อัตราตรวจหาโควิด-19 แบบ RT-PCR ของไทย พร้อมรับนักท่องเที่ยวแล้วหรือ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปรียบเทียบศักยภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ของแต่ละประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวซึ่งรีเควสต์ให้ตรวจซ้ำเมื่อถึงปลายทางแบบที่ไทยจะทำ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าไทยโดยทางอากาศ โดยมาจากประเทศที่เรากำหนดว่า เป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ ขอเพียงแค่ เมื่อเดินทางเข้าไทย ทุกคนต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ผลเป็นลบ ซึ่งตรวจก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะมีการตรวจอีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย”

สนามบินบรัสเซลส์ตรวจ RT-PCR แบบใหม่ Swab รู้ผลโควิด-19 ใน 15 นาที

หลากหลายมุมมอง หลังนายกฯแถลงเปิดประเทศ 1 พ.ย. รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด่วน!! นายกฯแถลงการณ์ 1 พ.ย.เปิดประเทศ 1 ธ.ค.64 ขายเหล้านั่งดื่มได้ เล็งเปิดสถานบันเทิง

คำแถลงดังกล่าวของนายกฯ กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกในชั่วข้ามคืน ซึ่งสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยม แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องของ “การตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย” ก็ทำให้เกิดข้อกังขา ทั้งในหมู่ชาวต่างชาติ และประชาชนคนไทยเอง

ปัจจุบัน ระเบียบการเข้าประเทศของหลายประเทศมักระบุว่า ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดสอย่างน้อย 14 วัน และมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 2-3 วันก่อนออกเดินทาง มีน้อยประเทศที่จะขอตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความลังเล เนื่องจากระหว่างรอผลตรวจจะต้องกักตัวอยู่ในที่พักก่อน ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนมองว่าเป็นการเสียโอกาสในการท่องเที่ยว และบางประเทศยังต้องจ่ายค่าตรวจตรงส่วนนี้เองด้วย

ขณะที่ในมุมของคนไทยเอง มองในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ หากประเทศไทยจะต้องตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติพร้อมกับตรวจคนในประเทศไปด้วย ประเทศไทยจะมีศักยภาพเพียงพอหรือ

นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมศักยภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ของประเทศที่มีนโยบายให้นักท่องเที่ยวตรวจหาเชื้อซ้ำเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อทำการเปรียบเทียบว่า ประเทศไทยจะไหวหรือไม่

เริ่มกันที่มหาอำนาจอย่าง สหราชอาณาจักร ที่เพิ่งประกาศถอนรายชื่อหลายประเทศออกจาก “Red List” และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้ แต่ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรอง 4 ยี่ห้อ และมีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศเป็นลบ และต้องตรวจซ้ำอีกครั้งภายใน 2 วันหลังเดินทางถึงสหราชอาณาจักร โดยต้องจ่ายเงินจองคิวตรวจไว้ก่อน

โดยสหราชอาณาจักรมีศักยภาพในการตรวจหาโควิด-19 แบบ RT-PCR ต่อวันสูงถึง 900,000 ครั้ง ซึ่งนับเป็นตัวเลขการตรวจที่สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้นในแง่ของศักยภาพการตรวจนี้คาดว่าไม่กระทบกับการตรวจหาเชื้อคนในประเทศแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสหราชอาณาจักรประกาศเพิ่มเติม ให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกตรวจด้วยชุดตรวจแบบเร็ว Lateral Flow แทนได้ เริ่มตั้งแต่ 24 ต.ค. นี้เป็นต้นไป (แต่จองได้ตั้งแต่ 22 ต.ค.) ทั้งนี้คาดว่า ดำเนินการเช่นนี้เพื่อลดความยุ่งยากของนักท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

ขยับมาทางตะวันออกกลาง ที่ ดูไบ/ยูเออี มีเงื่อนไขต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 และผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทางเช่นกัน แต่ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่มาจาก 65 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) จะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำเพื่อความแน่ใจ

โดยยูเออีมีศักยภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR อยู่ที่ประมาณวันละ 320,000 ครั้ง ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะจัดสรรระหว่างการตรวจในประเทศกับการตรวจให้นักท่องเที่ยว

ขยับมาที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราอย่าง สิงคโปร์ ระบุว่านักท่องเที่ยวทุกคนต้องจองคิวตรวจหาโควิด-19 แบบ RT-PCR ก่อนเดินทางมาสิงคโปร์ และเมื่อเดินทางมาถึงต้องเข้ารับการตรวจ

สิงคโปร์มีศักยภาพการตรวจหาเชื้อใกล้เคียงกับไทย คือประมาณวันละ 60,000 ครั้ง แต่ด้วยประชากรที่น้อย ไม่ถึง 6 ล้านคนทำให้เป็นอัตราตรวจที่ดูจะเพียงพอ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางจะรองรับไหวหรือไม่ในอัตราตรวจเท่านี้

ทางด้าน จอร์เจีย มีนโยบายให้นักท่องเที่ยวที่ผลตรวจเป็นลบก่อนเดินทางมาเยือนเข้าตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งภายใน 3 วัน โดยจอร์เจียมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR อยู่ที่วันละ 40,000-50,000 ครั้ง

คิวบา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขอให้นักท่องเที่ยวทำการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำเมื่อเดินทางมาถึง โดยจะใช้เวลาตรวจนานพอสมควร ทำให้หลังเดินทางมาถึงนักท่องเที่ยวต้องกักตัวชั่วคราวอยู่ในโรงแรม (ออกจากห้องพักได้) เป็นเวลาประมาณ 7 วัน

ระยะเวลาที่นานนี้ ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากศักยภาพในการตรวจหาโควิด-19 แบบ RT-PCR ของคิวบาซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 30,000-40,000 ครั้งต่อวัน

เมื่อย้อนกลับมาดู ประเทศไทย เราพบว่า ประเทศไทยไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า ในแต่ละวันเราสามารถตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ได้เท่าไร แต่คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 ครั้งต่อวัน (อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Our World in Data ระบุอัตราการตรวจหาเชื้อของประเทศไทยไว้ที่ไม่เกิน 40,000 ครั้งต่อวัน)

คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยในตอนนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง ตัวเลขการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่แท้จริงของประเทศเทศไทยอยู่ที่เท่าใดกันแน่ และสอง ศักยภาพการตรวจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพียงพอแล้วหรือไม่กับการรองรับการตรวจนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มเติม เพราะด้วยอัตราตรวจในปัจจุบัน หากต้องแบ่งใจไปตรวจให้นักท่องเที่ยว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้

เรียบเรียงจาก รัฐบาลสหราชอาณาจักร / รัฐบาลจอร์เจีย / รัฐบาลยูเออี / สนามบินชางอี สิงคโปร์ / Our World in Data / Worldometer / Young Pioneer Tours

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ