแต่ก่อตั้งมา 70 ปี

ชาวเน็ตจวก นักการเมืองเยอรมนี ยืนหัวเราะกับเพื่อนขณะลงพื้นที่น้ำท่วม
“แมร์เคิล” เตรียมวางมือการเมืองอีก 3 ปีข้างหน้า

 

 

ส่วนพรรคกรีน ครั้งนี้ทำผลงานได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค ด้วยคะแนนเสียง 14.8 เปอร์เซ็นต์ เข้ามาเป็นที่สาม

จากผลการเลือกตั้งที่ชี้ขาดผู้ชนะไม่ได้ ทำให้ทั้งนายโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน หัวหน้าพรรค SPD และนายอาร์มิน ลาสเชต (Armin Laschet) ตัวแทนพรรค CDU/CSU และเป็นทายาทการเมืองของนางแมร์เคิล ต่างอ้างสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเปิดฉากเดินหน้าหาแนวร่วมจากพรรคอื่นๆ เพื่อตั้งรัฐบาลผสม โดยทั้งคู่ตั้งเป้าว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้ก่อนเทศกาลคริสต์มาส

สำหรับประเทศที่การเมืองมั่นคงมานาน 16 ปี ภายใต้การนำของนางแมร์เคิล ช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนี้ถือเป็นเส้นทางที่ไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน ขณะที่พันธมิตรชาติตะวันตกต่างจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตระหนักว่า ความกังวลภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อบทบาทของเยอรมนีในเวทีโลก และทำให้เกิดสุญญากาศผู้นำในยุโรปได้

 

ผลที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นพันธมิตร 3 พรรค โดยโชลซ์และลาสเชต จะต้องทาบทามพรรคกรีน และพรรคเอฟดีพี (FDP) ซึ่งพรรคการเมืองสายเสรีนิยมและสนับสนุนธุรกิจ เพื่อให้มีจำนวนเสียงมากพอที่จะครองเสียงข้างมากในสภา


อันนาเลนา แบร์บอค หัวหน้าพรรคกรีน

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทั้งสองพรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญนี้ (หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า kingmakers) จะยอมร่วมหอลงโรงง่ายๆ เนื่องจากมีจุดยืนที่ต่างกันในหลายประเด็น เช่น การขึ้นภาษี และการลงทุนของรัฐในการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศ


โดยนางอันนาเลนา แบร์บอค (Annalena Baerbock) หัวหน้าพรรคกรีน ยังคงไม่แสดงท่าทีใดๆ เกี่ยวกับการจับคู่ที่พรรคของเธอต้องการ โดยบอกเพียงว่า ถึงเวลาที่เยอรมนีจะเริ่มต้นใหม่

ขณะที่ นายคริสเตียน ลินด์แนร์ (Christian Lindner) หัวหน้าพรรคเอฟดีพี ซึ่งได้คะแนนเสียง 11.5 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า จะหารือกับพรรคกรีน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยถึงความเป็นไปได้กับสองพรรคใหญ่

คริสเตียน ลินด์แนร์  หัวหน้าพรรคเอฟดีพี

 

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ