รวมวรรคทองของบรรดาผู้นำระดับโลกจากการประชุม COP26 ใครพูดอะไรบ้าง?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นอกจากนายกไทย ใครพูดอะไรบ้าง? ส่องสปีชผู้นำโลกคนอื่นในการประชุม COP26

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เป็นเวทีระดับโลก ที่ให้โอกาสตัวแทนประเทศต่าง ๆ ได้มากล่าวถ้อยแถลงแสดงทัศนะต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้นำเสนอถ้อยแถลงฉบับเต็มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในงานประชุมดังกล่าวไปแล้ว และวันนี้เราจะมาดูถ้อยแถลงของผู้นำคนอื่น ๆ กันว่า พวกเขาพูดอะไรกันบ้าง

COP26 จ่อยุติให้งบฯพัฒนาพลังงานฟอสซิล เลี่ยงโลกร้อนเกิน 1.5 องศา

สื่อนอกจวก ผู้นำโลกประชุม COP26 แก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั่งเจ็ตส่วนตัวมาเพียบ

COP26 เห็นชอบยุติการทำลายป่าในปี 2030

เริ่มกันที่เจ้าบ้านในการจัดงานครั้งนี้อย่าง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งกล่าวว่า การจัดงาน COP26 จะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต้องเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นหลัง

คนที่จะตัดสินเราคือเด็กที่ยังไม่เกิดและรุ่นลูกของพวกเขา ตอนนี้เราได้มาอยู่ที่เวทีกลางต่อหน้าชนรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน และเราต้องไม่ผิดพลาด เพราะถ้าเราล้มเหลว พวกเขาจะไม่ยกโทษให้เรา” จอห์นสันกล่าว

สหรัฐฯ ชี้จีนสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น เร็วกว่าคาด

เขาเตือนว่า หากเราปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นไมอามี อเล็กซานเดรีย หรือเซี่ยงไฮ้ ก็จะไม่อาจรอดพ้นจากชะตากรรมที่ต้องจมอยู่ใต้คลื่นและท้องทะเล

ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเช่นกัน โดยบอกว่า พฤติกรรมเสพติดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผ่านมาของมนุษย์ กำลังผลักดันมนุษยชาติให้ถึงจุดจบ ดังนั้นเราควรมาถึงจุดที่ต้อง “พอได้แล้ว”

เราต้องพอได้แล้วกับการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่โหดร้าย เราต้องพอแล้วกับการฆ่าตัวเองด้วยคาร์บอน เราต้องพอได้แล้วกับการมองว่าธรรมชาติเป็นเหมือนห้องส้วม เราต้องพอได้แล้วกับการเผาและการขุดเจาะ” กูเตอร์เรสบอก

เขายังบอกอีกว่า ข้อตกลงปารีสเกิดขึ้นมา 6 ปีแล้ว แต่ 6 ปีที่ผ่านมากลับเป็น 6 ปีที่โลกร้อนที่สุดและยังคงร้อนขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านหนึ่งในผู้นำมหาอำนาจอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่า ความสามัคคีและความรับผิดชอบร่วมกันในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สำคัญ

เขายังพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้ว และใช้โอกาสนี้ผลักดันการดำเนินการด้านสภาพอากาศเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ ไบเดนยังได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนประเทศไปสู่การใช้พลังงานสีเขียว และประกาศกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งจะนำเสนอแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

“แต่ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ท่ามกลางภัยพิบัติ ผมเชื่อว่า มีโอกาสที่ไม่ใช่แค่สำหรับสหรัฐฯ ... เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์โลก เรามีความสามารถในการลงทุนและสร้างอนาคตพลังงานสะอาดที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการสร้างงานรายได้ดีและโอกาสให้คนหลายล้านคนทั่วโลก สร้างอากาศที่สะอาดขึ้นสำหรับลูกหลานของเรา มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ป่าไม้และระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีขึ้นสำหรับโลกของเรา

ไบเดนยังย้ำถึงเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนด้านสภาพอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาที่สหรัฐฯ ล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เขายังพูดถึงแผนการบริจาคครั้งแรกให้กับกองทุนเพื่อการปรับตัวของสหประชาชาติ ซึ่งจะช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศได้

ขยับขึ้นไปทางเหนือสักเล็กน้อย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เปิดถ้อยแถลงด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์จริงในแคนาดาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น พร้อมประกาศความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยมลพิษ

“เราจะจำกัดการปล่อยมลพิษของภาคน้ำมันและก๊าซในวันนี้ และทำให้แน่ใจว่าพวกมันจะลดลงในวันพรุ่งนี้ตามจังหวะและขนาดที่จำเป็นในการไปถึงศูนย์สุทธิภายในปี 2050 นั่นไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ เป็นก้าวสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง” ทรูโดกล่าว

นายกฯ แคนาดายังกล่าวถึงเรื่องของการบริจาคช่วยเหลือ เช่น การจัดหาเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเพิ่มเป็น 2 เท่า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านกองทันเพื่อการปรับตัวขององค์การสหประชาชาติ

ถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องการให้เราช่วยเหลือ ถึงชนพื้นเมืองที่พยายามชี้ทางออกให้เราเห็น ถึงคนหนุ่มสาวที่เดินขบวนตามท้องถนนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เราได้ยินเสียงคุณ เป็นความจริง ผู้นำของพวกคุณจะต้องทำให้ดีขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่เรามาที่นี่ในวันนี้” ทรูโดกล่าว

ด้าน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งให้สัญญาไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 กล่าวว่า “สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้าพวกเขา คุกคามการดำรงอยู่ของพวกเขา วันนี้เพื่อกอบกู้โลก เราต้องมีก้าวที่ยิ่งใหญ่ นี่เป็นชั่วโมงเร่งด่วนอย่างแท้จริง

โมดียังพูดถึงความพยายามของอินเดียในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสและเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่การใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน

เขาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม แก้ไขสังคมบริโภคนิยม เริ่มเปลี่ยนแปลงจากอาหารการกิน ไปสู่การท่องเที่ยว ไปสู่แฟชั่น

ด้าน มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีบาร์เบโดส ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน กล่าวสุนทรพจน์อย่างเร่าร้อนในพิธีเปิด COP26 ว่า “ความล้มเหลวในการจัดหาเงินทุนที่สำคัญ (ให้กับประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา) ทำให้เกิดการสูญเสียและความเสียหายต่อสหายของเรา ต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของเรา มันเรื่องที่ผิดและไม่ยุติธรรมเลย”

เธอเตือนประเทศต่าง ๆ ว่า การเพิกเฉยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในข้อตกลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ทำให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นด่านหน้ารู้สึกผิดหวัง เธอเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันที

สำหรับคนที่มีตาดู มีหูฟัง และคนที่ยังมีหัวใจไว้รู้สึก 1.5 องศาเซลเซียส คือสิ่งที่เราต้องการเพื่อความอยู่รอด หากขึ้นไปถึง 2 องศาฯ นั่นจะเป็นเหมือนโทษประหารชีวิตสำหรับชาวแอนติกาและบาร์บูดา สำหรับชาวมัลดีฟส์ สำหรับชาวโดมินิกาและฟิจิ สำหรับชาวเคนยาและโมซัมบิก และใช่ สำหรับชาวซามัวและบาร์เบโดส” มอตต์ลีย์กล่าว

อนามัยโลก อนุมัติวัคซีน "โคแวกซิน" ของอินเดีย เผยป้องกันได้ 78%

เปรู พบชนเผ่าในป่าแอมะซอน เพิ่งรู้โลกมีโควิด-19 ระบาด

เธอยังบอกอีกว่า “โลกจะมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร ถ้า 1 ใน 3 ของโลกเจริญรุ่งเรือง แต่อีก 2 ใน 3 ต้องอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล และเผชิญกับภัยคุกคามอันเลวร้ายต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา”

เหล่าผู้นำต่างมองว่า การประชุม COP26 นี้ ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่จริง ๆ จัง ๆ เสียทีในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก หลังช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานที่เป็นชิ้นเป็นอันจากประเทศสมาชิกในความพยายามแก้ปัญหา

การประชุมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสเรียกร้องและกดดันจากนักเคลื่อนไหวทั่วโลก ที่ล้วนไม่ต้องการเห็นโลกถูกทำลายลงไปจากน้ำมือของมนุษย์เอง

 

เรียบเรียงจาก ABC News / CNBC / Global Citizen

ภาพจาก AFP

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ