สหรัฐฯ ยืนยัน อดีตถึงอนาคต ไทยเป็นพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ยุคไบเดน จะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต่อนโยบายเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการทหาร

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับหนึ่งในมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ นั้น นับย้อนถอยหลังไปได้กว่า 200 ปี ตั้งแต่ครั้ง นพ.แดน บีช บรัดเลย์ (หมอปลัดเล) เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในสยาม

การเข้ามาของหมอบรัดเลย์ครั้งนั้นนอกจากจะทำให้ชาวสยามในขณะนั้นได้รู้จักกับสหรัฐฯ แล้ว ยังทำให้เรารู้จักกับ “หนังสือพิมพ์” “วัคซีน” “การผ่าตัด” ฯลฯ วิทยาการความรู้ใหม่ ๆ ของโลกภายนอก และทั้งสองประเทศก็ได้มีโอกาสติดต่อสานสัมพันธ์กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สหรัฐฯ จัดประชุมประชาธิปไตย เชิญไต้หวัน แต่ไม่เชิญจีน

เปิดเงื่อนไขสำคัญที่ไทยลงนามในสัญญาการรับบริจาควัคซีน "โมเดอร์นา" จากสหรัฐฯ

นักวิชาการ เตือนไทยปรับตัว ก่อนเข้าหาสหรัฐฯ ยุค “ไบเดน”


ภาพรวมนโยบายสหรัฐฯ ยุค โจ ไบเดน ต่อประเทศไทยและประเทศไทยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นปะธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของสองประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ดูเหมือนสหรัฐฯ จะ “ฮึ่มฮั่ม” กับจีน -- อีกหนึ่งพันธมิตรบ้านพี่เมืองน้องสำคัญของไทย -- อยู่พอสมควร

คุณไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกหลักที่ส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ

โดยที่ผ่านมา แม้มีสถานการณ์โควิด-19 ไทยก็ยังคงรักษาระดับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้ในระดับดี ทำให้ไทยยังคงเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจของสหรัฐฯ ในยามที่สหรัฐฯ กำลังจะมุ่งเน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกลับมาเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคนี้

โดยคุณฮีธตอกย้ำสัญญาณการเป็นพันธมิตรกันนี้ โดยจะให้การสนับสนุนไทยในความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค ที่ในปี 2022 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ รวมถึงจะสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในภูมิภาคนี้ด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย เสริมว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคไบเดนที่โดดเด่นนั้น มีอยู่ 8 ด้าน ดังนี้

  1. สหรัฐฯ ต้องกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง (U.S. must lead again) โดยมุ่งทวงคืนความเป็นผู้นำในหลายด้าน ทั้งประชาธิปไตย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย สิทธิมนุษยชน
  2. ความสัมพันธ์เชิงพหุภาคี (Multilateralism) โดยกลับเข้าภาคีต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงปารีส คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งบางภาคีอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้ถอนตัวออกมา
  3. การทูตวัคซีน เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อสถานการณ์สหรัฐฯ เริ่มอยู่ในความควบคุม ก็เริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย
  4. นโยบายต่ออินโดแปซิฟิก สหรัฐฯ ต้องการสร้างพันธมิตรและกลับเข้ามามีจุดยืนในภูมิภาคเอเชีย
  5. นโยบายต่ออัฟกานิสถาน เรื่องของการสั่งถอนกำลัง ซึ่งมีสัญญาณจากฝั่งเดโมแครตมาตั้งแต่ครั้งอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ดำรงตำแหน่ง
  6. นโยบายต่อจีน มองว่าสหรัฐฯ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงแข่งขัน (Competitive) แต่ไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นยกระดับเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่
  7. นโยบายต่อข้อพิพาททะเลจีนใต้ สหรัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวเพราะมองว่าพื้นที่นี้เป็นสมบัติสาธารณะ ต้องรักษาประโยชน์ของทุกประเทศ และรวมถึงเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในการส่งออกสินค้าจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ ควรเป็นพื้นที่สากลเสรี เพื่อให้เศรษฐกิจของทุกฝ่ายเติบดตต่อไปได้
  8. นโยบายต่อเมียนมา ไม่แทรกแซงสถานการณ์ในประเทศโดยตรง แต่คว่ำบาตรตัวผู้นำซึ่งมาจากการรัฐประหารอันไม่ชอบธรรม

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายกับจีนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียหนีการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจไม่พ้น กระนั้นคุณฮีธยืนยันว่า ประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองชาติและมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่าย “ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง” แต่อย่างใด

นอกจากนโยบายเหล่านี้แล้ว ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือในด้านอื่น ๆ กับประเทศไทยด้วย และจะยังคงความร่วมมือนี้ไว้ต่อไปในอนาคต

ไบเดนหนุนแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ร่วมป้องกันค้าสัตว์ป่า แก้ปัญหาฝุ่นควัน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้ร่วมสืบสวนการค้าสัตว์ป่า โดยทำงานกับภาครัฐไทยในการสกัดกั้นการล่าช้างเอางาล่าเสือเอาเขี้ยวและสัตว์ป่าอื่น ๆ

คุณเครก เคิร์กแพทริก ที่ปรึกษาการอนุรักษ์สัตว์ป่าในภูมิภาคขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กล่าวว่า “ถ้าพูดถึงผู้บริโภคสัตว์ป่าในไทยมีจำนวนน้อย แต่ประเทศไทยมีประชากรมาก ทำให้อัตราการล่าถือว่าอยู่ในระดับมาก ประมาณหลักแสน โดยการล่าสัตว์ป่าในไทยมักไม่ได้นำสัตว์ป่ามารับประทาน แต่เพื่อมาเป็นเครื่องประดับหรือของแต่งห้อง และเพื่อความเชื่อด้านอิทธิฤทธิ์โชคลาภ”

คุณเคิร์กแพทริกเสริมว่า ที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯ ได้ร่วมกับไทยในความพยายามสร้างความตระหนัก มีแคมเปญเชิงแฟชั่น โปรโมตแนวคิด “สวยได้ไม่ต้องใช้งาช้าง” ซึ่งช่วยลดอัตราการล่าช้างป่าได้ดี

ส่วนในเรื่องฝุ่นควันมลพิษทางอากาศ คุณณภัค เทศประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารโครงการของ USAID บอกว่า ทาง USAID มีข้อมูลร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ในการติดตามสถานการณ์ และมีการมอบข้อมูล Geospatial Data ให้กับรัฐบาลและเอกชนในไทยเพื่อหาแนวทางรับมือปัญหาฝุ่นควันต่อไป

ขณะที่ประเด็นการบริหารทรัพยากรในลุ่มน้ำโขง ทางสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางข้อมูล เทคโนโลยี เป็นหลักในการติดตามสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

และเรื่องที่ขาดไม่ได้ คือการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และไทย ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในไม่กี่สิบปีข้างหน้า โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตัวอย่างเช่นเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ทางสหรัฐฯ ได้จับมือกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เตรียมช่วยสนับสนุนการเพิ่มสถานีชาร์จไฟ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

ไทยยังคงเป็นหมุดหมายหลักที่สหรัฐฯ ต้องการมาลงทุน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาสหรัฐฯ (USTDA) ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคเอเชีย มีบริษัทเอกชนจากสหรัฐฯ หลายแห่งให้ความสนใจและมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ พยายามสนับสนุนให้เอกชนสหรัฐฯ มาลงทุนในไทย โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าการลงทุนและบรรยากาศทางเศรษฐกิจในไทยให้กับผู้ที่สนใจอยู่เสมอมา

คุณเกร็ก หว่อง ตัวแทนจาก Agoda บริษัทผู้ให้บริการสำรองห้องพักทางออนไลน์สำหรับโรงแรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีบรรยากาศการลงทุนที่ดี ภาครัฐไทย เช่น กระทรวงพาณิชย์ก็ให้การสนับสนุนรับรอง แม้กระทั่งตัว Agoda เองที่เป็นบริษัทสหรัฐฯ ความจริงแล้วมีจุดกำเนิดมาจากประเทศไทย

USTDA บอกว่า ต้องการให้ เอกชนในสหรัฐฯ หันมาส่งออกมากขึ้น พยายามทำให้คนสนใจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีโอกาส เพิ่มโอกาสการลงทุน

ด้าน คุณจอห์น เบรเดนสไตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคอาเซียน บอกว่า สำหรับประเทศไทยในอนาคต คาดว่า ภาคสาธารณสุขหรือธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจพลังงาน และด้านเทคโนโลยี น่าจะเป็นภาคที่เติบโตสูงสุดในไทย โดยเฉพาะภาคสาธารณสุขที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

ซึ่งในภาคต่าง ๆ เหล่านี้สหรัฐฯ จะมาร่วมลงทุนด้วยอย่างแน่นอน เช่น การสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่นอกจากจะสอดคล้องกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยดึงผู้ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตในมาลงทุนในไทยด้วย

ร่วมพัฒนาวัคซีนโรคต่าง ๆ และป้องกันโรคอุบัติใหม่ในเอเชีย

ในส่วนของความร่วมมือด้านสาธารณสุข ที่ผ่านมาได้มีตัวแทนจากสหรัฐฯ คือ ดร.ดรูว์ ไวส์แมน จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ร่วมมือกับทีมนักวิจัยไทยนำโดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของไทย “ChulaCov19” ขึ้นมา

ล่าสุด วัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทยตัวนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์เฟส 2 พบมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าวัคซีน mRNA ของต่างประเทศอย่างไฟเซอร์

“ภายในเดือน ม.ค. ปีหน้าอาจมีความคืบหน้าเรื่องการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินในประเทศ เตรียมการทดสอบเฟสสุดท้าย … คาดว่าอาจอนุมัติใช้ฉุกเฉินได้กลางปี 2565” ศ.นพ.เกียรติกล่าว และเสริมว่า กำลังการผลิตของวัคซีนChulaCov19 จะอยู่ที่ราว 50 ล้านโดสต่อปี

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้บริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ รวมถึงในอีกกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ไม่เพียงแต่เรื่องของวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น สหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือกับไทยในการทำงานเพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ร่วมกัน

คุณจอห์น แม็กอาร์เธอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ประจำภูมิภาคเอเชีย บอกว่า ที่ผ่านมา CDC สหรัฐฯ ทำงานเฝ้าระวังและป้องกันโรคอุบัติใหม่ร่วมกับประเทศในภูมิภาคมาตลอด โดยโรคอุบัติใหม่เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสัตว์ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเศรษฐกิจของภูมิภาค ก่อนหน้านี้ในเอเชียก็พบทั้งนิปาห์ ซาร์ส จนมาถึงโควิด-19

ด้าน คุณเจมส์ เฮฟเฟลฟิงเกอร์ ผู้อำนวยการ CDC ประจำประเทศไทย กล่าวว่า CDC สหรัฐฯ ทำงานกับสาธารณสุขไทยมาเป็นเวลาราว 40 ปี มีการฝึกอบรมเรื่องการระบาดวิทยา และระบุว่า CDC ในประเทศไทยนั้น นับเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากสำนักงานใหญ่ในแอตแลนตา สะท้อนความสำคัญที่ CDC มีให้กับภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย และให้คำมั่นว่า จะร่วมมือกับสาธารณสุขไทยในการเฝ้าระวังโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป

จริงจังกับการส่งคืนสมบัติชาติไทยเชื่อมสัมพันธ์

ในอดีต ศิลปะที่สำคัญของประเทศไทยจำนวนหลายชิ้น ถูกลักลอบนำออกไปขายให้กับนักสะสมต่างประเทศ บ้างหายสาบสูญไป บ้างสามารถตามคืนกลับมาได้ 2 ในนั้นคือ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” จ.บุรีรัมย์ และ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” จ.สระแก้ว ซึ่งหายสาบสูญไปนานหลายสิบปี

แต่ในปี 2560 ได้มีการค้นพบทับหลังทั้งสองในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง จึงเกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ และทางการไทย ในการรวบรวมหลักฐานเพื่อเจรจาขอนำทับหลังที่ถูกโจรกรรมไปกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

คุณเอริค แมคลาฟลิน เจ้าหน้าที่จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ต้องใช้ระยะเวลาถึง 4 ปี ในการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานว่าทับหลังทั้งสองเป็นสมบัติชาติของประเทศไทย ผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนนำกลับมาคืนไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ

ปัจจุบัน ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ความร่วมมือของไทยและสหรัฐฯ เพื่อนำสมบัติชาติของไทยกลับคืนสู่มาตุภูมินี้ สะท้อนถึงความจริงจังของสหรัฐฯ ในการตามหาโบราณวัตถุของไทยที่เคยถูกโจรกรรมไปในอดีต และเป็นหนึ่งในงานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติให้แน่แฟ้นยิ่งขึ้น

ความร่วมมือทางการทหาร สนับสนุนความมั่นคงของไทย

ตัวแทนจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) และคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) ได้บอกเล่าความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ ว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ส่งทหารมาฝึกซ้อมรบร่วมกับกองทัพไทยอยู่เป็นระยะ และมีทหารที่มาประจำการในประเทศไทย

โดยวัตถุประสงค์หลักที่ส่งทหารมาประจำการ เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในยามที่เกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิ หรือเหตุการณ์ 13 หมูป่าที่ถ้ำหลวง รวมถึงช่วยแก้ไขอดีตพื้นที่ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่ยังมีกับระเบิดหลงเหลืออยู่ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทย

ในด้านการแพทย์ทหารยังร่วมกับกองทัพไทยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค และศึกษาเทคโนโลยีเวชศาสตร์เขตร้อนร่วมกัน และปรับการอบรมของไทย ไม่วาจะด้านการบิน ภัยไซเบอร์ โดยนำหลักสูตรกว่า 200 หลักสูตรมาถ่ายทอดให้กับทหารไทย

นอกจากนี้ ในเรื่องของมลพิษการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมทางการทหาร ตัวแทนกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า จะหาทางลดเชื้อเพลิงหรือยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนใดที่เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาาทิตย์ ได้ ก็จะลงมือพัฒนา สอดคล้องกับนโยบาบด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ยุคไบเดนที่เอาจริงเอาจังเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งไทยอาจได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการทหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย

ความร่วมมือในหลายด้านเหล่านี้ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตและจะยังคงมีอยู่ในอนาคต เป็นเครื่องตอกย้ำถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะยังคงรักษาประเทศไทยไว้ในฐานะพันธมิตรคนสำคัญ

กระนั้น สหรัฐฯ ที่มีไบเดนเป็นผู้คุมบังเหียนจะหันเหไปในทิศทางใดต่อไป และจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกหรือกับประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

ภาพจาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ