อนามัยโลก เตือนโควิดลากยาวถึงปี2022 เหตุวัคซีนกระจุกประเทศร่ำรวย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ดูเหมือนว่าโลกจะไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ง่าย ๆ ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม ล่าสุด องค์การอนามัย (WHO) เตือนวิกฤตโควิดจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยปี 2022 ซึ่งเป็นการลากยาวอย่างไม่จำเป็น สาเหตุสำคัญ เพราะอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศยากจนต่ำมาก ประเทศเหล่านั้นเข้าไม่ถึงวัคซีน เนื่องจากวัคซีนไปกระจุกตัวอยู่ในประเทศร่ำรวย

โควิด-19 “เดลตา” ในอังกฤษกลายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ไม่ใช่สาเหตุยอดติดเชื้อสูงขึ้น

WHO เตือนวิกฤตโควิดอาจลากยาวถึงปี 2022

ดร.บรูซ อิลวาร์ด ผู้บริหารระดับสูงของ WHO เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดจะลากยาวต่อไปอย่างน้อยอีกหนึ่งปีจนถึงในปี 2022 เนื่องจากในเวลานี้ประชากรในภูมิภาคยากจนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อยมา เช่น ประชากรในภูมิภาคแอฟริกาที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมีน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ถือว่าต่ำมาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้วในภูมิภาคอื่นๆมีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนราว 40 เปอร์เซ็นต์

ผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลกรายนี้ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยยกคิวในการสั่งซื้อวัคซีนให้แก่ประเทศยากจนแทน โดยเขายังบอกด้วยว่า ตอนนี้เราจำเป็นต้องเร่งความเร็ว มิเช่นนั้นการแพร่ระบาดจะยืดเยื้อไปอีกหนึ่งปีแทนที่มันจะจบลง

ข้อมูลจาก The People's Vaccine หน่วยงานที่ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนชี้ว่า วัคซีนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้กระจุกตัวอยู่ในประเทศร่ำรวย หรือประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ประเทศที่มีวัคซีนสต็อคไว้มากที่สุดคือ สหรัฐฯ ที่มีอยู่ราว 1 พันล้านโดส ( มีประชากร 333 ล้านคน) เท่ากับว่ามีวัคซีนเกินกว่าที่ต้องการใช้เยอะมาก รองลงมาคือ สหภาพยุโรป มีมาก 500 ล้านโดส ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนอย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาทำวิจัยและพัฒนาวัคซีน มีการทำข้อตกลงกับบริษัทเหล่านั้นเพื่อให้ได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรก ๆ

การกระจุกตัวของวัคซีนในประเทศร่ำรวยส่งผลต่อโครงการโคแวกซ์ โครงการขององค์การอนามัยโลกที่มีจุดประสงค์ให้ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศยากจนได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

 

ทั้งนี้โครงการโคแว็กซ์มีเป้าหมายที่จะจัดส่งวัคซีนให้ได้สองพันล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ แต่นับจนถึงปัจจุบัน โคแว็กซ์ทำได้เพียงแค่ 371 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งถือว่าห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก ส่งผลให้ประเทศยากจนโดยเฉพาะในแอฟริกามีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ

โลกยังจะไม่ปลอดภัยถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งยังไม่ปลอดจากการระบาด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ประเทศที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอแล้วจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอ และมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงมาก โดยคนที่ได้รับครบ 2 โดสแล้วมีเกือบร้อยละ 70 ซึ่งเป็นอัตราที่สามารถสร้างภูมิคุมกันหมู่ได้ แต่สถานการณ์การระบาดในสหราชอาณาจักรกลับมาหนักอีกครั้ง ยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 40,000 คนติดต่อกันมา 1 สัปดาห์เต็มแล้ว ซึ่งถือว่าสูงมากหากดูจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ 67 ล้านคน ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษออกมาเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อาจแตะถึง 100,000 คนต่อวันในช่วงฤดูหนาวซึ่งจะเริ่มประมาณเดือนหน้า

 

หวั่นสหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อใหม่ถึงแสนในฤดูหนาว

ล่าสุด เมื่อวานนี้ 20 ตุลาคม ผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึง 49,139 ราย สูงที่สุดหลังจากอังกฤษมีการประกาศคลายล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 3 เดือนก่อน

ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษเปิดแถลงข่าว ระบุว่า แนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และเป็นไปได้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะสูงถึง 100,000 รายต่อวันในอีกไม่นานนี้

ทั้งนี้การประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อเดือนกรกฏาคม ยอดการติดเชื้อรายวันของอังกฤษเริ่มขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมของที่นี่อยู่ที่ 8,589,737 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ อินเดีย บราซิล

จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้มีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง และก่อนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะไปถึง 100,000 คน

หนึ่งในคนที่ออกมาเรียกร้อง คือ สมาพันธ์องค์การด้านสุขภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นเอชเอส คอนเฟเดอเรชัน ซึ่งเป็นตัวแทนบรรดาผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขของรัฐ ที่ระบุว่า รัฐบาลต้องใช้แผน B เพื่อสกัดกั้นการระบาด

โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีการร่างแผนไว้ 2 แผนสำหรับการรับมือ แผนแรกเรียกว่า แผน A แผนนี้จะมีการเร่งฉีดบูสเตอร์โดสให้กับประชากรเพิ่มอีก 30 ล้านคนเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไปให้เร็วขึ้น รวมถึงเริ่มและเร่งการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-15 ปี เปิดศูนย์ตรวจโควิดฟรีต่อ รวมถึงรณรงค์ให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยในที่ที่มีคนหนาแน่น

ถ้าแผน A ไม่ได้ผล ก็จะขยับขึ้นมาใช้แผน B แผนนี้ดูรายละเอียดแล้วก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการล็อกดาวน์ ส่วนหนึ่งของแผน คือ การให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน จำกัดการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมทางสังคม การใช้วัคซีนพาสปอร์ต หรือ Covid Pass ที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้แล้วแต่ถูกประท้วงหนัก และรวมถึงการบังคับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ปิดและสถานที่สาธารณะ หมายความว่า การสวมใส่หน้ากากจะไม่ใช่ความสมัครใจ แต่จะเป็นการบังคับ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า ยังมองไม่เห็นความจำเป็นในการบังคับใช้แผน B เพราะถ้าเร่งทำแผน A ได้ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะการฉีดวัคซีนพิสูจน์แล้วว่าลดอัตราการป่วยและตายได้

ถึงแม้ว่าจะคาดการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อจะสูงมากขึ้นไปอีก คือเกือบ 100,000 รายต่อวัน แต่ดูเหมือนรัฐบาลอังกฤษจะมั่นใจว่าเอาอยู่ โดยเครื่องมือที่จะใช้คือ การเร่งฉีดวัคซีน และขอความร่วมมือประชาชน จะยังไม่มีการบังคับหรือล็อกดาวน์ นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังมีแผนสำรองอีกคือ การสั่งซื้อวัคซีนและยาเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จะไม่มีการล็อกดาวน์รอบใหม่ เพราะอีกปัจจัยหนึ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาคือ แรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข ต้องดูว่าอัตราการครองเตียงจะเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ถ้าผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้ก็เป็นไปได้ว่า จะมีการประกาศใช้แผน B

 

อีกประเทศที่กำลังเจอการการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อคือรัสเซีย แต่ปัจจัยที่ทำให้รัสเซียมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแตกต่างไปจากในสหราชอาณาจักร ปัญหาในรัสเซีย คือ อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ เนื่องจากคนไม่มั่นใจ ไม่อยากฉีด

ล่าสุดประธานาธิบดีปูตินต้องออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ โน้มน้าว ชักชวนให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน และประกาศหยุดงานทั่วประเทศ 1 สัปดาห์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. เป็นต้นไป เพราะในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของรัสเซียสูงที่สุดในโลก หากไม่นับสหรัฐฯ

ดูยอดผู้ติดเชื้อก่อน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของวันที่ 19 ตุลาคม มี 33,740 ราย ส่วนเมื่อวานนี้ 20 ตุลาคม มี 34,073 ราย เพิ่มขึ้นไม่มาก อย่างไรก็ตามจากกราฟจะเห็นว่า ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของรัสเซียสูงถึงวันละสามหมื่นแบบนี้มาเกือบ 10 วันแล้ว เป็นจำนวนที่เพิ่มจากเมื่อเดือนก่อนเกือบเท่าตัว และที่ไม่เหมือนกับบางประเทศอย่างเช่นสหราชอาณาจักร ที่แม้ผู้ติดเชื้อจะสูงและอัตราการตายน้อยแต่ที่รัสเซียผู้ติดเชื้อสูง อัตราการตายก็สูงตาม

ข้อมูลของวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียมีผู้เสียชีวิตรายวัน 1,015 ราย ส่วนเมื่อวาน 20 ตุลาคม สูงขึ้นอีกเป็น 1,028 คน และเป็นยอดสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดกราฟผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่น้อย

รัสเซียหยุดงานสู้โควิด ปูตินวอนประชาชนฉีดวัคซีน

ลักษณะของการระบาดในรัสเซียมีจุดที่แตกต่างจากในสหราชอาณาจักร ในสหราชอาณาจักร ติดเชื้อสูง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่สูงมาก แต่ในรัสเซีย ผู้ติดเชื้อสูง ผู้เสียชีวิตสูง เพราะรัสเซียฉีดวัคซีนได้น้อย ถึงแม้จะผลิตวัคซีนได้เอง แต่คนจำนวนมากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจำนวนคนที่ได้รับครบสองโดสในรัสเซียมีเพียง 37 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 146 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป

มีเสียงจากแพทย์จากสถาบันเวชศาสตร์ฉุกเฉินกรุงมอสโก ระบุว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยล้วนไม่ได้ฉีดวัคซีน มีเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ป่วยโควิดที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ในจำนวนนี้หลายคนมักอ้างว่า ไม่มีเวลาฉีดหรืออ้างว่า ถ้าหายป่วยแล้วจะไปฉีด นั่นหมายความว่า จะแก้ปัญหาการระบาด ต้องแก้ให้ผู้คนยอมเข้ารับวัคซีนกันมากขึ้น

เจ้าหน้าที่รัฐพยายามอำนวยความสะดวก จัดสถานที่ฉีดวัคซีนในห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะ ไม่จำกัดแค่ในโรงพยาบาลหรือคลินิค เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน

 

ทั้งยังออกนโยบายแจกล็อตเตอรีหรือมอบสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจให้คนฉีดวัคซีน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนยังลังเลและกังวลว่าจะได้รับผลข้างเคียง

ล่าสุดผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องออกมายอมรับว่า สถานการณ์กำลังวิกฤต และโน้มน้าว ขอร้องให้คนเข้าฉีดวัคซีนเพื่อกดกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อลงก่อนที่หายนะจะแย่ยิ่งกว่านี้เมื่อฤดูหนาวมาถึง

นอกจากเรียกร้องให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว ประธานาธิบดีปูติน ยังประกาศให้หยุดงานทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ โดยจะยังจ่ายเงินเดือนตามปกติ แต่หากพื้นที่ใดที่มีการระบาดรุนแรง ทางการท้องถิ่นสามารถพิจารณาขยายวันหยุด หรืออาจเริ่มหยุดก่อนหน้านั้นได้

ส่วนในเมืองหลวงคือ กรุงมอสโก ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักสุด นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก ประกาศให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน  พร้อมออกคำสั่งให้บริษัทเอกชนจะต้องให้พนักงานอย่างน้อย 1 ใน 3 ทำงานจากบ้านเป็นเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หรือวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดการระบาด รัสเซียมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 226,000 คน ซึ่งสูงสุดในยุโรป

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ