เบื้องหลังชื่อสายพันธุ์โควิด-19 “โอไมครอน” ทำไมข้ามตัวอักษร “นิว-ซี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังชื่อสายพันธุ์โควิด-19 โอไมครอน ทำไมข้ามตัวอักษรกรีกมาถึง 2 ตัว

ข่าวการค้นพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกต้องโอดว่า “เอาอีกแล้วเหรอ” ซึ่งนอกจากการกลายพันธุ์ของมันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “น่ากังวล” แล้ว อีกสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ปวดหัวคือ “การตั้งชื่อ”

ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่า “ยากตรงไหน” เพราะตั้งแต่ 31 พ.ค. WHO ได้กำหนดวิธีเรียกสายพันธุ์โควิด-19 ที่เป็นสากลขึ้นมา โดยใช้ “อักษรกรีก” เพื่อลดการตีตราประเทศที่พบโควิด-19 เช่น สายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อินเดีย

ญี่ปุ่นปิดประเทศ "สกัดโอไมครอน" มีผลตั้งแต่ 30 พ.ย.64 เป็นต้นไป

แพทย์ผู้พบโควิด “โอไมครอน” (Omicron) เผย อย่าตระหนก ป่วยไม่หนัก รักษาที่บ้านได้

WHO เสนอเรียกสายพันธุ์โควิด-19 ด้วย “กลุ่มดาว” เผื่ออักษรกรีกถูกใช้หมด

โดยปัจจุบัน มีการใช้ตัวอักษรกรีกไปแล้ว 12 ตัว ตั้งแต่อัลฟา (Alpha) ถึง มิว (Mu) แต่ปรากฏว่า อักษรตัวที่ 13 และ 14 กลับมีปัญหาบางประการทำให้ WHO พิจารณาว่า ไม่สามารถนำมาใช้ได้

อักษรกรีกตัวที่ 13 คือ “นิว (Nu)” ซึ่งอกเสียงคล้ายคำว่า “New” ที่แปลว่า “ใหม่” ทำให้เกิดข้อกังวลว่า หากนำมาใช้ในการสื่อสารจะเกิดการเข้าใจผิด เพราะหากพูดว่า “Nu Variant (สายพันธุ์นิว)” จะไปพ้องเสียงกับ “New Variant (สายพันธุ์ใหม่)” จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจข้ามอักษรตัวนี้ไป ไม่นำมาใช้เรียกโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529

นอกจากนี้ สำหรับคนไทย ยังอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะบ้านเรามีหลายคนที่มีชื่อเล่นว่า “นิว” ซึ่งอาจนำไปสู่การล้อเลียนกันได้ แม้อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าซีเรียสนัก แต่ก็ฏิเสธไม่ได้ว่า หากถูกล้อว่า “สายพันธุ์นิว” เหมือนคนชื่อนิวเป็นคนแพร่เชื้อโควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจได้จริง ๆ

ส่วนตัวอักษรตัวที่ 14 ค่อนข้างที่จะเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อบางสำนัก นั่นคือตัวอักษร “ซี (Xi)” โดยสื่อ Telegraph ของอังกฤษระบุว่า ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวใน WHO ยืนยันว่า การไม่ใช่ตัวอักษรซี ก็เพื่อเลี่ยงการตีตราต่อบุคคล กลุ่มคน สังคม ชาติ ภูมิภาค วิชาชีพ หรือชาติพันธุ์ต่าง ๆ

โดยตัวอักษร ซี (Xi) ของกรีกนี้ มีวิธีสะกดแบบเดียวกับ “พินอิน” ของภาษาจีน ทำให้เกิดความกังวลว่า จะถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับใครหรือพื้นที่ใด เช่น ผู้นำจีน สีจิ้นผิง (Xi Jinping) หรือเมืองซีอาน (Xi An) การหลีกเลี่ยงอักษรตัวซี โดยสรุปแล้วก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทียบถึงจีนที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 จึงใช้ชื่อว่า “โอไมครอน (Omicron)” ซึ่งเป็นอักษรกรีกตัวที่ 15 แทน และหลังจากนี้ เราจะเหลืออักษรกรีกเพียง 9 ตัวเท่านั้นที่จะนำมาใช้ในการตั้งชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งทั่วโลกต่างภาวนาไปในทิศทางเดียวกันว่า ขออย่าให้ต้องมีการใช้อักษรกรีกจนหมดเลย

ทั้งนี้ หากอักษรกรีกถูกใช้จนหมด (ซึ่งเป็นกรณีที่เราไม่อยากเห็น) เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทาง WHO ก็ได้เปิดเผยว่า ในอนาคตอาจมีการตั้งชื่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในอนาคตด้วยชื่อ “กลุ่มดาว” ได้

โดยในอนาคต เมื่ออักษรกรีกทั้ง 24 ตัวถูกใช้ตั้งชื่อไปจนหมด ชื่อกลุ่มดาวต่าง ๆ เช่น เอรีส (กลุ่มดาวราศีเมษ) เจมินี (กลุ่มดาวราศีคนคู่) ลีโอ (กลุ่มดาวราศีสิงห์) ฯลฯ ก็อาจถูกนำมาใช้เป็นชื่อสายพันธุ์โควิด-19 ได้

ปัจจุบัน มีโควิด-19 อยู่ 7 ชื่อที่ยังคงอยู่ในการเฝ้าระวังของ WHO โดย 5 สายพันธุ์ต้องกังวลคือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา โอไมครอน และอีก 2 สายพันธุ์ต้องให้ความสนใจคือ แลมบ์ดา และมิว

ส่วนสายพันธุ์ที่เคยมีชื่อกรีกก่อนหน้านี้ คือ เอปซิลอน ซีตา อีตา ไอโอตา และแคปปา นั้น ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายน้อยลง และถูกสายพันธุ์หลักอื่น ๆ แย่งพื้นที่การแพร่กระจายไป ทำให้ระดับความอันตรายโดยรวมลดลง จึงถูกถอดออกจากลิสต์สายพันธุ์ที่ WHO จับตา และถูกริบชื่อไป

ในขณะนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 โอไมครอนยังมีอยู่อย่างจำกัด มีเพียงข้อมูลว่ามีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่งซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 และพบแล้วในหลายประเทศ/พื้นที่ทั่วโลกรวมประมาณ 20 แห่ง ทำให้ WHO ตัดสินใจประกาศให้สายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) ไปก่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะเผยแพร่ศักยภาพหรือความอันตรายอย่างเป็นทางการของโอไมครอนออกมาภายใน 2 สัปดาห์

“หมอยง” สรุป 10 ประเด็น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน (Omicron)

ปธน.แอฟริกาใต้ ผิดหวังนานาประเทศ วอนทั่วโลกเลิกแบน สกัด "โอไมครอน"

จึงเป็นประเด็นที่ต้องรอคอยอย่างมีสติและใจเย็น สำหรับประเทศไทยเอง ยังคงไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ขอให้ภาครัฐ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และประชาชน เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาด และการ์ดไม่ตก ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง

 

เรียบเรียงจาก WSJ

ภาพจาก AFP / Getty Image / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ