ส่องดีลแต่ละประเทศซื้อ "ยาโมลนูพิราเวียร์" ต้านโควิด-19 รวมไทยลุ้นมาทันเปิดประเทศ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หาก FDA สหรัฐ อนุมัติการใช้ "ยาโมลนูพิราเวียร์" ต้านโควิด-19 กรณีฉุกเฉินในสหรัฐ จะถือว่าเป็นยาชนิดรับประทานตัวแรกที่ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งหลายประเทศเริ่มทำข้อตกลงซื้อขายกับบริษัท เมอร์ค แล้ว รวมถึงไทย ไปดูกันว่ามีประเทศใดบ้าง ส่วนไทยจะพาไปย้อนดูไทม์ไลน์ กันอีกครั้งว่าจะมาทันการเปิดประเทศ 1 พ.ย. หรือไม่

ยาโมลนูพิราเวียร์ ต้านโควิด-19 เป็นเหมือนอีกความหวังหนึ่ง ซึ่งความคืบหน้าสุดคืออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ อย.สหรัฐ (FDA) หลังบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ยื่นขออนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอการอนุมัติหรือไม่ หลายประเทศได้เดินหน้าเจรจาทำสัญญาซื้อขาย ยาโมลนูพิราเวียร์ แล้วเช่นกัน  

เมอร์คยื่น FDA ขอใช้"ยาโมลนูพิราเวียร์"ต้านโควิด-19กรณีฉุกเฉินในสหรัฐ

ผลทดลองใช้ยาต้านโควิด-19 "โมลนูพิราเวียร์" พร้อมไทม์ไลน์นำเข้าใช้ในไทย

สหรัฐฯ สั่งซื้อ 1.7 ล้านชุด พร้อมใช้ทันทีหลัง อย.สหรัฐ อนุมัติ

สหรัฐฯ เจรจาสั่งซื้อ กับ บริษัท เมอร์ค ที่คาดว่าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านชุดสภายในสิ้นปีนี้ โดยทำสัญญาจัดหาให้รัฐบาลสหรัฐแล้ว 1.7 ล้านชุดในราคาชุดละ 700 ดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทันทีหาก อย.สหรัฐ อนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน

นิวซีแลนด์สั่งซื้อที่ 60,000 ชุด

นิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่บรรลุข้อตกลงในการใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับรักษาและต้านโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศข้อตกลงแล้วว่าจะใช้ยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย ถึง ปานกลาง โดยทำข้อตกลงกับ บริษัท เมอร์ค เบื้องต้นอยู่ที่ 60,000 ชุด

ยาโมลนูพิราเวียร์ จะเป็นเครื่องมือเสริมที่จะเข้ามาช่วยรัฐบาลในการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อลดการเข้าโรงพยาบาล แต่สิ่งสำคัญที่สุดยังเป็นการป้องกันตนเองด้วยการรับวัคซีน  ” อาร์เดิร์น กล่าว

ออสเตรเลีย  300,000 ชุด

เช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลีย เจรจาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ที่ 300,000 ชุด โดย นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ประกาศว่าว่ารัฐบาลได้ตกลงซื้อยาโมลนูพิราเวียร์  กับ บริษัท เมอร์ค “ยาดังกล่าวจะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับไวรัส”  มอร์ริสัน กล่าว

ดร.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์  กล่าวว่า  เราคาดหวังว่ายานี้จะมีราคาไม่แพง และจะช่วยให้เราสามารถรักษาผู้คนจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลีย คาดว่า หลังยาโมลนูพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว จากนั้นหน่วยงานควบคุมยารักษาโรคและวัคซีนของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration (TGA))

จะพิจารณาการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ปลายปีนี้ และคาดว่าจะอนุมัติใช้ในต้นปี 2565  พร้อมกับยาที่ถูกจัดส่งมาถึง

มาเลเซีย 150,000 ชุด

ไครี จามาลุดดิน (Khairy Jamaluddin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า มาเลเซียกำลังก้าวไปสู่การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 และได้ลงนามในข้อตกลงในการจัดหายาต้านไวรัสเพื่อรักษาการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการของเราที่จะเปลี่ยนไปสู่การใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสโควิด-19” เขากล่าวในแถลงการณ์ โดยมาเลเซียจะจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 150,000 ชุด  เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และรับมือกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ไครี  ย้ำว่า การตกลงซื้อยาดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีกต่อไป แต่เนื่องจากวัคซีนมีไว้เพื่อป้องกันและลดการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  ซึ่งเราจะดำเนินการควบคู่กัน

สิงคโปร์บรรลุข้อตกลงซื้อยา แม้คนในประเทศฉีดวัคซีนแล้ว 80%

รัฐบาลสิงคโปร์ลงนามในการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งจะเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดรับประทานชนิดแรกในการรักษาโควิด-19 การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงที่สุด ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ 3,486 คน และ 80% ของคนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

น.ส.แปง ไลลี กรรมการผู้จัดใหญ่สาขาสิงคโปร์และมาเลเซีย ของเมอร์ค เปิดเผยว่า รัฐบาลสิงคโปร์ทำข้อตกลงกับบริษัท เพื่อซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ยาต้านเชื้อไวรัสสำหรับใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยบริษัทจะส่งมอบยาได้ หลังสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ยาได้ 

เกาหลีใต้ 20,000 ชุด

นายกรัฐมนตรี คิม บู-คยูม ประกาศว่า ได้เจรจากับบริษัทเมอร์ค เพื่อจัดสรรยาโมลนูพิราเวียร์ 20,000 ชุด ในราคา 36.2 พันล้านวอน หรือ 30.31 ล้านดอลลาร์  สำหรับใช้ในเกาหลีใต้แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้จะเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยประมาณ 40,000 คน

ไต้หวันมีแผนใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เช่นกัน

นอกจากนี้ Chen Shih-chung   ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการแพร่ระบาดกลาง (CECC) ของไต้หวัน ระบุว่า มีแผนที่จะใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เช่นกัน หากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนและราคายา

 

ไทยร่างสัญญาซื้อขายแล้วพร้อมนำเข้าทันทีหากผ่าน อย.สหรัฐ

สำหรับไทยตามการเปิดเผยของ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ได้ทำการเจรจากับบริษัทเมอร์ค แล้วและจัดทำร่างสัญญาแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าอย.สหรัฐ อนุมัติ ก็คาดว่า ช่วงเดือน พ.ย. นี้ อย.ไทยจะอนุมัติยาดังกล่าว และต้นปี 2565 จะเริ่มใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย

อย่างไรก็ตาม บริษัท เมอร์ค  คาดว่า ปีนี้ (2564) ผลิต 10 ล้านชุด และแผนกำหนดราคายาตามเกณฑ์รายได้ของประเทศ ซึ่ง นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า ไทยจะซื้อได้ในราคาระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งยังไม่ได้ระบุว่าจะจัดซื้อจำนวนเท่าใด และราคาเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่าราคาของยาโมลนูพิราเวียร์ที่ไทยซื้อจะไม่แพงเท่ากับที่สหรัฐสั่งซื้อคือชุดละ 700 ดอลลาร์

ผลการศึกษา “ต้านได้ทุกสายพันธุ์” ลดนอนโรงพยาบาล 50%

จากการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ในผู้ป่วยทั้งหมด 775 คน ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จริง 385 คน และยาหลอก 377 คน ซึ่งผู้ที่รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน จะใช้ในปริมาณ 800 มิลลิกรัมวันละ 2 เวลา เช้า - เย็น เป็นระยะเวลา 5 วัน พบว่า ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล 50% และไม่มีผู้เสียชีวิต

เรียบเรียงจาก : www.rnz.co.nz / taiwannews / straitstimes / https://endpts.com/ / 9news / 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ