ชำแหละอดีต ปัจจุบัน อนาคต “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” กับบทบาทของไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรียบเรียงปัญหา “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์กำลังคุกรุ่น

“ทะเลจีนใต้” เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลกและสิ่งแวดล้อม และมีผลประโยชน์มหาศาลที่หลายประเทศจับจ้อง จนเกิดเป็นข้อพิพาทที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปี และย้อนไปได้นานนับร้อยนับพันปี

ข้อพิพาททะเลจีนใต้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า จะเกิดผลกระทบอะไรกับประเทศไทยและอาเซียนบ้าง นำมาสู่การชำแหละสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ในงานสัมมนาออนไลน์ “ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ความหวัง ความจริง และท่าทีของสหรัฐอเมริกา”

เรือดำน้ำสหรัฐฯชนวัตถุปริศนาในทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้เดือด! จีนยิงขีปนาวุธขู่เครื่องบินสอดแนมสหรัฐฯ

อะไรคือภัยคุกคาม ในทะเลจีนใต้ ที่ต้องมีเรือดำน้ำ

โดยงานสัมมนาดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย สถานทูตอเมริกา และศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ข้อพิพาททะเลจีนใต้คืออะไร

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เท้าความให้ฟังว่า ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วน และทั้งหมด บริเวณเหนือดินแดน และอธิปไตยในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) และหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands)

“พื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ดังนั้น ทะเลจีนใต้จึงมีความสำคัญในมิติเชิงยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ และส่งผลไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต” คณบดีกล่าว

ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พบว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยที่เกิดจากทะเลอยู่ที่ “24 ล้านล้านบาทต่อปี” นั่นหมายความว่า มูลค่าในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกน่าจะอยู่ในระดับมหาศาลยิ่งกว่านี้อีก

“ดังนั้นจึงต้องมีกติกาในการใช้ทะเล เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล 1982 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ ในเขตทางทะเล” รศ.ดร.ภูมิกล่าว

แต่เมื่อมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ประกอบกับนโยบายทางการเมือง ทำให้จีนต้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ จนมีการกำหนด “เส้นเก้าขีด (Nine-Dash Line)” หรือเส้นแบ่งเขตอย่างหยาบ ๆ ที่จีนใช้ในการอ้างสิทธิ์ของตนเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์นี้กับประเทศใกล้เคียงที่มีน่านน้ำติดทะเลจีนใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน

ผศ.อัครพงศ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ และกรรมการสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย เล่าว่า ในประวัติศาสตร์แต่เดิม มีการประกาศอาณาเขตและข้อพิพาทบางส่วนกันอยู่แล้ว แต่เด่นชัดขึ้นในช่วงหลังประกาศใช้อนุสัญญา 1982 ที่ทีการกำหนดอาณาเขตทะเลที่เป็นสากล ซึ่งขัดกับอาณาเขตเดิมที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการหรือเคยกำหนดไว้

ผศ.อัครพงศ์บอกว่า ที่ผ่านมาจีนและประเทศคู่พิพาทได้มีความพยายามยกอ้างหลักฐานต่าง ๆ เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นจีนที่อ้างการพบเครื่องกระเบื้องสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ราว 250 ปีก่อนคริสตกาล) อายุกว่า 2,000 ปี หรือเวียดนามที่อ้างบันทึกโบราณปี 1010 ว่าหมู่เกาะฮว่างซา (พาราเซล) และเตรื่องซา (สแปรตลีย์) เป็นของเวียดนาม

สถานการณ์ปัจจุบัน

พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผบประโยชน์ของชาติทางทะเล เสริมว่า นอกจากประเทศคู่พิพาทที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว สหรัฐฯ เอง ยังเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของสหรัฐฯ ต้องการให้มี Freedom of Navigation หรือเสรีภาพในการเดินเรือ และเพื่อถ่วงดุลอำนาจ เพราะหากจีนครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ได้ จะเท่ากับควบคุมเส้นทางทางทะเลที่สำคัญ และประเทศอื่น ๆ อาจจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเดินเรือในทะเลจีนใต้

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย บอกว่า ประเทศที่เจริญแล้ว อยากให้ทะเลเป็นของสากลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตัวเองจะได้มีโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมัน

“ซึ่งอนุสัญญา 1982 มีทฤษฎีหมู่เกาะ คือประเทศ/พื้นที่ที่เป็นหมู่เกาะ จะให้ตีเส้นรอบลงเกาะรอบนอกทั้งหมดเป็นอาณาเขต แล้วทะเลมหาสมุทรที่อยู่ระหว่างเกาะจะให้ถือเป็นน่านน้ำภายใน เป็นเหมือนแม่น้ำของหมู่เกาะ ประเทศอื่นเข้าไม่ได้ ยกเว้นสิทธิ์เดินทางผ่านโดยสุจริต ซึ่งถ้าจีนรวมหมู่เกาะพาราเซล หมู่เกาะสแปรตลีย์ มันก็จะมีน่านน้ำสากลเหลือน้อยมาก เป็นจุดที่กระทบทุกประเทศในโลกที่ต้องใช้การเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์กล่าว

อนุสัญญา 1982 ได้กำหนดเขตทะเลหลวง (High Seas) หรือน่านน้ำสากลที่ไม่ใช่ของรัฐใด พื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐทั้งปวงมีสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิล และท่อใต้ทะเล รวมถึงยังมีเสรีภาพในการทำประมง และเสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถ้าน่านน้ำสากลหายไปจะกระทบการเดินเรือของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทะเลจีนใต้

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์กล่าวว่า “จีนอ้างเส้นเก้าขีดจนอาณาเขตกว้างเกินความจริง ที่สำคัญมันปิดล้อมทะเลหมดเลย ปิดเส้นทางจากสมหาสมุทรอินเดียที่จะออกแปซิฟิก เป็นจุดที่หลายประเทศรับไม่ได้”

ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย บอกว่า ทะเลจีนใต้มีความสำคัญ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ จะสามารถควบคุมเส้นทางการค้า การขยายอิทธิพลได้ เป็นความสำคัญ

“นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่ผ่านมา สมัยโอบามา ท่าทีของสหรัฐฯ จะมาจัดการปัญหาทะเลจีนใต้ จริง ๆ แล้วมีการแสวงหาพันธมิตร ช่วยสนับสนุนพันธมิตร ก็คือประเทศในอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีน ... สมัยทรัมป์ เราอาจจะมองว่าทรัมป์ใช้ America First นโยบายกับจีนต้องการปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ เป็นหลัก ... และสมัยไบเดน ก็มีท่าทีที่จะปฏิเสธการกล่าวอ้างของจีน มีท่าทีแบบเดิม เหมือนทรัมป์ ดังนั้นอย่างไรสหรัฐฯ จะไม่ยอมจีนอย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ประพีร์กล่าว

อาจารย์บอกว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมสหรัฐฯ ต้องมายุ่งเกี่ยวในทะเลจีนใต้ เพราะเพื่อที่จะต่อต้านการอ้างของจีน ไม่ให้จีนมีอำนาจมากไปกว่านี้

ผศ.ดร.ประพีร์ บอกว่า จะสังเกตได้ว่า ระยะหลังมานี้ สหรัฐฯ มีการรวมกลุ่มของพันธมิตรกันอย่างคึกคัก เพื่อสร้างดุลอำนาจ และช่วยประเทศพันธมิตรในการแข่งขันกับจีน

ตัวอย่างเช่น กลุ่ม QUAD ประกอบไปด้วย 4 ประเทศสำคัญ คือ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้ได้รับความเดือร้อนเหมือนกันจากการขยายอำนาจของจีนทั้งทางตรงทางอ้อม

หรือ AUKUS ที่มี ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก.ย. ที่ผ่านมาเริ่มมีร่วมมือทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของ 3 ประเทศนี้ มีการสนับสนุนเรือดำน้ำ ให้ออสเตรเลียสามารถเข้าไปบริเวณหมู่เกาะข้อพิพาทได้ เพราะถ้าจีนอ้างกรรมสิทธิ์สำเร็จ ออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบ

ยังมีกลุ่ม 5 Eyes เป็นความร่วมมือที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา คอยสอดส่องภัยคุกคามต่าง ๆ

“เมื่อท่าทีของสหรัฐฯ กับพันธมิตรชัดเจนขนาดนี้ ข่อพิพาทจีนใต้อาจจะไม่จบลงง่าย ๆ” ผศ.ดร.ประพีร์ บอก

แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตและบทบาทของไทย

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า การจะแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ให้ได้นั้น อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายสากลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเปิดเวทีเจรจาเพื่อหาตรงกลางที่สุดของทุกประเทศ

ดร.วิศรุต สำลีอ่อน อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เรื่องการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเหมือนเสือกระดาษ เพราะไม่มีกลไกในการบังคับจริง คือมีศาลตัดสินก็จริง แต่กลไกหลังการตัดสินมันไม่มี

“การทำตามกฎหมายหรือข้อตัดสินต้องเกิดจากความสุจริต ซึ่งหาได้ยาก จีนเองเคยถูกตัดสินไม่ให้มีสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เพราะมีหลักฐานน้อยกว่าฟิลิปปินส์ แต่จีนก็ไม่ยอมรับ” ดร.วิศรุตบอก

ส่วนการหาจุดตรงกลางร่วมนั้น ผศ.อัครพงศ์ เสนอว่า ที่ผ่ามา อนุสัญญา 1982 ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่อง “มรดกร่วมแห่งภูมิภาค (Shared Regional Common Heritage)” แต่ประเทศทั้งหลายก็สามารถแสดงท่าทียืนยันความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ร่วมกันได้ และหากต้องการทำให้จีนพอใจ ก็อาจพัฒนาเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ให้ทุกประเทศมีสิทธิ์เท่า ๆ กัน และได้ประโยชน์จากพื้นที่ทะเลจีนใต้ร่วมกัน ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งที่ดี

พลเรือเอกจุมพลเสนอว่า บทบาทของประเทศไทยเอง เรามีความชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการอ้างสิทธิ์ทะเลจีนใต้โดยตรง และเคยเป็นกรรมการกลางนำฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเจรจามาก่อน แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่เรามีกับหลายประเทศ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการพยายามชับเคลื่อนการเจรจาหาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อไม่ให้ความตึงเครียดจากข้อพิพาทในวันนี้ขยายไปสู่ภาพที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดในอนาคต

“เราอาจจะเป็นตัวเชื่อมได้ ต้องใช้กรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ไทยต้องเป็นกลางอย่างพอดี ๆ เพราะไทยมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ” พลเรือเอกจุมพลกล่าว แต่เตือนว่า ด้วยพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการแสดงกำลังทางทหาร อาจทำให้สถานการณ์คุกรุ่นขึ้น อาจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการหาทางออกร่วมกันในเร็ววัน

แพทย์ มช.ออกสารฯโควิดเชียงใหม่หนัก ต.ค.ติดเชื้อ 6 พัน รายวันเกิน 300 วอนช่วย ก่อนอีก 4 วันเปิดประเทศ

ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และไม่อาจทราบได้ว่าจะดำเนินต่อไปอีกเท่าไร แต่ก็เป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะมันอาจเป็นชนวนทำให้เกิดความรุนแรงที่เลวร้ายอย่าง “สงคราม”

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ