โลกร้อนเป็นเหตุ ในอนาคตอันใกล้ “อาร์กติกจะมีฝนตกมากกว่าหิมะ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยวิเคราะห์ ใน 40-50 ปีข้างหน้า บริเวณภูมิภาคอาร์กติกและขั้วโลกเหนือจะมีฝนตกมากกว่าหิมะ ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับน้ำทั่วโลก

เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก นั่นคือ “ฝนตกลงบนยอดน้ำแข็งของกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์” ทั้งที่โดยปกติบริเวณดังกล่าวจะมีแต่หิมะตก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากบริเวณซีกโลกเหนือกำลังประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ

ล่าสุด งานวิจัยในวารสาร Nature Communications ระบุว่า เหตุการณ์ “ฝนตกที่ขั้วโลกเหนือ” จะกลายเป็นเรื่องปกติในเวลา 40-50 ปีข้างหน้านี้ โดยภูมิภาคอาร์กติกจะมีฝนตกมากกว่าหิมะในช่วงปี 2060-2070

ภาพวาดโลกในอีก 500 ปีข้างหน้า หากเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้

โลกร้อนจริงหรือไม่? ดูชัด ๆ หลังมีกระแสไม่เชื่อในหลายประเทศทั่วโลก

เผยภาพจำลองระดับน้ำในเมืองทั่วโลก หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส

มิเชลล์ แม็กคริสตอลล์ หัวหน้าทีมวิจัยและนักวิจัยด้านสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยแมนิโทบาในแคนาดา บอกว่า ทีมวิจัยได้สร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคอาร์กติกอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยแบบจำลองก่อนหน้านี้ระบุว่า เหตุการณ์ฝนตกมากกว่าหิมะจะเกิดขึ้นในปี 2090-2100

ผลการศึกษายังระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่มาจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก อุณหภูมิของอากาศที่อุ่นขึ้นหมายถึงการระเหยมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดฝนมากขึ้น

นักวิจัยกล่าวว่า ความร้ายแรงหากอาร์กติกมีฝนตกชุกคือ มันสามารถทำลายสมดุลมวลน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นได้ โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแถบอาร์กติกอาจเพิ่มเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลก เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน ในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ เป็นต้น

แม็กคริสตอลล์กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติกไม่ได้จบอยู่ในอาร์กติก โดยเฉพาะความจริงที่ว่าอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการละลายของน้ำแข็ง หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก นี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข”

ในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม COP26 ข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ระดับอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นลดเหลือ 2.4 องศาเซเลีซยส อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า แม้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเพียง 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส แต่พื้นที่กรีนแลนด์และทะเลนอร์วีเจียนจะยังคงมีฝนตกชุกมากขึ้นอยู่ดี

“ถ้าเรารักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ ภูมิภาคอาร์กติกอาจยังคงมีหิมะเป็นส่วนมากได้ถึงภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่บางส่วนอาจจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลง และตอนนี้บางส่วนก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว” แม็กคริสตอลล์

นักวิจัยระบุว่า ผลกระทบในภูมิภาคอาร์กติกจะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ก่อน น้ำแข็งที่ละลาย น้ำท่วมมากขึ้น และสัตว์อดอยาก เมื่อฝนตกในอาร์กติกและแข็งตัวจนกลายเป็นน้ำแข็ง จะทำให้สัตว์หาอาหารไม่ได้ “กวางเรนเดียร์ กวางคาริบู และวัวมัสก์ ไม่สามารถหาอาหารทะลุผ่านชั้นน้ำแข็งได้ พวกมันไม่สามารถแทะเล็มหญ้าต่าง ๆ ที่พวกมันต้องกินเพื่อประทังชีวิต และอาจจะต้องทนทุกข์ทรมานจากการตายครั้งใหญ่” แม็กคริสตอลล์กล่าว

เธอเสริมว่า “มหาสมุทรอุ่นขึ้น เหตุการณ์ฝนตกที่กรีนแลนด์เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้บางอย่างว่า บางทีสิ่งต่าง ๆ อาจรุนแรงกว่าหรือเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่แบบจำลองของเราคาดการณ์ไว้”

ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ลอตเตอรี่ 1/12/64

เกือบ 40 ประเทศทั่วโลกปิดพรมแดน คุมเข้มสกัดโควิด-19 “โอไมครอน”

เรียบเรียงจาก CNN / The Guardian

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ